อาการปวดคอ ถือเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้บ่อยๆ ที่รบกวนชีวิตประจำวัน หลายคนชะล่าใจ คิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา ไม่น่าจะเป็นอะไรมาก ยิ่งในยุคดิจิทัล ช่วงที่ต้องทำงาน Work From Home นั่งหน้าจอคอมยาวๆ การประชุมที่ต่อเนื่องทั้งวัน โดยที่ส่วนใหญ่แล้วเชื่อเถอะว่านั่งไม่ถูกท่า แถมนั่งท่าเดิมนานๆ จนทำให้เกิดกลุ่มโรคออฟฟิศซินโดรม กลายเป็นโรคเรื้อรัง ปวดคอไม่หายสักที หากปล่อยไว้กระดูกคอมีโอกาสไปกดทับเส้นประสาท จนอาจไม่สามารถรักษาให้หายกลับมาเป็นปกติอีกเลยก็ได้ ดังนั้นเมื่อเกิดอาการปวดคอขึ้น จึงต้องใส่ใจ และหมั่นสังเกตอาการอย่างต่อเนื่อง โดยหากเห็นท่าไม่ดีล่ะก็ ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที
สาเหตุอะไรบ้าง ที่สร้างโอกาสให้เราปวดคอเรื้อรัง
อาการปวดคอจนกระทั่งกลายเป็นปวดคอเรื้อรังได้นั้น สาเหตุเกิดขึ้นได้จากหลายๆ สาเหตุ ดังต่อไปนี้
- ใช้งานกล้ามเนื้อมากเกินไป
เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่พบได้ง่ายจากวิถีการดำเนินชีวิตปัจจุบัน เช่น การที่เรานั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ โดยไม่ได้หยุดพัก ก็จะส่งผลให้กล้ามเนื้อคอถูกใช้งานมากเกินไป ทำให้เกิดอาการปวด เมื่อย ล้า และเมื่อเรายังคงไม่เปลี่ยนพฤติกรรม ยังทำงานซ้ำๆ หนักๆ ไม่หยุดพัก ก็จะนำไปสู่อาการปวดคอเรื้อรังได้ในที่สุด
...
- อุบัติเหตุ
สำหรับการเกิดอุบัติเหตุนั้น เป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อหลายๆ จุดของร่างกาย โดยอาจทำให้เอ็น กล้ามเนื้อ หรือข้อต่อกระดูกคอเสียหาย จนทำให้เกิดอาการปวด และอาจรุนแรงถึงขั้นทำให้เราเจ็บปวดเรื้อรังได้ ดังนั้น การใช้ชีวิตโดยไม่ประมาท ระมัดระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรใส่ใจ
- ความเสื่อมตามการใช้งาน
ในกระดูกคอของเราจะมีข้อต่อเชื่อมกระดูกคอแต่ละข้อเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งภายในข้อต่อนั้นก็จะมีกระดูกอ่อนอยู่ โดยยิ่งเราใช้งานมากเท่าไร กระดูกอ่อนก็จะค่อยๆ เสื่อมไปตามกาลเวลา เปรียบเสมือนกับยางรถยนต์ที่ใช้ไปนานๆ ก็สึก ดอกยางหาย ทั้งนี้เมื่อกระดูกคอเกิดการเสื่อมสึกไปจุดหนึ่ง ก็อาจทำให้เกิดอาการเจ็บปวดขึ้นมาได้ และถ้ายิ่งเสื่อมมากก็จะปวดมาก นอกจากนั้นแล้วเวลามีความเสื่อมเกิดขึ้น ร่างกายจะสร้างกระดูกออกมาใหม่ ที่อาจไปกดทับเส้นประสาท ทำให้มีอาการปวดเรื้อรัง หรืออาจปวดร้าว หรือชาลงไปยังมือ ขา ฝ่าเท้าได้ด้วย
- หมอนรองกระดูกคอเสื่อม
ความเสื่อมของหมอนรองกระดูกคอ แบ่งได้ออกเป็น 2 ชนิด คือ เกิดความเสื่อมที่ทำให้กระดูกเคลื่อนไปทับเส้นประสาทจนทำให้เกิดอาการปวด กับอีกกรณีหนึ่งคือ ไม่ได้เกิดการเคลื่อนไปกดทับเส้นประสาท แต่เมื่อหมอนรองกระดูกคอเสื่อมแล้ว จะหลั่งสารออกมาทำให้เกิดการอักเสบบริเวณรอบๆ รวมถึงทำให้เส้นประสาทอักเสบด้วย จนกลายเป็นอาการปวดคอเรื้อรังได้ในที่สุด
- กล้ามเนื้ออักเสบ
อาการปวดคอเรื้อรังจากกล้ามเนื้ออักเสบนั้น อาจเป็นได้ทั้งการอักเสบที่กล้ามเนื้อเดียว หรือหลายกล้ามเนื้อรวมกันก็ได้ ซึ่งเมื่อเกิดการอักเสบแล้ว อาการปวดจะไม่ได้อยู่แค่ที่บริเวณคอ แต่จะร้าวลามไปบริเวณรอบๆ ได้ด้วย คือ อาจปวดได้ทั้งขมับ คอ สะโพก ตลอดจนไปถึงขาเลยก็ได้
อาการปวดคอเรื้อรัง ปวดนานแค่ไหน
หลายคนอาจจะกำลังสงสัยว่า แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าอาการที่ปวดคออยู่นี้ คืออาการปวดคอเรื้อรัง คำตอบก็คือ ต้องมีอาการปวดมายาวนานมากกว่า 12 สัปดาห์ หรือ 3 เดือน โดยเราจะนับตั้งแต่ “ครั้งแรกที่เป็น” จนหายแล้วย้อนกลับมาเป็นซ้ำอีก แล้วนับรวมกัน หรือนับตั้งแต่วันที่เกิดอุบัติเหตุแล้วมีอาการปวด หลังจากดีขึ้นแล้วกลับมาปวดซ้ำอีกที่เดิมนับรวมกันถ้ามากกว่า 12 สัปดาห์ ก็จะเรียกได้ว่า “ปวดคอเรื้อรัง”
อันตรายแค่ไหน หากปล่อยให้ปวดคอเรื้อรัง
อาการปวดคอเรื้อรังนั้นจะส่งผลอย่างมากต่อความสามารถในการใช้ชีวิต ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของเราลดน้อยลง ใช้ชีวิตได้อย่างมีอิสระน้อยลง มีความสุขน้อยลง เพราะถูกอาการปวดคอยรบกวน ทั้งนี้หากเราปล่อยอาการปวดคอเรื้อรังไว้นาน ก็มีโอกาสที่กระดูกจะทับเส้นประสาท ซึ่งเมื่อเกิดการกดทับเส้นประสาทแล้วจะต้องใช้เวลายาวนานมากกว่าจะรักษาหาย หรืออาจไม่สามารถหายกลับมาเป็นปกติได้อีกเลย รวมถึงอาการปวดคอเรื้อรังนั้น หากปวดมาก ก็จะทำให้เกิดความเครียดสะสมจนนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้ ดังนั้นเมื่อรู้สึกว่าเริ่มปวดคอ และปวดไม่หาย ก็ควรรีบมาปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและหาแนวทางในการรักษาโดยเร็ว
...
สัญญาณที่บอกว่าอาการปวดคอของเรานั้น เข้าขั้นอันตรายแล้ว ได้แก่
· ปวดตอนกลางคืนร่วมด้วย หรือปวดจนตื่น ปวดจนนอนไม่หลับ
· น้ำหนักลดลง เพราะปวดมากจนเครียด ซึมเศร้า
· มีอาการอ่อนแรงที่แขนขา ขยับมือได้ช้าลง มีอาการชา
· ท่าทางการเดินผิดปกติ เดินได้ไม่มั่นคง เพราะกระดูกคอไปทับเส้นประสาท
รักษาอย่างไรดี เมื่อมีอาการปวดคอเรื้อรัง
สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการรักษาอาการปวดคอเรื้อรัง คือจะต้องวิเคราะห์หาสาเหตุที่แท้จริงให้เจอเสียก่อนว่า อาการปวดคอนั้นเกิดมาจากสาเหตุใด เกิดจากกล้ามเนื้ออักเสบจากกระดูกคอ หรือหมอนรองกระดูกคอเสื่อมกันแน่ หรือมาจากสาเหตุปัจจัยอื่นๆ ซึ่งเมื่อเราได้วินิจฉัยจนแน่ชัดแล้วจึงค่อยเข้าสู่กระบวนการในการรักษา โดยเลือกวิธีการรักษาให้เหมาะสมกับการวินิจฉัย และระดับความรุนแรงของอาการ ซึ่งการรักษาก็สามารถทำได้ตั้งแต่ การให้รับประทานยา การทำกายภาพบำบัด ปรับพฤติกรรม ฉีดยา รวมไปถึงการผ่าตัด ซึ่งก็สามารถใช้หลายๆ วิธีร่วมกันได้
เพราะอะไรรักษาแล้ว ถึงยังปวดคอเรื้อรังไม่หาย
ในกลุ่มคนไข้ที่มีอาการปวดคอเรื้อรัง แล้วรักษาไม่หายนั้น อาการอาจจะไม่ได้เป็นที่กล้ามเนื้ออย่างเดียว แต่อาจมีสาเหตุมาจาก หมอนรองกระดูกเสื่อม ข้อต่อกระดูกคอเสื่อม หรือเป็นได้ถึง เส้นประสาทบริเวณกระดูกคอกดทับร่วมด้วย ซึ่งก็จะต้องใช้การรักษาด้วยวิธีที่แตกต่างกันไป โดยหากไม่ต้องการรักษาด้วยการผ่าตัด ก็ต้องหาบริเวณที่เกิดเหตุให้แน่ชัด ด้วยการทำเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ MRI ว่าเกิดเหตุจากตรงไหน เป็นการอักเสบ หมอนรองกระดูกเสื่อม ข้อต่อเสื่อม หรือเส้นประสาทถูกกดทับ แล้วจึงค่อยทำการฉีดยาเข้าไปยังบริเวณเกิดเหตุ ก็จะสามารถทำให้อาการดีขึ้นได้ โดยยาที่ใช้ในการฉีดรักษาจะเป็นตัวยาที่ประกอบไปด้วย ยาชาผสมกับยาลดอักเสบ ซึ่งจะเป็นกลุ่มสเตียรอยด์แบบเจือจาง เป็นชนิดที่มีผลข้างเคียงน้อยที่สุด แต่ออกฤทธิ์นานที่สุด ทั้งนี้ก็ยังใช้การกายภาพบำบัดควบคู่กันไปได้ด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้อาการกลับมาเป็นซ้ำอีก
...
ปวดคอเรื้อรัง มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำมากน้อยแค่ไหน
หากได้รับการรักษาแล้ว ในช่วงระหว่างที่อาการดีขึ้น มีการฝึกกล้ามเนื้อให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้เกิดการอักเสบบริเวณเดิมอีก อาการปวดคอเรื้อรังก็อาจจะไม่กลับมาเป็นซ้ำอีกเลย แต่ทั้งนี้หากคนไข้มีน้ำหนักตัวเยอะ และยังต้องมีการก้มๆ เงยๆ ทำงานหนักอยู่เหมือนเดิม รวมถึงไม่ได้มีการดูแลตัวเอง ไม่ได้ฝึกกล้ามเนื้อ โอกาสเกิดซ้ำก็จะมีสูงขึ้นตามพฤติกรรมการใช้ชีวิต ส่วนกรณีของคนไข้ที่เกิดการกดทับของเส้นประสาทไปแล้วนั้น การกดทับของเส้นประสาทส่วนใหญ่แล้วจะถูกกดทับเพียงแค่บางส่วน และเกิดอาการบวมของการอักเสบบริเวณนั้นขึ้นส่วนหนึ่ง ซึ่งการบวมอักเสบจะดีขึ้นได้จากการฉีดยา โดยเมื่ออาการบวมลดลง เส้นประสาทก็จะถูกกดทับลดลง ส่งผลให้อาการดีขึ้น แต่จะดีขึ้นได้มากน้อยแค่ไหนก็ต้องขึ้นอยู่กับผล MRI และการติดตามอาการ แต่มั่นใจได้ว่าดีขึ้นกว่าเดิมแน่นอน
อาการปวดคอ ถือเป็นอาการที่ดูเหมือนจะธรรมดา แต่ก็มีปัญหาใหญ่และความร้ายแรงอันตรายซ่อนอยู่ หากปล่อยไว้ให้กลายเป็นการเจ็บปวดเรื้อรัง ทั้งนี้หากเป็นแล้ว แม้จะมีวิธีรักษาให้หายดีได้ แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่า อาการรุนแรงไปถึงขั้นไหน อีกทั้งยังต้องดูแลตัวเอง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทำตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัดด้วย ทำให้หลายครั้งผู้ป่วยหลายคนชะล่าใจคิดว่ารักษาหายแล้ว ก็กลับมาเป็นซ้ำอีก และบางรายก็หนักกว่าเดิม ดังนั้นสำหรับแนวทางในการป้องกันที่ดีที่สุด คือ ป้องกันไม่ให้ป่วยมีอาการปวดคอเรื้อรังตั้งแต่แรก ด้วยการระมัดระวังตัวเอง ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้อยู่ในท่าทางที่เหมาะสม รวมถึงหากมีสัญญาณเตือน พบอาการปวดแล้วไม่หาย ก็ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที ก่อนที่อาการปวดคอนั้นจะสะสมเรื้อรังจนทำให้ความสุขในชีวิตเราพังทลายหายไป
...
บทความโดย : นพ.เกรียงศักดิ์ เล็กเครือสุวรรณ แพทย์ศูนย์กล้ามเนื้อกระดูกและข้อ
โรงพยาบาลพญาไท 3