“โรคความดันโลหิตสูง” เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของประชากรทั่วโลก โดยมีประชากรเสียชีวิตจากโรคนี้สูงถึง 7.5 ล้านคน และมีผู้ป่วยความดันโลหิตสูงเกือบ 1 พันล้านคนทั่วโลก ซึ่งคาดว่าในปี 2568 ความชุกของผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.56 พันล้านคน

ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทย โรคความดันโลหิตสูงยังคงเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญเช่นกัน เห็นได้จากความชุกของโรคความดันโลหิตสูงในประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นจาก 10 ล้านคนในปี 2552 เป็น 13 ล้านคนในปี 2557 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยผู้ป่วยเกือบครึ่งหนึ่งไม่ทราบว่าตนเองป่วยด้วยโรคนี้ จึงเป็นโรคสำคัญที่ทุกคนควรรู้จักและเตรียมพร้อมรับมือ หากเกิดขึ้นกับตนเองหรือคนใกล้ชิด

โรคความดันโลหิตสูง คือ อะไร?

คือ ภาวะที่คนไข้มีค่าความดันเลือดตัวบนมากกว่า 140 หรือความดันตัวล่างมากกว่า 90 มิลลิเมตรปรอท กล่าวคือ เวลาที่คนเราวัดความดันเลือด จะมีค่าออกมา 2 ตัวเลข ซึ่งตัวเลขบน หมายถึง ความดันเลือดขณะที่หัวใจบีบตัว ส่วนความดันตัวล่าง คือ ความดันเลือดขณะที่หัวใจคลายตัว เช่น วัดความดันได้ 110/70 มิลลิเมตรปรอท แปลว่า ความดันอยู่ในระดับปกติ

อาการ

โรคความดันโลหิตสูงจัดเป็นภัยเงียบ เนื่องจากมีเพียงส่วนน้อยที่มีอาการจากความดันโลหิตสูง เช่น ปวดหรือเวียนศีรษะ เลือดกำเดาไหล เหนื่อยง่ายหายใจลำบาก ในขณะที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่กลับไม่มีอาการใดๆ เลยแม้ความดันโลหิตสูงมากก็ตาม

...

อันตรายและภาวะแทรกซ้อน

หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษาผนังหลอดเลือดแดงทั่วร่างกายจะหนาตัวขึ้นและตีบแคบลงเรื่อยๆ สุดท้ายจะมีโรคแทรกซ้อนต่ออวัยวะสำคัญ อาทิ หัวใจ สมอง ไต และตา เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบและหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก โรคไตเรื้อรัง หัวใจล้มเหลว ตามมาในที่สุด

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง

โรคความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่ไม่มีสาเหตุที่ชัดเจน แต่พบว่าสัมพันธ์กับอายุที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับปัจจัยด้านพันธุกรรม การมีน้ำหนักตัวที่มากเกินไป การกินเหล้า สูบบุหรี่ การรับประทานอาหารที่เค็มจัดมากเกินไป การขาดการออกกำลังกาย การมีภาวะเครียด ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนทำให้มีโอกาสเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้มากขึ้น รวมถึงการรับประทานยาบางอย่าง ก็ทำให้ความดันสูง เช่น ยากลุ่มแก้ปวดลดการอักเสบ ยาในกลุ่มแก้หวัด แก้คัดจมูก หรือคนที่ใช้สารเสพติด เช่น ยาบ้า โคเคน ก็ทำให้ความดันสูงได้เช่นกัน

นอกจากนี้ ผู้ป่วยส่วนหนึ่งอาจเป็นโรคความดันโลหิตสูงแบบมีสาเหตุ แต่มักจะเป็นกลุ่มเฉพาะ โดยจะพบค่าความดันค่อนข้างสูงมากเพิ่งเกิดขึ้นในระยะเวลาไม่นาน ในกรณีนี้จะต้องสืบค้นหาสาเหตุ และรักษาที่ต้นเหตุ เพื่อทำให้ความดันลดลง เช่น ความดันสูงจากโรคไต ความดันสูงจากหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงไตตีบ ความดันสูงจากไทรอยด์เป็นพิษ ความดันสูงจากการมีเนื้องอกที่ต่อมหมวกไต เป็นต้น

การวินิจฉัย

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคจากการดูค่าความดันโลหิต โดยคนไข้จะต้องนั่งพักอย่างน้อย 5 นาทีขึ้นไป และก่อนวัดจะต้องไม่ดื่มกาแฟ ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ จึงจะได้ค่าความดันเลือดที่ตรงตามความเป็นจริง ทั้งนี้ หากผลของการวัดความดันสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท แพทย์จะนัดให้มาวัดซ้ำอีกครั้ง ในกรณีที่คนไข้ไม่เคยมีความดันสูง หากนัดครั้งต่อไป ค่าที่ได้ยังคงสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท ก็จะวินิจฉัยได้ว่าคนไข้คนนั้นเป็น “โรคความดันโลหิตสูง”

การรักษา

แบ่งเป็น 2 แนวทางหลัก คือ การให้ยา และการปรับพฤติกรรม

  • การรักษาโดยการให้ยากิน ส่วนจะต้องกินยาอะไรบ้าง จำนวนกี่ชนิด ก็ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ว่าคนไข้มีโรคประจำตัวอะไรบ้าง ซึ่งจะต้องพิจารณาให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อตัวคนไข้ ซึ่งเป้าหมายของการรักษา คือ รักษาระดับความดันเลือดให้อยู่ในระดับ 130/80 มิลลิเมตรปรอท หรือต่ำกว่า แต่ในผู้สูงอายุหากทนต่อความดันโลหิตที่ต่ำขนาดนี้ไม่ไหว เช่น มีอาการเวียนหัว หน้ามืด หกล้มบ่อย อาจอนุโลมให้ไม่เกิน 140/90 มิลลิเมตรปรอท

สัปดาห์หน้ายังมีความรู้เรื่องการรักษาในเรื่องของการปรับพฤติกรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญพอ ๆ กับการกินยาเลยทีเดียว ซึ่งหากคนไข้สามารถทำได้ ก็จะส่งผลดีต่อร่างกาย

@@@@@@@@@@@

แหล่งข้อมูล

ผศ. พญ.แสงศุลี ธรรมไกรสร ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล