HIGHLIGHTS:

  • ข้อเข่าเสื่อม เป็นสาเหตุหลักของอาการปวดเข่าที่พบได้มากที่สุด ซึ่งนอกจากจะเกิดตามธรรมชาติแล้ว ยังสามารถเกิดก่อนวัยได้อีกด้วย ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการเกิดอุบัติเหตุที่ข้อเข่าตั้งแต่อายุยังน้อย การเล่นกีฬาที่มีแรงกระแทกต่อข้อเข่ามากๆ หรือการนั่งในท่าที่ไม่เหมาะสมบ่อยๆ
  • การใส่รองเท้าส้นสูงมีส่วนทำให้เกิดอาการปวดข้อเข่าได้ แต่หากมีความจำเป็นต้องใส่จริงๆ ก็ควรพักเท้าทุกๆ 1 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย
  • การออกกำลังกาย เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อต้นขาและกล้ามเนื้อรอบข้อเข่า เพื่อให้กล้ามเนื้อที่แข็งแรงช่วยพยุงข้อเข่า และถ่ายเทน้ำหนักจากข้อเข่ามาที่กล้ามเนื้อ จะช่วยลดอาการปวดเข่าได้

ข้อเข่า คือ ข้อต่อที่ประกอบขึ้นจากกระดูกต้นขา กระดูกหน้าแข้ง และลูกสะบ้า นอกจากนั้นแล้วยังประกอบไปด้วยกล้ามเนื้อ กระดูกอ่อน เส้นเอ็น เส้นประสาท และหลอดเลือด ซึ่งส่วนประกอบต่างๆ เหล่านี้สามารถเกิดการบาดเจ็บ ติดเชื้อ และเกิดสภาวะอื่นๆ ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดเข่าขึ้นได้

โดยอาการปวดเข่านั้นอาจเป็นการเกิดแบบเฉียบพลัน หรือเป็นแบบเรื้อรังที่ค่อยๆ พัฒนาความรุนแรงของโรคไปตามกาลเวลา หากเกิดอาการปวดเข่าแล้ว จะทำให้คุณรู้สึกไม่สบายตัว รู้สึกรำคาญ เดินไม่สะดวก หรือรู้สึกว่าไม่สามารถลงน้ำหนักไปบนขาข้างที่มีอาการปวดได้ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพด้านอื่นๆ และคุณภาพชีวิต

อาการปวดเข่า เกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง

...

อันที่จริงแล้ว สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดเข่านั้นมีมากมายหลากหลายข้อแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับ อายุ น้ำหนักตัว ระดับความหนักของกิจกรรมที่ทำ หรือแม้กระทั่งปัจจัยเสี่ยงด้านอื่นๆ ก็ส่งผลให้เกิดอาการปวดเข่าด้วยเช่นกัน สาเหตุของอาการปวดเข่าที่พบได้มาก มีดังนี้

1. ข้อเข่าเสื่อม

เป็นสาเหตุหลักของอาการปวดเข่าที่พบได้มากที่สุด ซึ่งแม้ว่าโรคนี้จะไม่ได้เป็นโรคที่มีอันตรายร้ายแรงถึงแก่ชีวิต แต่ก็ถือว่าเป็นโรคเรื้อรังที่สามารถสร้างความทุกข์ทรมานให้แก่ร่างกายจากอาการเจ็บปวดดังกล่าวได้ อีกทั้งยังทำให้ผู้ป่วยเดินได้ไม่เหมือนเดิม เช่น เดินตัวเอียง เดินแล้วต้องเอนตัวไปมา หรือต้องมีคนคอยพยุงเวลาเดิน เป็นต้น

ถือว่าเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของตัวผู้ป่วยเอง และส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเช่นกัน อีกทั้งยังอาจทำให้เกิดอาการเจ็บปวดหรืออาการผิดปกติของส่วนอื่นๆ ของร่างกายตามมาได้ เช่น อาการปวดหลัง เป็นต้น

อาการของข้อเข่าเสื่อมในระยะแรกและปานกลางนั้น ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเมื่อมีแรงกดบีบลงบนผิวข้อเข่ามากๆ เช่น ตอนลุกยืนจากท่านั่ง การนั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ นั่งยองๆ หรือเดินขึ้นลงบันได และมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เข่ามีเสียงดังกรอบแกรบขณะงอหรือเหยียดเข่า เป็นต้น

หากเป็นในข้อเข่าเสื่อมระยะหลังแล้ว อาการปวดเข่ามักเกิดทุกครั้งเมื่อมีการเคลื่อนไหวข้อเข่า มีการยืน การเดิน และอาจพบอาการผิดรูปของข้อเข่า มีเข่าโก่ง ข้อเข่าติด งอเหยียดได้ไม่สุดร่วมด้วย

  • ข้อเข่าเสื่อมที่เกิดจากการเสื่อมตามธรรมชาติ อาจเกิดจากการใช้งานข้อเข่ามากเกินไปต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ จากการทำกิจกรรม ซ้ำๆ จนทำให้เกิดการสึกหรอของผิวข้อเข่า พบมากในผู้ที่เล่นกีฬาบางชนิดบ่อยๆ เช่น การออกกำลังกายประเภทที่มีแรงกระแทกต่อข้อเข่ามาก หรือผู้ที่ทำงานแบบเดิมซ้ำๆ เช่น การยกของหนักเป็นประจำ เป็นต้น

  • ข้อเข่าเสื่อมก่อนวัย นอกจากอาการข้อเข่าเสื่อมจะเกิดตามธรรมชาติได้แล้ว ยังสามารถเกิดก่อนวัยได้อีกด้วย ซึ่งการเกิดข้อเข่าเสื่อมก่อนวัยนั้น เป็นผลพวงมาจากการเกิดอุบัติเหตุที่ข้อเข่าตั้งแต่อายุยังน้อย การเล่นกีฬาที่มีแรงกระแทกต่อข้อเข่ามากๆ หรือแม้กระทั่งการนั่งในท่าที่ไม่เหมาะสมบ่อยๆ ก็ถือว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดข้อเข่าเสื่อมก่อนวัยได้ด้วยเช่นกัน

  • ข้อเข่าเสื่อมอาจเป็นผลของโรคบางชนิด รวมถึงผลจากความผิดปกติอื่นๆ ในบริเวณข้อเข่า (ภาวะข้อเข่าเสื่อมทุติยภูมิ) เช่น ภาวะกระดูกข้อเข่าตายจากการขาดเลือด (Osteonecrosis of knee) ภาวะกล้ามเนื้อต้นขาลีบ (Quadriceps muscle atrophy) โรคกระดูกพรุนอักเสบ (Osteochondritis dissecans: OCD) เป็นต้น

2. Patellofemoral Pain Syndrome หรือ Runner’s Knee

เกิดจากกระดูกอ่อนที่รองลูกสะบ้าอยู่นั้นมีการสึกหรอ หรือเสื่อมสภาพไป ซึ่งมีสาเหตุจากการที่มีแรงกดที่มากเกินไปต่อลูกสะบ้า หรืออาการกล้ามเนื้อรอบข้อเข่าและต้นขาไม่สมดุล ทำให้กล้ามเนื้อบางส่วนดึงตัวลูกสะบ้าออกไปจากตำแหน่งที่เคยอยู่ จึงก่อให้เกิดอาการปวดขึ้น โดยเฉพาะตอนเดินลงบนทางลาดชัน และเดินลงบันได

3. โรคข้ออักเสบบางชนิด

เช่น รูมาตอยด์ เกาต์ เป็นต้น ซึ่งนอกจากอาการปวดแล้ว ยังก่อให้เกิดอาการอักเสบของข้อ คือ อาการบวม แดง ร้อน และเกิดเข่าติดได้เช่นกัน

4. หมอนรองข้อเข่าและเส้นเอ็น

ภายในหรือรอบๆ ข้อเข่าได้รับบาดเจ็บ เช่น หมอนรองข้อเข่าฉีกขาด เอ็นไขว้หน้าขาด เอ็นเข่าด้านในได้รับบาดเจ็บ เป็นต้น

วิธีดูแลตัวเองขั้นพื้นฐานเมื่อมีอาการปวดเข่า

สำหรับผู้ที่คิดว่าตัวเองเริ่มมีอาการปวดข้อเข่า และกังวลว่าอาจจะมีอาการรุนแรงมากขึ้นในอนาคต สามารถนำวิธีปฏิบัติตัวขั้นพื้นฐานเหล่านี้ไปลองปรับใช้กับชีวิตประจำวัน เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดเข่าเบื้องต้นด้วยตนเองได้

1. การควบคุมน้ำหนัก

สำหรับคนที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานหรือเป็นโรคอ้วน ควรเริ่มควบคุมอาหาร รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และถูกหลักโภชนาการ ในปริมาณที่พอเหมาะ เพราะ you are what you eat กินอย่างไรได้อย่างนั้น หากเราเลือกรับประทานได้ดี น้ำหนักก็จะค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ ก็จะทำให้น้ำหนักไปตกที่ข้อเข่าน้อยลง ก็จะช่วยบรรเทาอาการปวดข้อเข่า และหลีกเลี่ยงภาวะข้อเข่าเสื่อมที่อาจเกิดขึ้นได้อีกด้วย

2. การออกกำลังกาย ป้องกันอาการปวดเข่า

...

เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อต้นขาและกล้ามเนื้อรอบข้อเข่า เพื่อให้กล้ามเนื้อที่แข็งแรงช่วยพยุงข้อเข่า และถ่ายเทน้ำหนักจากข้อเข่ามาที่กล้ามเนื้อ ทำให้ข้อเข่าไม่ต้องรับน้ำหนักมากจนเกินไป สามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยท่าบริหารร่างกายที่ไม่มีแรงกระแทกจากน้ำหนักของร่างกาย โดยต้องเลือกให้เหมาะสมกับช่วงอายุของแต่ละบุคคล ซึ่งหากเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ ก็ควรออกกำลังกายที่มีแรงกระแทกต่อข้อเข่าน้อยเป็นประจำ เช่น การว่ายน้ำ การเดิน การเต้นแอโรบิกที่ไม่มีท่าที่ต้องกระโดด การปั่นจักรยานอยู่กับที่ เป็นต้น

สำหรับกลุ่มคนที่อายุยังไม่มากนัก ก็สามารถเลือกออกกำลังกายด้วยการวิ่งจ๊อกกิ้งเบาๆ การเดินเร็ว การเต้นแอโรบิก หรือการทำบอดี้เวทเทรนนิ่ง (Body Weight Training) ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจเช่นกัน (ดูตัวอย่างท่าออกกำลังกายเพื่อป้องกันอาการปวดเข่าได้ ที่นี่)

3. การปรับไลฟ์สไตล์และท่าทางต่างๆ ที่เหมาะสม

  • ควรปรับเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ ทุก 20-30 นาที พยายามลุกจากที่นั่งไปเดินบ้าง ซึ่งนอกจากจะหลีกเลี่ยงอาการปวดข้อเข่าแล้ว ยังช่วยป้องกันไม่ได้เกิดอาการปวดที่กล้ามเนื้อบริเวณคอและบ่าทั้งสองข้าง หรือออฟฟิศซินโดรม ได้อีกด้วย

  • การจัดท่านั่งให้ถูกต้องเหมาะสม ควรนั่งเก้าอี้แทนการนั่งพื้น จะทำให้ลุกได้ง่ายขึ้น เพราะมีการใช้แขนช่วยยันตัวขึ้นตอนลุกจากที่นั่ง ทำให้เกิดกดที่ข้อเข่าน้อยลง การใช้ไม้เท้าช่วยพยุงเวลาเดิน

  • หลีกเลี่ยงการนั่งที่ต้องมีการงอเข่าหรือพับเข่ามากๆ เป็นเวลานานๆ เช่น การนั่งยองๆ นั่งสมาธิ นั่งพับเพียบ เนื่องจากท่านั่งเหล่านี้ทำให้เกิดแรงกดที่ผิวข้อเข่าเป็นอย่างมาก อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงของโรคข้อเข่าเสื่อมได้ในอนาคต

  • ควรหลีกเลี่ยงการนั่งไขว่ห้าง เนื่องจากอาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการกระดูกสันหลังคดและอาการปวดข้อเข่าได้ในอนาคต โดยเฉพาะข้อเข่าด้านที่มักจะไขว้อยู่ด้านบนตลอด หรือแม้แต่การใส่รองเท้าส้นสูงก็มีส่วนที่ทำให้เกิดอาการปวดข้อเข่าได้ ควรหลีกเลี่ยงหากทำได้ แต่หากมีความจำเป็นต้องใส่จริงๆ ก็ควรพักเท้าทุกๆ 1 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย

...

4. รับประทานยาแก้ปวด

หากมีอาการปวด เช่น ยา Paracetamol Ibuprofen เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า อาการปวดเข่านั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนั้น การรักษาก็มีความจำเพาะเจาะจงต่อโรคแตกต่างกันไป แต่การป้องกันและดูแลตัวเองก็ยังถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ผู้ป่วยควรดูแลตัวเองตามคำแนะนำเบื้องต้นที่ได้กล่าวไว้ อย่างไรก็ตาม หากมีอาการปวดเข่ามานานเป็นระยะเวลานึงแล้วไม่หาย หรือเป็นๆ หายๆ ไม่หายสนิท แนะนำให้เข้าพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมที่สุดจะดีที่สุด

บทความโดย : นพ.กฤษกมล สิทธิทูล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาออร์โธปิดิกส์ รพ. สมิติเวช สุขุมวิท