จากข่าวสะท้านวงการฮอลลีวูดที่ดาราผิวสีชื่อดัง วิล สมิธ ตบหน้าพิธีกรชายคริส ร็อก ในงานประกาศรางวัลออสการ์ 2022 เนื่องจากพิธีกรหนุ่มพูดจาล้อเลียน จาดา พิงเก็ตต์ สมิธ ภรรยาของวิล สมิธ ที่ป่วยเป็นโรค Alopecia Areata ทำให้ผมร่วงเป็นหย่อม จนทำให้ขาเกิดอารมณ์ฉุนเฉียวขึ้นมานั่นเอง ว่าแต่โรคนี้คืออะไร มีสาเหตุจากอะไร และรักษาได้หรือไม่ เรารวบรวมคำตอบจากโรงพยาบาลศิริราชมาให้แล้ว

จาดา พิงเก็ตต์ สมิธ และ วิล สมิธ คู่รักดาราฮอลลีวูดชื่อดัง ที่มาภาพ : Getty Image
จาดา พิงเก็ตต์ สมิธ และ วิล สมิธ คู่รักดาราฮอลลีวูดชื่อดัง ที่มาภาพ : Getty Image

โรค Alopecia Areata (ผมร่วงเป็นหย่อม) คืออะไร

โรค Alopecia Areata หรือโรคผมร่วงเป็นหย่อม เป็นสาเหตุที่พบบ่อยของอาการผมร่วงเป็นหย่อมอย่างเฉียบพลัน นอกจากเกิดบนศีรษะแล้วยังสามารถเกิดขึ้นกับขนบนส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้ด้วย เช่น คิ้ว หนวด

...

สาเหตุของโรค Alopecia Areata (ผมร่วงเป็นหย่อม) เกิดจากการอักเสบภายใต้หนังศีรษะ ซึ่งไม่ได้ทำลายรูขุมขนอย่างถาวร หลังจากโรคสงบลง ผมหรือเส้นขนจะสามารถงอกขึ้นมาใหม่ได้ และสามารถแบ่งตามตำแหน่งและความรุนแรง ได้ดังนี้

  • Alopecia areata (AA) : มีผมร่วงเป็นหย่อมๆ ที่ศีรษะ หรืออาจมีหย่อมขนร่วงที่คิ้ว หนวดขนบริเวณใบหน้าหรือลำตัว
  • Alopecia totalis (AT) : ผมที่ศีรษะร่วงทั้งหมด
  • Alopecia universalis (AU) : ผมที่ศีรษะ และขนที่ตัว เช่น ขนรักแร้ ขนหัวหน่าว ร่วงทั้งหมด

โรคนี้ไม่ทำให้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่มีผลกระทบต่อรูปลักษณ์ความสวยงามค่อนข้างมาก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจแก่ผู้ป่วยได้ โดยเฉพาะในกลุ่ม Alopecia Universalis ซึ่งมีความรุนแรงของโรคมากที่สุด และมักตอบสนองต่อการรักษาต่างๆ น้อยที่สุด

โรค Alopecia Areata (ผมร่วงเป็นหย่อม) เกิดกับใครได้บ้าง

โรค Alopecia Areata (ผมร่วงเป็นหย่อม) สามารถเกิดได้ทั้งกับผู้ชายและผู้หญิงในอัตราที่เท่าๆ กัน อายุเฉลี่ยที่พบโรคนี้คือประมาณ 30 ปี แต่ขณะเดียวกันก็สามารถเกิดขึ้นที่ช่วงอายุใดก็ได้ ความเสี่ยงของผู้ที่ป่วยเป็นโรค Alopecia Areata (ผมร่วงเป็นหย่อม) เกิดขึ้นเฉลี่ย 1 ใน 1000 คน หรือ ประมาณ 2%

ลักษณะอาการของโรค Alopecia Areata (ผมร่วงเป็นหย่อม) เป็นอย่างไร

  • มีผมร่วงเป็นหย่อม ลักษณะกลม ขอบเขตชัดเจน เกิดขึ้นได้หลายตำแหน่ง
  • มักเกิดภายในระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์
  • อาจมีอาการคันหรือแสบในบริเวณที่จะเกิดก่อนที่จะมีอาการผมร่วง
  • ส่วนใหญ่เกิดที่บริเวณศีรษะ แต่ก็สามารถเกิดที่ตำแหน่งอื่นๆ ในร่างกายที่มีขนได้ เช่น ขนคิ้ว ขนตา หนวด ขนรักแร้ หรือ ขนหัวหน่าว
  • อาจพบผมหักเป็นตอสั้นๆ ติดหนังศีรษะได้ในบริเวณขอบของรอยโรคที่กำลังจะขยาย เนื่องจากเส้นผมที่สร้างขึ้นใหม่เปราะและผิดปกติ
  • โรคนี้อาจเกิดแบบเฉียบพลันหรือค่อยเป็นค่อยไปก็ได้
  • ผู้ป่วยบางคนอาจมีความผิดปกติของเล็บร่วมด้วย เช่น การพบหลุมเล็กๆ บนผิวของแผ่นเล็บ

อะไรคือสาเหตุของโรค Alopecia Areata (ผมร่วงเป็นหย่อม)

สำหรับโรค Alopecia Areata (ผมร่วงเป็นหย่อม) ยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด ซึ่งเกิดจากภูมิคุ้มกันในร่างกายที่ทำงานผิดปกติมาทำลายรูขุมขน แต่ถ้าหากโรคสงบลงแล้วรูขุมขนก็ยังสามารถกลับมาสร้างเส้นขนได้ใหม่ตามปกติ นอกจากนี้ยังมีโรคที่อาจพบร่วมกับโรค Alopecia Areata (ผมร่วงเป็นหย่อม) ได้ คือ ต่อมไทรอยด์อักเสบ ด่างขาว หรือกลุ่มโรคภูมิแพ้

และพบว่าจำนวน 20% ของผู้ป่วยโรค Alopecia Areata (ผมร่วงเป็นหย่อม) มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ด้วย ดังนั้นปัจจัยทางพันธุกรรม อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคนี้ได้ เท่ากับว่าญาติสายตรงที่มีบุคคลในบ้านเป็นโรคนี้อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคนี้มากขึ้นเล็กน้อย

สามารถวินิจฉัยโรค Alopecia Areata (ผมร่วงเป็นหย่อม) ได้อย่างไร ?

สามารถตรวจวินิจฉัยได้ด้วยการตรวจลักษณะของผมร่วง ผู้ป่วยบางรายที่มีลักษณะของรอยโรคไม่ชัดเจน หรือ สงสัยภาวะอื่นร่วมด้วย แพทย์จะขอตัดชิ้นเนื้อบริเวณรอยโรค เพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา ซึ่งจะช่วยยืนยันการวินิจฉัยโรคได้

อาการผมร่วงเป็นหย่อมทำให้เสียความมั่นใจ
อาการผมร่วงเป็นหย่อมทำให้เสียความมั่นใจ

...

โรค Alopecia Areata (ผมร่วงเป็นหย่อม) สามารถรักษาได้หรือไม่

สำหรับผู้ป่วยโรค Alopecia Areata (ผมร่วงเป็นหย่อม) ที่มีอาการน้อย อาจไม่จำเป็นต้องรักษา เพราะสามารถหายได้เอง ส่วนผู้ป่วยที่มีผมร่วงเป็นบริเวณกว้าง การรักษาขึ้นกับอายุของผู้ป่วยและความกว้างของหย่อมผมที่ร่วง โดยวิธีการรักษามีดังต่อไปนี้

  • การฉีดยาเฉพาะที่ เหมาะกับผู้ป่วยที่มีหย่อมผมร่วงที่ไม่กว้างมากนัก เป็นการรักษาที่ให้ผลดี เนื่องจากการฉีดยาทำให้มีความเข้มข้นของยาที่บริเวณรากผมมากกว่าการทายา
  • การทายาเฉพาะที่ มียาหลายชนิดให้เลือกใช้การรักษาด้วยการทายาเหมาะกับผู้ที่มีผมร่วงเล็กน้อยจนถึงผมร่วงมาก ควรเลือกใช้ยาที่เป็นรูปแบบน้ำหรือโลชั่น เนื่องจากความสะดวกในการใช้
  • การรับประทานยา มีหลายชนิดให้เลือกใช้ ยาบางชนิดอาจใช้ได้ผล แต่พบว่ามีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้สูง และมีผลข้างเคียงมาก

ทั้งนี้การรักษาควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ เนื่องจากยาอาจมีผลข้างเคียง เช่น ทำให้เกิดอาการระคายเคืองที่หนังศีรษะ มีผื่นที่บริเวณอื่นของร่างกาย ขนดก เป็นรอยขาวหรือรอยดำที่หนังศีรษะ บริเวณที่ทายาหรือยาบางชนิดมีผลข้างเคียงมาก เช่น ทำให้ผิวหนังบางเป็นรอยแดง

โรค Alopecia Areata (ผมร่วงเป็นหย่อม) สามารถรักษาได้ แต่ส่วนใหญ่มักไม่หายขาด คนที่มีผมร่วงน้อยมักมีการตอบสนองต่อการรักษาที่ดีกว่าคนผมร่วงเป็นบริเวณกว้าง ขณะเดียวกันเมื่อหายแล้วก็สามารถกลับมาเป็นซ้ำอีกได้

ผู้ป่วยโรค Alopecia Areata (ผมร่วงเป็นหย่อม) ควรดูแลตนเองอย่างไร

  • ควรมารับการรักษาต่อเนื่อง เนื่องจากการรักษาอาจใช้เวลาในการรักษาหลายเดือน หรืออาจจะเป็นปีและยังมีโอกาสเกิดซ้ำได้อีก
  • ควรใช้ยาตามที่แพทย์แนะนำ และควรระมัดระวังผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยา
  • ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง เนื่องจากยาบางชนิดไม่ได้ผล หรือมีผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย
  • ควรดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง เนื่องจากภาวะเจ็บป่วย หรือความเครียดอาจทำให้โรคกำเริบได้
  • ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และครบ 5 หมู่ เพราะอาหารมีผลต่อสุขภาพผม ไม่มีอาหารใดที่ห้ามรับประทานในคนที่เป็นโรคนี้
  • ถ้าผู้ป่วยที่มีการใช้ยาทา หรือรับประทานยาอื่น หรือมีโรคประจำตัว ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เพื่อวางแผนการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม

...

เมื่อเรารู้จักและเข้าใจสาเหตุของโรคนี้แล้ว ก็ไม่ควรไปล้อเลียนหรือวิพากษ์วิจารณ์รูปลักษณ์ของผู้อื่น ซึ่งเป็นการ Body Shaming อีกรูปแบบหนึ่ง เพราะคงไม่มีใครอยากป่วยจนต้องโกนศีรษะตัวเองให้สูญเสียความมั่นใจเช่นกัน

อ้างอิงข้อมูล: โรงพยาบาลศิริราช