โรคทางเดินอาหารเป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับเด็กทุกคน ซึ่งโรคหรือภาวะที่พบได้บ่อยในทารกและเด็กเล็ก ได้แก่ ภาวะและโรคกรดไหลย้อน ภาวะโคลิค โรคแพ้โปรตีนนมวัวที่ก่ออาการถ่ายอุจจาระมีมูกปนเลือด ท้องผูก และท้องร่วงเฉียบพลัน

1. ภาวะและโรคกรดไหลย้อนในทารก

ภาวะกรดไหลย้อนในทารกมักเกิดก่อนอายุ 6 เดือน โดยมีอาการหลัก คือ แหวะนมและอาเจียน ทารกแต่ละคนอาจมีอาการมากหรือน้อยด้วยความถี่แตกต่างกันไป เช่น บางคนมีแหวะนม 2-3 ครั้งต่อวัน หรือบางคนอาจมีอาการทุกมื้อที่กินนม เป็นต้น อาการแหวะนมหรืออาเจียนมักสัมพันธ์กับมื้อนม โดยมักแหวะหรืออาเจียนเป็นนมที่ดื่มไปภายใน ½ - 1 ชั่วโมงหลังกิน และไม่มีอาการผิดปกติอื่น ๆ เช่น อาเจียนเป็นเลือดหรืออาเจียนมีน้ำดีปน มีการเจ็บปวดรุนแรงหรือร้องกวนมากผิดปกติ ซึมลง พัฒนาการล่าช้า น้ำหนักตัวขึ้นช้าหรือน้ำหนักตัวลด เป็นต้น หากทารกมีอาการดังกล่าว ควรคำนึงถึงโรคกรดไหลย้อนร่วมด้วย

การดูแลรักษา : ภาวะกรดไหลย้อนมักอาศัยการรักษาโดยไม่ใช้ยา เช่น การอุ้มเรอ ให้ทารกนอนหัวสูง 20-30 องศา ประมาณ 20-30 นาทีแรกหลังมื้อนม เป็นต้น ทารกส่วนมากจะมีอาการลดลงหลังอายุ 4-6 เดือนแต่หากเป็นโรคกรดไหลย้อน อาจมีความจำเป็นในการได้รับยายับยั้งการหลั่งกรด

...

2. ภาวะโคลิคในทารก

“โคลิค” เป็นอาการร้องไห้หรือร้องกวนโดยไม่มีสาเหตุในทารกช่วงอายุประมาณ 1-3 เดือนทั้ง ๆ ที่มีการศึกษาวิจัยมากมายที่พยายามอธิบายสาเหตุของภาวะนี้ ทารกมักเริ่มร้องไห้ในเวลาช่วงเย็นถึงค่ำด้วยระยะเวลานานแตกต่างกัน ทารกบางรายอาจร้องไห้ได้นานถึงครั้งละ 3 ชั่วโมง ตั้งแต่ 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ภาวะนี้เป็นภาวะทางเดินอาหารที่ไร้โรคทางกาย ซึ่งปัจจุบัน พ่อแม่รวมถึงผู้ดูแลทารกรู้จักและเข้าใจภาวะนี้มากขึ้น ภาวะนี้เป็นภาวะที่หายได้เอง

การดูแลรักษา : อาศัยความเข้าใจภาวะนี้ของผู้ดูแลทารกร่วมกับการปรับสิ่งแวดล้อมในขณะที่เกิดอาการ ได้แก่ ให้ทารกฟังเสียงธรรมชาติ เช่น เสียงน้ำตก น้ำไหล เสียงคลื่น บางรายพบว่าการอุ้มและเขย่าทารกเบา ๆ หรือนำทารกขึ้นรถแล้วขับไปมีส่วนช่วยทำให้อาการร้องไห้ลดลง

3. โรคแพ้โปรตีนนมวัวที่ก่ออาการถ่ายอุจจาระมีมูกปนเลือด

“โรคแพ้โปรตีนนมวัวที่ก่ออาการถ่ายอุจจาระมีมูกปนเลือด” เป็นโรคที่พบบ่อยมากขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยทางพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมกระตุ้นให้เด็กเหล่านี้เกิดอาการ ทารกมักถ่ายอุจจาระมีมูกเลือดปนเล็กน้อยก่อนอายุ 6 เดือน มักสบายดี ไม่มีไข้ กินและเล่นได้ปกติ บางรายมีอาการร้องกวน ผื่นผิวหนัง น้ำมูกมากขึ้นและหายใจครืดคราด

การดูแลรักษา : หากทารกกินนมแม่อย่างเดียว แนะนำให้แม่หลีกเลี่ยงการกินผลิตภัณฑ์นมวัว หากเป็นโรคนี้ อาการจะดีขึ้นใน 2-3 วัน ส่วนในทารกที่กินนมผสม แนะนำให้เปลี่ยนนมเป็นสูตรที่ใช้ในการรักษาโรคนี้โดยควรอยู่ภายใต้การแนะนำของแพทย์ หากอาการหายแล้ว ซึ่งมักใช้เวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์ ควรกลับไปกินผลิตภัณฑ์นมวัวเพื่อพิสูจน์การวินิจฉัยที่แม่นยำมากขึ้น โรคนี้จะดีขึ้นหลังอายุ 1-2 ปี

4. ท้องผูก

“ท้องผูก” เป็นภาวะที่มักไม่มีโรคทางกายในเด็กอายุตั้งแต่ 1-5 ปี แต่มักเกิดจากปัจจัยกระตุ้นต่าง ๆ ได้แก่ การดื่มน้ำน้อย การกินอาหารที่มีกากใยน้อย เป็นต้น นอกจากนี้ การกินยาบางชนิดอาจทำให้เด็กท้องผูกได้เช่นกัน เด็กท้องผูกจะถ่ายอุจจาระห่างขึ้น อุจจาระมีลักษณะแข็งคล้ายมูลแพะหรือมูลกระต่าย เป็นเม็ดหรือเกาะกันเป็นก้อนใหญ่ เด็กบางรายจะร้องกวนหรือบ่นเจ็บเวลาขับถ่าย ในเด็กโตที่นั่งโถส้วมแล้ว อุจจาระอาจมีขนาดใหญ่จนต้องกดชักโครกหลายรอบ

การดูแลรักษา : เน้นการปรับพฤติกรรมโดยการดื่มน้ำให้เพียงพอ กินอาหารที่มีกากใยหรือดื่มน้ำลูกพรุน การออกกำลังกาย รวมทั้งฝึกสุขนิสัยในการขับถ่ายโดยการนั่งโถในช่วงอายุประมาณ 2 ปี เด็กบางรายที่อาการไม่ดีขึ้นจากการปรับพฤติกรรมดังกล่าว อาจมีความจำเป็นในการให้ยาระบาย

...

5. ท้องร่วงเฉียบพลัน

“ท้องร่วง” คือ อาการถ่ายอุจจาระเหลวกว่าปกติมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน โดยอุจจาระอาจเหลวหรือเป็นน้ำ หรือมีมูกปนเลือด ท้องร่วงที่เกิดขึ้นไม่เกิน 7 วันคือท้องร่วงเฉียบพลัน มีสาเหตุเกิดจากไวรัสและแบคทีเรีย โดยหากท้องร่วงเกิดจากการติดเชื้อไวรัส เด็กมักมีไข้ น้ำมูก ไอ และอาเจียนร่วมด้วย

การดูแลรักษา : แบ่งเป็น 3 รูปแบบ

1. การรักษาประคับประคอง คือ การให้สารน้ำและเกลือแร่ที่เหมาะสม ด้วยการให้ผงละลายเกลือแร่หรือ oral rehydration solution (ORS) เบื้องต้น สามารถใช้ได้ในเด็กทุกวัย โดยพิจารณาให้เด็กเล็กให้กิน ORS ประมาณ 2-3 ออนซ์ต่อครั้งที่มีการถ่ายอุจจาระเหลวหรือเป็นน้ำและเพิ่มปริมาณได้ในเด็กโต ร่วมกับการให้เด็กกินอาหารตามปกติ ไม่แนะนำให้งดอาหารหรือนมในช่วงที่มีอาการท้องร่วง

2. การรักษาตามอาการ ให้ยาตามอาการ เช่น พาราเซตามอล ยาแก้อาเจียน เป็นต้น

มีการศึกษาพบว่าการให้โพรไบโอติก (probiotics) เพื่อปรับสมดุลจุลชีพในทางเดินอาหารให้เหมาะสม ทำให้อาการท้องร่วงหายเร็วขึ้น นอกจากนั้น ยาที่ช่วยลดการหลั่งสารน้ำภายในโพรงลำไส้ อาจลดความเสี่ยงของภาวะขาดน้ำได้

...

3. การรักษาจำเพาะ ได้แก่ ยาปฏิชีวนะ ซึ่งเป็นยาที่ใช้กำจัดแบคทีเรียในกรณีที่มีข้อบ่งชี้ ต้องกินตามคำสั่งของแพทย์ และไม่แนะนำให้ซื้อยามากินเอง

การมีสุขนิสัยที่ดี การล้างมือก่อนและหลังเข้าห้องน้ำ การให้ทารกกินนมแม่ การกินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ ร่วมกับการให้วัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสโรต้า (rotavirus) สามารถช่วยป้องกันท้องร่วงเฉียบพลันได้

@@@@@@@@@

แหล่งข้อมูล

รศ. นพ.พรเทพ ตั่นเผ่าพงษ์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล