Move to Heaven ซีรีส์ที่อาจจะไม่ได้ติดท็อปเทนสำหรับผลงานออริจินัลซีรีส์เกาหลีโดย Netflix แต่กลับเป็นภาพยนตร์ที่ถูกกล่าวขานถึงมากที่สุดในช่วงนี้ ไม่ใช่แค่การผูกเรื่องที่ชวนติดตามตลอด 10 ตอน ที่ต้องบอกว่าทุกตอน ดูแล้วน้ำตาท่วมจอ ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารถึงความรักอันสวยงาม ความอบอุ่น หรือแม้แต่ความลึกลับซ่อนเงื่อน

แต่สิ่งที่ทำให้น่าสนใจหลังการดูซีรีส์เรื่องนี้ และต้องนำมาขยายความต่อ เห็นจะเป็นเรื่องของ ฮันกือรู ตัวเอกของเรื่องที่มีอาการของโรคที่ชื่อว่า “แอสเพอร์เกอร์ซินโดรม”

โรคแอสเพอร์เกอร์ หรือ แอสเพอร์เกอร์ซินโดรม เป็นหนึ่งในกลุ่มอาการประเภทเดียวกับ ออทิสติก สเปกตรัม หรือ PDD (Pervasive Developmental Disorders) แอสเพอร์เกอร์ เป็นโรคที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับโรคออทิสติกมาก แต่จะแตกต่างในแง่ของทักษะด้านภาษา คือเด็กสามารถสื่อสารเข้าใจ แต่จะไม่เข้าใจความหมายแฝง เช่น คำประชด ประชันหรือมุกตลก ต่างจากโรคออทิสติกที่เด็กจะมีอาการพูดช้า พูดคุยไม่รู้เรื่อง

พวกแอสเพอร์เกอร์ซินโดรม จะมีลักษณะโดยทั่วไปเหมือนเด็กปกติ IQ ดี การเรียนไม่มีปัญหา ไม่มีพัฒนาทางด้านร่างกายที่บกพร่อง แต่จะมีปัญหาในเรื่องของการเข้าสังคม การสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่น การสื่อสารกับคนรอบข้างและการแปลความหมายความผิดปกติ

อัจฉริยะของโลกหลายคนที่เป็นพวกแอสเพอร์เกอร์ เช่น ไอน์สไตน์ เซอร์ ไอแซก นิวตัน หรือโมสาร์ท ฯลฯ

...

ล่าสุดที่รู้จักกันทั่วโลก ได้แก่ หนูน้อยชาวสวีดิช เกรต้า ธันเบิร์ก ที่ออกมาเรียกร้องความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของโลกจากผู้ใหญ่และผู้มีอำนาจทางการปกครองของประเทศต่างๆ ซึ่งเธอยอมรับว่า ตัวเองเป็นหนึ่งในผู้ป่วยโรคแอสเพอร์เกอร์ ซึ่งเธอไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องผิดปกติ แต่กลับบอกกับคนอื่นๆด้วยซ้ำว่า การเป็นผู้ป่วยกลุ่มแอสเพอร์เกอร์ เป็นของขวัญที่ดีที่สุด ที่ทำให้เธอมองเห็นและอยากเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น

แอสเพอร์เกอร์ซินโดรมคืออะไร?

ปี ค.ศ.1940 มีการรายงานถึงกลุ่มอาการผิดปกติทางพฤติกรรมและพัฒนาการของเด็ก โดยคุณหมอฮานส์ แอสเพอร์เกอร์ (Hans Asperger) ซึ่งพบลักษณะกลุ่มอาการเหล่านี้ในคนไข้ของเขาที่ส่วนใหญ่เป็นเด็กผู้ชาย ซึ่งมีความเฉลียวฉลาด และมีระดับสติปัญญาอยู่ในเกณฑ์ปกติ ด้านภาษาสามารถพูดคุยสื่อสารปกติได้ แต่เด็กเหล่านี้มีปัญหาในด้านทักษะการเข้าสังคมร่วมกับการมีพฤติกรรมหมกมุ่น มีความสนใจซ้ำซาก

สาเหตุของการเกิดอาการแอสเพอร์เกอร์ ในปัจจุบันยังไม่ทราบว่าอะไรคือสาเหตุที่ชัดเจนของกลุ่มอาการแอสเพอร์เกอร์ ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่ามีหลายปัจจัยร่วมกัน ทั้งการทำงานที่ผิดปกติทางสมอง พันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม แต่ยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัด และในปัจจุบันยังไม่มียาใดที่ใช้รักษาอาการเหล่านี้ให้หายเป็นปกติ

แต่พบว่าเด็กเหล่านี้ส่วนใหญ่ เมื่อได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและให้ความรู้ความเข้าใจ และคำแนะนำแก่พ่อแม่ รวมทั้งทางโรงเรียน ในการปรับตัวและการปรับพฤติกรรมของเด็ก ก็สามารถช่วยให้เด็กเหล่านี้อยู่ร่วมในสังคมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข และประสบความสำเร็จได้ดีพฤติกรรมของกลุ่มแอสเพอร์เกอร์ สามารถแบ่งออกเป็น 3 ด้าน คือ

1. ด้านภาษา การพูดและทักษะการใช้ภาษาอยู่ในเกณฑ์ปกติเด็กอาจพูดได้ถูกหลักไวยากรณ์ แต่ไม่สามารถเข้าใจเนื้อหาที่ลึกซึ้งหรือความหมายโดยนัยที่แฝงอยู่ เช่น มุกตลก คำเปรียบเปรย และคำประชดประชันต่างๆ

2. ด้านสังคม เมื่อต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ อาจมีพฤติกรรมการแสดงออกที่ดูแปลกกว่าเด็กวัยเดียวกัน เช่น ไม่ค่อยมองหน้าหรือสบตาเวลาพูดคุย แยกตัวอยู่คนเดียว ไม่ค่อยสนใจบุคคลรอบข้าง เล่นกับเด็กคนอื่นไม่ค่อยเป็น ไม่รู้จักการทักทาย พอเจอปุ๊บอยากถามอะไร อยากรู้อะไรก็จะพูดโพล่งออกมา ไม่มีการเกริ่นนำ ถามเรื่องที่สนใจโดยไม่เสียเวลา และไม่ค่อยรู้จักกาลเทศะ เรื่องที่พูดคุยมักเป็นเรื่องของตนเองมากกว่าเรื่องอื่นๆ ไม่แสดงความใส่ใจหรือสนใจเรื่องราวของคนอื่น ขาดความเข้าใจหรือเห็นใจผู้อื่น และมักชอบพูดซ้ำๆเรื่องเดิมๆที่ตนเอง สนใจ

3. ด้านพฤติกรรม พวกแอสเพอร์เกอร์ มีความสนใจเฉพาะเรื่องและชอบทำอะไรซ้ำๆ เช่น ถ้าเขามีความสนใจอะไรก็สนใจมากจนถึงขั้นหมกมุ่น โดยเฉพาะกับเรื่องที่ค่อนข้างมีความซับซ้อน และอาจเป็นเรื่องที่คนอื่นไม่สนใจ เช่น แผนที่โลก วงจรไฟฟ้า ยี่ห้อรถยนต์ ดนตรีคลาสสิก ไดโนเสาร์ ระบบสุริยจักรวาล ฯลฯ โดยความสนใจเหล่านี้อาจเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลา

เด็กกลุ่มอาการแอสเพอร์เกอร์ มักมีสติปัญญาดี มีความสามารถในการช่วยเหลือตนเองในเรื่องต่างๆ ที่ต้องทำในชีวิตประจำวัน บางคนอาจมีปัญหาเรื่องที่ไม่สามารถมีสมาธิกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้นานนัก หรือมีปัญหาในการจัดลำดับเรื่องต่างๆ และมีทักษะในบางเรื่องที่อาจจะดูดีกว่าเด็กอื่น แต่โดยรวมแล้วเด็กเหล่านี้จะมีระดับสติปัญญาที่เป็นปกติ หรืออาจจะดีกว่าปกติ

...

สิ่งที่ดีที่สุดในการดูแลเด็กกลุ่มนี้ คือ การให้ความรักความเข้าใจ และให้การสนับสนุนอย่างถูกต้องเหมาะสม เพราะแอสเพอร์เกอร์ซินโดรม ไม่ใช่โรคร้ายที่มีอาการุนแรง เมื่อได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและให้ความรู้ความเข้าใจ และคำแนะนำแก่พ่อแม่ รวมทั้งทางโรงเรียน ในการปรับตัวและการปรับพฤติกรรมของเด็ก ก็สามารถช่วยให้เด็กเหล่านี้อยู่ร่วมในสังคมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข และประสบความสำเร็จได้ดี

ถ้าอยากรู้จักลักษณะอาการแอสเพอร์เกอร์มากขึ้น แนะนำภาพยนตร์ซีรีส์ Move to Heaven แล้วคุณจะรู้ว่ายังมีอะไรแปลกๆอีกมากในโลกใบนี้.