การใช้ชีวิตของคนเราทุกวันนี้มีโอกาสที่จะพบเจอกับสัตว์มีพิษต่อยหรือทำร้ายได้ อาจจะด้วยสภาพแวดล้อมบริเวณบ้าน หรือปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ร่วมด้วย ดังนั้น คอลัมน์ “ศุกร์สุขภาพ” สัปดาห์นี้จึงมีเรื่องราวน่ารู้ของ “การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อถูกสัตว์มีพิษกัด” มาฝากกัน

@งูกัด

กรณีที่ถูกงูกัด อย่าตื่นตระหนก ตั้งสติ และให้ระลึกไว้เสมอว่างูชนิดนั้นมีอันตราย หากเป็นไปได้ให้จดจำลักษณะของงู หรือถ่ายรูปไว้ แต่ไม่จำเป็นต้องตามหางู ให้รีบปฐมพยาบาล และรีบนำส่งผู้ที่ถูกงูกัดไปโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด หรือโทร. 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือทางการแพทย์

วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น

ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและสบู่ทันที หลังจากนั้นจำกัดบริเวณที่ถูกกัดให้เกิดการเคลื่อนไหวน้อยที่สุด โดยสามารถใช้ผ้ายืดพันแผล พันบริเวณบาดแผลจนขึ้นมาเหนือบาดแผล และดามบริเวณบาดแผลให้เคลื่อนไหวน้อยที่สุด

...

ข้อห้ามที่ไม่ควรทำ

ไม่บีบ รีด หรือกรีดบริเวณบาดแผล ไม่ใช้ปากดูดพิษบริเวณบาดแผล ไม่รัดบริเวณเหนือบาดแผล หรือการขันชะเนาะ และไม่ใช้ธูปหรือไฟจี้บริเวณบาดแผล

@ตะขาบกัด

ตะขาบเป็นสัตว์มีพิษ ทำให้ผู้ที่ถูกตะขาบกัดมีอาการปวด บวม บริเวณบาดแผลได้ โดยปกติพิษของตะขาบจะไม่รุนแรง หรืออันตรายถึงชีวิต และมักดีขึ้นเอง

วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น

ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและสบู่ทันที หากผู้บาดเจ็บมีอาการปวด ให้ประคบเย็นบริเวณที่ถูกกัด และสามารถกินยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล เพื่อลดอาการปวดได้ หากมีประวัติแพ้พิษตะขาบ หรือมีอาการแน่นหน้าอก หายใจเหนื่อย ผื่นขึ้นทั่วตัว หรือมีอาการปวดรุนแรง ให้โทร. 1669 หรือรีบไปสถานพยาบาลโดยเร็วที่สุด

ข้อห้ามที่ไม่ควรทำ

ไม่บีบ รีด หรือกรีดบริเวณบาดแผล และไม่นำสมุนไพรมาพอกบริเวณที่ถูกกัด

@แมงป่องต่อย

พิษจากแมงป่องส่วนใหญ่มักทำให้เกิดแค่อาการปวด บวม แดง บริเวณที่ถูกต่อยเท่านั้น แต่แมงป่องบางชนิดอาจมีพิษร้ายแรงทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ ซึ่งพบได้น้อย และไม่มีรายงานการเสียชีวิต หรือการก่อพิษรุนแรงจากพิษแมงป่องในประเทศไทย

วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น

ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและสบู่ทันที หากผู้บาดเจ็บมีอาการปวด ให้ประคบเย็นบริเวณที่ถูกต่อย และสามารถกินยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล เพื่อลดอาการปวดได้ หากมีประวัติแพ้พิษแมงป่อง หรือมีอาการแน่นหน้าอก หายใจเหนื่อย ผื่นขึ้นทั่วตัว หรือมีอาการปวดรุนแรง ให้โทร. 1669 หรือรีบไปสถานพยาบาลโดยเร็วที่สุด

ข้อห้ามที่ไม่ควรทำ

ไม่บีบ รีด หรือกรีดบริเวณบาดแผล และไม่นำสมุนไพรมาพอกบริเวณที่ถูกต่อย

@แมลงมีพิษ (ต่อ แตน ผึ้ง) ต่อย

แมลงที่มีเหล็กใน เมื่อต่อยแล้วจะทิ้งเหล็กในไว้ เช่น ผึ้ง จะทิ้งเหล็กในไว้บนร่างกาย แต่ต่อและแตนจะไม่ทิ้งเหล็กในไว้ ซึ่งเหล็กในจะมีพิษ ทำให้เกิดอาการปวด บวม แดง และหากถูกแมลงหลายๆ ตัวรุมต่อย ก็จะส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกายจนถึงแก่ชีวิตได้ และพิษจากเหล็กในยังสามารถทำให้เกิดอาการแพ้รุนแรงได้ด้วยเช่นกัน

...

วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น

หากมีเหล็กใน ให้นำเหล็กในออกทันที โดยใช้บัตรแข็ง หรือลูกกุญแจขูดหรือกดให้เหล็กในออกมา ทำความสะอาดบริเวณที่ถูกต่อยด้วยน้ำสะอาดหรือสบู่ หากมีอาการปวด ให้ประคบเย็นหรือกินยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล หากมีประวัติแพ้ ผึ้ง ต่อ หรือแตน หรือมีอาการหายใจเหนื่อย แน่นหน้าอก หน้ามืด หมดสติ มีผื่นขึ้นตามตัว เสียงแหบ หรือถูกแมลงหลายๆ ตัวรุมต่อย ให้โทร. 1669 หรือรีบนำส่งสถานพยาบาลให้เร็วที่สุด

ข้อห้ามที่ไม่ควรทำ

ไม่บีบ รีด หรือกรีดบริเวณบาดแผล และไม่นำสมุนไพรมาพอกบริเวณที่ถูกต่อย

@สัมผัสแมงกะพรุน

แมงกะพรุนจะมีเข็มพิษอยู่ในกระเปาะเล็กๆ บนหนวด แมงกะพรุนบางชนิดสามารถปล่อยสารพิษผ่านการสัมผัสที่ผิวหนังของเหยื่อได้ ทำให้เกิดอาการปวดรุนแรง บวม แดง คลื่นไส้ อาเจียน เกร็ง จนถึงขั้นซึม หมดสติ หรือเสียชีวิตได้

วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น

นำผู้บาดเจ็บขึ้นจากน้ำทันที และใช้น้ำส้มสายชูราดลงไปบริเวณที่โดนหนวด หรือบริเวณที่บาดเจ็บ อย่างน้อย 30 วินาที หากโดนพิษที่ดวงตา ให้ใช้น้ำเกลือสะอาด ล้างตาต่อเนื่องอย่างน้อย 15-30 นาที ใช้คีมคีบเพื่อนำหนวดหรือกระเปาะพิษออกจากแผลด้วยความระมัดระวัง หากผู้บาดเจ็บมีอาการปวด สามารถประคบเย็นเพื่อบรรเทาอาการปวดได้ หากมีอาการรุนแรง ซึม หรือหมดสติ ให้โทร. 1669 หรือรีบนำส่งสถานพยาบาลโดยเร็วที่สุด

...

ข้อห้ามที่ไม่ควรทำ

ไม่ใช้น้ำเปล่า เหล้าขาว หรือน้ำปัสสาวะ ราดบริเวณที่สัมผัสหนวดแมงกะพรุน ไม่ขัด ถู รีด หรือบีบบริเวณบาดแผล

@@@@@@@@@@@

แหล่งข้อมูล

รศ.ดร.นพ.ไชยพร ยุกเซ็น และนางสาวปรม คณินวรพันธุ์ ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล