- หลายคนอาจคิดว่า ‘พิลาทิส’ (Pilates) กับ ‘โยคะ’ (Yoga) เป็นการออกกำลังกายที่คล้ายกัน แต่แท้จริงแล้ว พิลาทิสจะเน้นการฝึกกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวที่ช่วยรักษาสมดุลให้กับแนวกระดูกสันหลัง ส่วนโยคะจะเน้นการสำรวจจิตใจ และมุ่งสร้างความยืดหยุ่นให้กับกล้ามเนื้อเป็นหลัก
- กล่าวคือพิลาทิสจะมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การพัฒนาความแข็งแรงและความยืดหยุ่นให้แก่ผู้ฝึกไปพร้อมกัน แต่เหนืออื่นใด มันคือการฝึกให้ร่างกายของเราสามารถ ‘ออกแรงได้อย่างสมดุล’ โดยรู้จักวิธีควบคุมกล้ามเนื้อกับลมหายใจไปด้วยอยู่ตลอดเวลา
- พิลาทิสจึงกลายมาเป็นเทรนด์การออกกำลังกายในหมู่นักแสดง, ไอดอล รวมถึงนักกีฬาทั่วโลก (เช่น เจนนี่ วง Blackpink) ซึ่งกว่าที่เหล่าเซเลบฯ จะได้หุ่นสวยๆ มานั้น ก็เป็นผลมาจากการฝึกฝนพิลาทิสอย่างสม่ำเสมอจนร่างกายมีความแข็งแรงและยืดหยุ่น พร้อมที่จะโพสท่าและทำงานด้วยความมั่นใจได้อย่างที่เราเห็นกันนั่นเอง
“พิลาทิส (Pilates) เหมือน โยคะ (Yoga) หรือคล้ายๆ กันใช่ไหมครู?” น่าจะเป็นหนึ่งในคำถามยอดนิยมที่เหล่าผู้ฝึกหน้าใหม่ มักโยนใส่ผู้สอน (Instructor) ในห้องเรียนพิลาทิสหนแรกๆ
ในการตอบคำถามข้างต้นเพื่อให้ผู้เริ่มฝึกเข้าใจพิลาทิสเสียใหม่ ครูบางคนอาจอ้างถึง 'วิธีการหายใจ' ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน เพราะพิลาทิสจะหายใจเข้าทางจมูกและหายใจออกทางปาก ขณะที่โยคะจะหายใจเข้าและออกผ่านทางจมูกเป็นหลัก แต่ถ้าต้องตอบอย่างเจาะจงลงลึก ก็อาจบอกได้ว่า พิลาทิสจะเน้นการฝึกกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวที่ช่วยรักษาสมดุลให้กับแนวกระดูกสันหลัง ส่วนโยคะจะเน้นการสำรวจจิตใจและมุ่งสร้างความยืดหยุ่นให้กับกล้ามเนื้อเป็นหลัก
...
กล่าวคือพิลาทิสจะมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การพัฒนาความแข็งแรงและความยืดหยุ่นให้แก่ผู้ฝึกไปพร้อมกัน แต่เหนืออื่นใด มันคือการฝึกให้ร่างกายของเราสามารถ ‘ออกแรงได้อย่างสมดุล’ โดยรู้จักวิธีควบคุมกล้ามเนื้อกับลมหายใจไปด้วยอยู่ตลอดเวลา
ศาสตร์จากโลกตะวันตกอย่างพิลาทิสริเริ่มมาจาก โจเซฟ พิลาทิส ซึ่งได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในประเทศอเมริกามานานหลายทศวรรษ ก่อนที่จะพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนกลายมาเป็นเทรนด์การออกกำลังกายในหมู่นักแสดง, ไอดอล รวมถึงนักกีฬาทั่วโลก
ไอดอลหญิงเกาหลี ฝึกพิลาทิสไม่ใช่แค่เพื่อ ‘หุ่นเป๊ะ’ เท่านั้น
สำหรับอาชีพที่ต้องพึ่งพารูปร่างชวนฝันอย่าง ‘ไอดอล’ นั้น ทุกคนล้วนต้องมีวินัยในการควบคุมอาหารเพื่อกำหนดปริมาณแคลอรีที่ทานเข้าไปในแต่ละวัน รวมถึงรู้จักการออกกำลังกายที่พอเหมาะกับตัวเองด้วย ฉะนั้น หุ่นเอวเอส (S) ของเหล่าไอดอลหญิงที่หญิงสาวทั่วโลกปรารถนาจึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่มันคือรางวัลแห่ง ‘ความมุมานะ’ ตลอดหลายปี
เมื่อมองผ่านหน้าฉากของการร้องเพลง การแสดงสีหน้าอารมณ์ และการออกท่าเต้นตามสเตปอย่างหนักหน่วงของไอดอลเกาหลีหน้าสวยหุ่นดีในแต่ละโชว์แล้ว เราจะได้พบกับชีวิตหลังฉากที่พวกเธอต้องหมั่นฝึกซ้อม เรียนเต้น และสั่งสมประสบการณ์ต่างๆ ก่อนจะได้เดบิวต์ (เปิดตัว) แต่ท่ามกลางอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีที่มีอัตราการเติบโตและการแข่งขันกันค่อนข้างสูง เด็กฝึกผู้ใฝ่ฝันอยากเป็นไอดอลหลายคนจึงต้องยอมแลกความเป็นอิสระกับตารางชีวิตอันแสนเหนื่อยหนักเหล่านั้น อันเป็นสาเหตุให้ร่างกายของพวกเธอถูกใช้งานจนเกิดอาการ ‘สึกหรอ’ อยู่บ่อยครั้ง พิลาทิสจึงเป็นเหมือนอีกหนึ่งหนทางในการ ‘ซ่อมแซม’ ร่างกายของพวกเธอ
เจนนี่ หนึ่งในสมาชิกวงไอดอลชื่อดังอย่าง แบล็กพิงก์ (Blackpink) เคยเผยในสารคดี Blackpink: Light Up the Sky (2020) ว่า เธอมักมีอาการ ‘ปวดหลัง’ ยามต้องออกทัวร์คอนเสิร์ต เพราะการต้องขึ้นโชว์บนเวทีนั้นแทบไม่ต่างอะไรกับการออกกำลังกายแบบมาราธอนที่ใช้เวลาหลายชั่วโมง ประกอบกับการที่ตัวเธอเป็นคนที่ป่วยบ่อยที่สุดในบรรดาสมาชิกวงทั้งหมด การหันมาฝึกพิลาทิสสำหรับเจนนี่จึงคล้ายเป็นการได้กลับมาให้เวลากับตัวเองมากขึ้น ทำความรู้จักกับร่างกายและค่อยๆ ฟื้นฟูมันจากอาการบาดเจ็บที่เคยมี รวมถึงได้ค้นพบช่วงเวลาผ่อนคลายกับครูฝึกที่กลายมาเป็นเพื่อนสนิทเพียงไม่กี่คนในชีวิตของเธอด้วย
ส่วน คิมแทยอน จากวง เกิร์ลส์ เจเนอเรชั่น (Girls' Generation หรือ SNSD) ก็เป็นอีกหนึ่งไอดอลที่ฝึกพิลาทิสอย่างสม่ำเสมอ โดยท่วงท่าในการฝึกของเธอนั้นจะยากขึ้นเรื่อยๆ ตามระดับความแข็งแรงของร่างกาย ดังที่เราได้เคยเห็นภาพต่างๆ ใน Instagram ของเธอ จนเพื่อนร่วมวงอย่าง ฮโยยอน ถึงขั้นออกปากแซวว่า “อีกนิดเธอก็จะไต่กำแพงได้อยู่แล้วนะ!”
และก็ไม่ใช่แค่ไอดอลสองคนนี้เท่านั้นที่เล็งเห็นประโยชน์ของพิลาทิส สมาชิก IZ*ONE -วงไอดอลที่เพิ่งยุติสัญญาการทำงานไปเมื่อไม่นาน- อย่าง ฮิโตมิ, ควอนอึนบี และ จางวอนยอง หรือสมาชิกวง Cosmic Girls หรือ WJSN อย่าง เอ็กซี่, ดายอง และ ซูบิน ก็ล้วนให้ความสำคัญกับการดูแลร่างกายของตัวเองด้วยศาสตร์นี้เช่นกัน
...
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าไอดอลฝั่งบอยแบนด์ของเกาหลีจะเน้นไปที่การฝึกเวทเทรนนิ่ง (Weight Training) เพื่อสร้างกล้ามเนื้อเสียมากกว่า เราจึงไม่ค่อยได้เห็นไอดอลหนุ่มๆ มาฝึกพิลาทิสกัน ตรงข้ามกับนักกีฬาและนักแสดงในฮอลลีวูดชายหลายคนที่กลับให้ความสำคัญกับพิลาทิสไม่แพ้เซเลบฯ ผู้หญิงเลย
ใครว่า ‘ผู้ชาย’ ฝึกพิลาทิสไม่ได้
เลอบรอน เจมส์ คือนักกีฬาชายที่ได้รับฉายา 'ราชาแห่ง NBA' ในวงการบาสเกตบอลยุคนี้ ซึ่งด้วยความสูง 6 ฟุต 8 นิ้วและน้ำหนัก 113 กิโลกรัม พร้อมกับกล้ามเนื้อมัดโต ก็ทำให้เขาแทบไม่ต่างอะไรจาก ‘อาวุธมหาประลัย’ ที่พร้อมบุกตะลุยกับทีมคู่แข่ง
แต่เคล็ดลับสำคัญที่เขาเคยเผยกับสื่อก็คือ การฝึกพิลาทิสที่ถูกเพิ่มเติมเข้าไปในโปรแกรมการออกกำลังกายของเขา นอกเหนือจากการฝึกซ้อมหลัก เพราะไม่เพียงเป็นการฟื้นฟูร่างกายที่บาดเจ็บ แต่มันยังเป็นศาสตร์และศิลป์ในการควบคุมการเคลื่อนไหวสำหรับเขาด้วย ซึ่งผลลัพธ์ที่เกิดจากการฝึกนี้ก็ทำให้เขาสามารถวิ่งได้เร็วขึ้น กระโดดสูงขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้ร่างกายสามารถ ‘ตอบสนองและสั่งการเอง’ ได้เป็นระบบอย่างน่ามหัศจรรย์
...
ด้วยเหตุนี้นักกีฬา NBA คนอื่นๆ อาทิ เจมส์ ฮาร์เดน, เจสัน คิดด์ และ เจ เจ เรดิก จึงล้วนแล้วแต่ฝึกพิลาทิส ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแม้กระทั่งบุคลากรในวงการกีฬาเอง ต่างก็ให้ความสำคัญกับการออกกำลังกายในศาสตร์นี้กันอย่างถ้วนหน้า
ส่วนในฝั่งของนักแสดง ฮิวจ์ แกรนต์ คือชายหนุ่มชาวอังกฤษวัย 60 ที่โด่งดังจากการรับบทนำในหนังตลกโรแมนติกอย่าง Notting Hill (1999), Bridget Jones’ Diary (2001) และ Music and Lyrics (2007) ผู้ออกมาเปิดเผยว่า เขาเข้าสู่วงการฝึกพิลาทิสมานานกว่าสิบปีแล้ว โดยเจ้าตัวกล่าวอย่างอารมณ์ดีว่า “พิลาทิสช่วยให้กล้ามเนื้อของผมพัฒนาขึ้นมาก แถมยังทำให้ผมดูเด็กลงด้วยครับ”
ไม่ว่าหญิงหรือชาย ทุกคนก็สามารถฝึกพิลาทิสได้
ชายหนุ่มหญิงสาวคนดังในข้างต้น อาจเป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ สำหรับคนที่หลงใหลในศาสตร์ดังกล่าว แต่อันที่จริง พิลาทิสนั้นเหมาะกับ ‘คนทุกเพศทุกวัย’ เพราะมันคือศาสตร์แห่งการควบคุมร่างกายให้สอดรับกับลมหายใจ และเป็นการฝึกสั่งการสมองเพื่อควบคุมกล้ามเนื้อและอวัยวะต่างๆ อย่างเป็นระบบ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่นักกายภาพฟื้นฟูหลายคนมักแนะนำให้คนไข้ที่ต้องทำกายภาพบำบัดไปฝึกพิลาทิส เพื่อช่วยให้ร่างกายกลับมาเป็นปกติและมีสมดุลได้ง่ายขึ้น
พิลาทิสเป็นการออกกำลังกายที่ค่อยๆ เป็นที่แพร่หลายในประเทศไทยตลอดช่วงหลายปีมานี้ และในอนาคตก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งศาสตร์ที่ผู้คนหันมาให้ความสนใจกันมากขึ้น เนื่องด้วยเอกลักษณ์อันน่าทดลองใช้ของอุปกรณ์พิลาทิสที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็น รีฟอร์มเมอร์, คาร์ดิลแลก, สเตบิลิตี้ แชร์ และ แลดเดอร์ บาร์เรล
...
รีฟอร์เมอร์ (Reformer) คืออุปกรณ์ที่ฟิตเนสและสตูดิโอพิลาทิสส่วนมากเลือกใช้ เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่สามารถออกกำลังได้ทุกส่วนของร่างกาย ลักษณะของเครื่องนี้คล้ายกับเตียงนอนโดยตัวเบาะนอน (Carriage) จะสามารถขยับเคลื่อนที่ได้ตามแนวราบ และมีสปริงทำหน้าที่เป็นแรงต้าน โดยผู้ฝึกต้องออกแรงกับแรงต้านของสปริง เพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อมัดที่ต้องการ
คาดิลแลก (Cadillac) เป็นอุปกรณ์ชิ้นแรกที่โจเซฟ พิลาทิส สร้างขึ้น โดยได้รับแรงบันดาลใจจากเตียงผู้ป่วยสนามช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยมีการเพิ่มสปริงเข้าไปเพื่อให้เกิดแรงต้าน ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ฝึกทุกระดับ ตั้งแต่ผู้เริ่มฝึกใหม่ไปจนถึงผู้ฝึกในระดับสูง ซึ่งการฝึกอุปกรณ์ชิ้นนี้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญหรือครูผู้ฝึกมืออาชีพเท่านั้น เพื่อป้องกันอันตรายจากท่าฝึกและเน้นในความถูกต้องของการใช้กล้ามเนื้อแต่ละส่วน
สเตบิลิตี้ แชร์ (Stability Chair) อาจดูมีลักษณะทั่วไปคล้ายกับเก้าอี้ตามบ้าน ที่แม้จะดูเป็นอุปกรณ์ชิ้นเล็ก แต่ผู้ฝึกทุกระดับย่อมรู้ดีในอานุภาพของมัน เพราะความ 'จิ๋วแต่แจ๋ว' ของแชร์สามารถทำให้เราเหนื่อยได้ไม่ใช่เล่น โดยท่าออกกำลังกายที่โดดเด่นของอุปกรณ์ชิ้นนี้ก็คือ ท่าบริหาร 'ครึ่งล่าง' ของร่างกาย ตั้งแต่ต้นขา, ก้น, ขาด้านหลัง, น่อง ไปจนถึงกล้ามเนื้อเล็กๆ ที่ปลายเท้า ซึ่งต้องผ่านการควบคุมจากหน้าท้องเพื่อประคองลำตัวให้อยู่นิ่งได้มากที่สุด
แลดเดอร์ บาร์เรล (Ladder Barrel) มีรูปร่างทางกายภาพที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้สอดรับกับการออกกำลังกายที่ต้องใช้กล้ามเนื้อแนวกระดูกสันหลัง รวมไปถึงกล้ามเนื้อมัดอื่นๆ ซึ่งมันจะช่วยสร้างความแข็งแรงพร้อมกับพัฒนาความยืดหยุ่นให้ไปในเวลาเดียวกัน และแม้มันจะเหมาะกับผู้ฝึกทุกระดับ แต่ก็ควรอยู่ภายใต้การดูแลของเทรนเนอร์มืออาชีพเช่นกัน
อย่างไรก็ดี การฝึกพิลาทิสไม่จำเป็นต้องฝึกบนอุปกรณ์เหล่านี้เท่านั้น แต่ยังมีอุปกรณ์ที่เรียบง่ายและราคาไม่แพงอย่าง ‘เสื่อพิลาทิส’ (Pilates Mat) ซึ่งแตกต่างจากเสื่อโยคะตรงความ ‘หนา’ และความ ‘นุ่ม’ ที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับการกดทับกับพื้นของกล้ามเนื้อแนวกระดูกสันหลัง โดยเฉพาะในท่าออกกำลังกายที่ผู้ฝึกต้องนอนลง (ส่วนเสื่อโยคะจะ ‘บาง’ และ ‘หนืด’ กว่าเพื่อป้องกันการลื่น) ซึ่งแม้ท่าฝึกบนเสื่อหลายท่าของพิลาทิสจะคล้ายคลึงกับท่าโยคะ หากแต่ท่าพิลาทิสจะเน้นไปที่แกนกลางของลำตัวเป็นหลัก ต่างจากโยคะที่เน้นการยืดเหยียดของกล้ามเนื้อ
เมื่อพิลาทิสให้ความสำคัญกับการสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว และรักษาสมดุลให้กับกล้ามเนื้อแนวกระดูกสันหลัง รวมไปถึงเป็นการปรับบุคลิกภาพ โดยนำเอาหลักการเคลื่อนไหวทางกายวิภาคมาออกแบบเป็นท่าออกกำลัง ...ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่ศาสตร์นี้อย่างจริงจัง ผู้ฝึกพิลาทิสแต่ละคนจึงต้องได้รับการปูพื้นฐานเบื้องต้นในช่วงแรกๆ เกี่ยวกับเรื่องการหายใจแบบพิลาทิส (Breathing), การวางตำแหน่งของอุ้งเชิงกราน (Pelvic Placement), การวางตำแหน่งซี่โครง (Rib Cage Placement), การเคลื่อนไหวและการควบคุมสะบักให้มั่นคง (Scapular Movement & Stabilization) และการวางตำแหน่งของศีรษะและต้นคอ (Head & Cervical Placement) เพื่อให้การฝึกฝนร่างกายด้วยศาสตร์นี้ได้ประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดกับตัวผู้ฝึก
โจเซฟ พิลาทิส เคยกล่าวไว้ว่า ‘ศาสตร์แห่งการควบคุม’ ที่สมบูรณ์แบบ คือการทำงานร่วมกันของร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ หากผู้ฝึกเข้าใจในหลักการเบื้องต้นของพิลาทิสแล้ว การออกกำลังกายแต่ละครั้ง (Session) ไม่ว่าจะเป็นการฝึกแบบกลุ่ม (Group Class) หรือการฝึกแบบตัวต่อตัว (Private) ครูผู้สอนก็จะออกแบบการฝึกให้เหมาะกับผู้ฝึกแต่ละคน/กลุ่ม โดยให้ความสำคัญกับความถูกต้องของการจัดระเบียบร่างกายเพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บ และเพื่อโฟกัสกับกล้ามเนื้อที่กำลังออกแรงอยู่นั่นเอง ซึ่งผู้ฝึกแต่ละคนจะสังเกตพัฒนาการของร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปได้หลังจากฝึกอย่างต่อเนื่องใน 10 ครั้งแรก และถ้าหากฝึกฝนไปเรื่อยๆ ผู้ฝึกจะรับรู้ได้ทันทีว่าอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ร่างกายแบบผิดๆ จะหายไป ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดหลังหรือเมื่อยคอ บ่า ไหล่
ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่า กว่าที่เหล่าเซเลบฯ จะได้หุ่นสวยๆ มานั้น ก็เป็นผลมาจากการฝึกฝนพิลาทิสอย่างสม่ำเสมอจนร่างกายมีความแข็งแรงและยืดหยุ่น พร้อมที่จะโพสท่าและทำงานด้วยความมั่นใจได้อย่างที่เราเห็นกันนั่นเอง ซึ่งการจะได้มาซึ่งสุขภาพที่ดี ร่างกายที่แข็งแรงอย่างยั่งยืน (และไม่ปวดหลังได้ง่ายเมื่อตอนอายุมากขึ้น) การออกกำลังกายอย่างถูกต้องถือเป็นสิ่งสำคัญและไม่ควรมองข้ามสำหรับทุกคน
และบางที ‘พิลาทิส’ ก็อาจกลายเป็นคำตอบของใครหลายคนก็เป็นได้
อ้างอิง: Koreaboo, Stack, Tone Pilates, Pilates Tools, Pilates Review, Merrithew.com, Malaya Pilates
- Stott Pilates Education - Essential Reformer Manual