อาการเวียนหัว บ้านหมุน เป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ซึ่งคนที่มีอาการนี้ จะมีประมาณ 10-20% เท่านั้น ที่มีโอกาสจะเป็น “โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน” ซึ่งคอลัมน์ “ศุกร์สุขภาพ” สัปดาห์นี้จะพาไปรู้จักโรคนี้กัน

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน คือ อะไร

“โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน” หรือ “โรคเมเนีย (Meniere’s disease)” เกิดจากความผิดปกติของหูชั้นใน กล่าวคือ มีความผิดปกติ หรือสาเหตุบางอย่างที่ทำให้เกิดอาการบวมของหูชั้นใน อาการที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะเป็นทีละข้าง เมื่อความบวมของหูทั้งสองข้างไม่เท่ากัน ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าการทรงตัวไม่ดี มีอาการเวียนหัว และบ้านหมุนตามมา

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง

การบวมของหูชั้นใน เกิดจากสาเหตุหลายประการ เช่น การติดเชื้อของหูชั้นใน โรคของภูมิคุ้มกันบางชนิด หรือแม้แต่กระทั่งอาหารที่มีรสเค็ม โซเดียม ซอสต่างๆ อาหารสำเร็จรูป ผงฟู เป็นต้น ก็จะทำให้คนไข้มีอาการ

อาการ

คนไข้จะมาด้วยอาการเวียนหัวอย่างรุนแรง ร่วมกับความรู้สึกบ้านหมุน มีเสียงรบกวนในหู หรือสูญเสียการได้ยิน ซึ่งถ้าไม่รักษาอาจจะทำให้การได้ยินลดลงเรื่อยๆ จนอาจจะสูญเสียการได้ยินไปตลอด

การวินิจฉัยโรค

แพทย์จะซักประวัติคนไข้ และประเมินว่ามีอะไรที่เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการของโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน จากนั้นจะตรวจการได้ยิน และตรวจความบวมของหูชั้นใน ซึ่งเป็นการตรวจเฉพาะทาง ก็จะสามารถวินิจฉัยได้ว่าเป็นโรคนี้หรือไม่

...

การได้ประวัติจากคนไข้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการวินิจฉัย เพราะจะบ่งถึงอาการ ตัวกระตุ้นที่มีลักษณะเฉพาะของโรคนี้ได้ รวมถึงแพทย์อาจพิจารณาส่งตรวจการได้ยิน หรือตรวจพิเศษเพิ่มเติมให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายต่อไป

การรักษา

ดูแลสุขภาพโดยรวมของตนเองให้ดี หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีโซเดียม ผงชูรสต่างๆ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

หากดูแลตนเองดังที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว อาการยังไม่ทุเลาลง ก็จะรักษาด้วยการให้ยา ซึ่งหากคนไข้ยังไม่ดีอีก ก็จะพิจารณาการรักษาโดยการผ่าตัด เพื่อระบายน้ำออกจากหูชั้นใน ซึ่งจะสามารถควบคุมอาการเวียนหัวและรักษาระดับการได้ยินไว้ได้

การดูแลตนเอง

หากได้รับยา ก็ควรกินยาอย่างต่อเนื่อง และหลีกเลี่ยงการกินอาหารรสเค็ม นอกจากนี้ ขณะที่มีอาการเวียนหัว บ้านหมุน ไม่ควรทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เช่น ขับรถ เล่นกีฬา เป็นต้น ในผู้สูงอายุก็จะต้องระวังเรื่องการหกล้ม เพราะหากเกิดขึ้นแล้ว ก็จะเป็นอันตรายต่อตัวผู้สูงอายุ และอาจนำไปสู่การทุพพลภาพได้

การป้องกัน

ในคนที่ยังไม่มีอาการ ก็ควรดูแลสุขภาพโดยรวมของตนเองให้ดีโดยการกินอาหารที่ดี มีประโยชน์ กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีโซเดียม อาทิ อาหารรสเค็ม ผงชูรส ผงฟู อาหารแปรรูป อาหารสำเร็จรูปต่างๆ และควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

__________________________________

แหล่งข้อมูล

อ. พญ.ศิวะพร เกียรติธนะบำรุง ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล