ในเร็วๆนี้ สหภาพยุโรป 27 ประเทศ รวมทั้งนอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ กำลังจะประกาศให้มีการใช้ Vaccine Passport หรือที่เรียกว่า Green Digital Certificate สำหรับการเดินทางในช่วงฤดูร้อนที่กำลังจะมาถึง

นางเออซูลา วอน เดอ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เปิดเผยว่า สหภาพยุโรป (อียู) จะเสนอมาตรการใหม่ให้ใช้ “วัคซีนพาสปอร์ต” ในการเดินทางเข้ายุโรปเพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศสมาชิกอียู

สหภาพยุโรป (EU) ที่มีประเทศกรีซ ประกาศเปิดประเทศพร้อมแผน “Safe Travel” เพื่อรับนักท่องเที่ยวอีกครั้งและชักชวนประเทศในกลุ่มอียูจัดทำ “แผนแม่บทพาสปอร์ตวัคซีน” ร่วมกัน ซึ่งหลายๆประเทศที่พึ่งพาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวต่างก็พร้อมจะทำตามด้วยการพยายามผลักดันการออกพาสปอร์ตวัคซีนให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก

มีการสร้างแพลตฟอร์มรวบรวมข้อมูลการฉีดวัคซีนและสุขภาพของผู้เดินทางเพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบได้อย่างสะดวกรวดเร็ว เช่น IATA Travel Pass ที่มีสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือไออาต้า (The International Air Transport Association : IATA) ที่ต้องการฟื้นฟูธุรกิจสายการบิน เป็นแกนนำในการพัฒนาแอปพลิเคชันขึ้นมาพร้อมทดลองสร้างดิจิทัลพาสปอร์ต เช่นเดียวกับบริษัทไมโครซอฟท์ซึ่งร่วมมือกับบริษัทออราเคิล ที่กำลังพัฒนาเอกสารรับรองดิจิทัลแก่ผู้ที่เดินทางว่ามีผลตรวจ COVID-19 เพื่อลดขั้นตอนการเตรียมเอกสารที่ยุ่งยากออกไป

...

ศูนย์วิจัยด้านตลาดการท่องเที่ยว ททท. (TATIC) ตีพิมพ์บทความ ระบุว่า พาสปอร์ตวัคซีน เป็นความหวังหนึ่งที่จะบุกเบิกให้ธุรกิจท่องเที่ยวกลับมาคึกคักอีกครั้ง หลายคนฝันถึงวันได้ออกไปท่องโลกโดยมีพาสปอร์ตที่ต้องพกติดตัวตามปกติและอาจต้องพก “พาสปอร์ตวัคซีน” เพื่อยืนยันว่าได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แล้ว

โดยหลายๆประเทศเปิดโอกาสให้ผู้ที่ฉีดวัคซีนสามารถเดินทางท่องเที่ยว เข้าถึงโอกาสในการทำงานข้ามประเทศได้โดยไม่ต้องกักตัว 14 วัน

วัคซีนพาสปอร์ต อาจกลายเป็นความจำเป็นสำหรับการเดินทาง ในศตวรรษที่ 21 หลังสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง

สำหรับ วัคซีนพาสปอร์ต มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในหลายประเทศ บ้างก็เรียก Immunity Passport, Immunity Certificate หรือในบางที่ก็เรียกว่า Release Certificate แต่ไม่ว่าจะเรียกว่าอะไร มันก็คือ เอกสารยืนยันการมีภูมิคุ้มกันต่อโรคโคโรนาไวรัส สายพันธุ์ใหม่ หรือ COVID-19 หรือไม่

จะว่าไป วัคซีนพาสปอร์ต ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ สมัยก่อน เวลาจะเดินทางไปในประเทศที่มีโรคเฉพาะหรือโรคประจำถิ่น เช่น อหิวาตกโรค ไข้เหลือง ไข้ไทฟัส หรือฝีดาษ จะต้องไปฉีดวัคซีนเพื่อให้ได้ “ใบเหลือง” หรือ The International Certificate of Vaccination or Prophylaxis เรียกชื่อย่อว่า ICVP มีชื่อเรียกอีกอย่าง หนึ่งว่า Carte Jaune หรือ Yellow Card ซึ่งเป็นเอกสารที่ออกโดยองค์การอนามัยโลก ถือเป็นเอกสารการเดินทางประเภทที่เรียกว่า Medical Passport ที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก

ในบางประเทศ เช่น อิสราเอล ซึ่งมีการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนครบ 100 คน เป็นชาติแรกในโลก ได้ออกแอปพลิเคชัน “กรีนพาส” (Green Pass) ให้กับประชาชนที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม สามารถเข้าชมกีฬา คอนเสิร์ต การแสดงต่างๆ โรงแรม ร้านค้า ร้านอาหาร ได้

แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าไรนักกับการมีวัคซีนพาสปอร์ต เป็นหนังสือเดินทางอีกเล่มที่ต้องพกในระหว่างการเดินทางข้ามประเทศ ล่าสุด ราชสมาคม หรือ The Royal Society แห่งอังกฤษ ได้คิดเกณฑ์สำหรับการพัฒนา และใช้งานวัคซีนพาสปอร์ตสำหรับ COVID-19 เอาไว้ โดยมีหลักเกณฑ์มากถึง 12 ข้อ เช่น ต้องได้เกณฑ์มาตรฐานของภูมิคุ้มกัน COVID-19 คือวัคซีนที่ว่าต้องป้องกันโรคได้จริงๆ พาสปอร์ตต้องรองรับไวรัสที่ก่อให้เกิด COVID-19 สายพันธุ์ต่างๆรวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องได้มาตรฐานในระดับนานาชาติ ฯลฯ

และด้วยหลักเกณฑ์มากมายดังกล่าวนั่นเอง ทำให้ในอังกฤษมีผู้ลงนามประท้วงการใช้วัคซีนพาสปอร์ตมากกว่า 200,000 ราย จากการประท้วงออนไลน์ที่เรียกว่า Online Petition คือส่งคำร้องมาหารัฐบาล โดยบอกว่าการริเริ่มนำพาสปอร์ตนี้มาใช้ อาจจะ ‘จำกัดสิทธิ’ ของคนที่ปฏิเสธไม่ยอมฉีดวัคซีนก็ได้

...

เป็นผลให้ โทนี แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ออกมาบอกว่าข้อเสนอเรื่องวัคซีนพาสปอร์ตนี้ จะเป็นประโยชน์หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับบริบทที่ใช้ ตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นการท่องเที่ยว เรื่องนี้จะเป็นประโยชน์แน่ๆ เพราะประเทศอื่นๆก็ใช้งานด้วย การท่องเที่ยวคืออุตสาหกรรมที่ทำให้เกิดแรงผลักมหาศาลในทางเศรษฐกิจ ดังนั้น วัคซีนพาสปอร์ตจึงจำเป็นอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมนี้ และรัฐบาลควรรีบผลักดันเรื่องนี้โดยด่วน แต่สำหรับมิติอื่นๆ เช่น คนชราที่ไม่ยอม ไม่อยาก หรือแม้กระทั่งฉีดวัคซีนไม่ได้ ก็ต้องไม่ถูกกีดกัน เลือกปฏิบัติ ไม่ให้เข้ารับบริการต่างๆของรัฐ

วันนี้นอกจากโลกจะถกเถียงกันเรื่องของวัคซีน ทั้งในแง่ประสิทธิภาพ การป้องกันโรค เรื่องของวัคซีนพาสปอร์ตก็เป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันมากเช่นเดียวกัน Financial Times รายงานว่า วัคซีนพาสปอร์ตอาจถูกนำมาใช้เพื่อกีดกันผู้คนจากการเข้าถึงสินค้าและบริการที่จำเป็นได้ และการนำวัคซีนพาสปอร์ตเข้าสู่ระบบออนไลน์ ก็ทำให้สุ่มเสี่ยงต่อความเป็นส่วนตัว หลายบริษัทอาจสามารถเข้าถึงระบบภูมิคุ้มกันของคนแต่ละคนได้ เพื่อนำข้อมูลขนาดใหญ่ไปวิเคราะห์และใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะข้อมูลที่อยู่บนโทรศัพท์มือถือ หรือ e-vaccination certificate

...

แต่ไม่ว่าจะมีข้อถกเถียงกันอย่างไร เชื่อว่า ในอนาคตอันใกล้ จะมีข้อสรุปถึงเรื่องนี้อย่างชัดแจ้ง เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและการเดินทางของคนทั้งโลกให้กลับมาอีกครั้ง.