เราวัด "อุณหภูมิ" ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ และที่ไหน จะว่าไปแล้วทุกวันนี้เครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟราเรด แทบจะเป็นอุปกรณ์ที่ใครๆ ต้องพบเจออยู่ตลอดเวลา เพราะไม่ว่าจะไปที่ไหน อย่างไร ทุกที่ล้วนต้องวัดอุณหภูมิร่างกายทั้งสิ้น เปรียบเสมือนเครื่องวัดอุณหภูมิเป็นด่านแรก ที่ต้องเผชิญเมื่อก้าวขาออกจากบ้าน ถ้าอุณหภูมิสูงไม่เกินกว่าที่กำหนด ก็สามารถเข้าไปด้านในได้ แต่ก็เชื่อเหลือเกินว่า ต้องมีหลายคนที่แอบกังวลใจอยู่ไม่น้อย เมื่อพบว่า...อุณหภูมิของเราสูงเฉียด 37.5 องศาเซลเซียลเข้าไปทุกที สรุปแล้วเราเป็นโควิด-19 หรือแค่อุณหภูมิสูงเฉยๆ นี่แหละ...ที่หลายคนแอบเครียด ลุ้นกันแทบทุกครั้งที่วัดเลยก็ว่าได้ ดังนั้นมาค่ะ...เราอยากพาทุกคนมารู้จักเรื่องราวของ "อุณหภูมิ" ให้มากยิ่งขึ้น เผื่อจะได้หายกังวลใจกันเสียที

รู้ลึกเรื่อง "อุณหภูมิ"

"อุณหภูมิ" ของร่างกายปกติ

โดยปกติแล้ว "อุณหภูมิ" ของร่างกายมนุษย์จะค่อนข้างคงที่ ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงมากเท่าไรนัก แม้อุณหภูมิภายนอกจะเปลี่ยนแปลงไปก็ตาม นั่นเป็นเพราะมนุษย์เรา มีกลไกในการรักษาสมดุลในร่างกาย คือเมื่อเจออากาศร้อน ร่างกายจะขับเหงื่อ หรือกระตุ้นให้รู้สึกหิวน้ำ หรือหากเจอสภาพอากาศที่เย็น จะรู้สึกหนาวและขนลุก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็คือกลไกที่ร่างกายพยายามจะรักษาสมดุลในตัวเองเอาไว้ เพื่อให้อุณหภูมิในร่างกายของเราอยู่ในเกณฑ์ปกตินั่นเอง

...

แต่ละช่วงเวลา "อุณหภูมิ" ก็เปลี่ยนไป

ถึงแม้ว่าอุณหภูมิของคนเราจะคงที่ แต่ก็ไม่ได้คงที่ตลอดเวลา โดยจะมีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย ย้ำว่าเพียงเล็กน้อย โดยจะเปลี่ยนแปลงตามแต่ละช่วงของวัน ทั้งนี้ในเวลาเช้าอุณหภูมิของร่างกายจะต่ำกว่าอุณหภูมิตอนบ่ายหรือเย็น และในช่วง 15.00-17.00 น. อุณหภูมิมักจะสูงสุด และจะค่อยๆ ลดลงจนต่ำสุดในเวลา 23.00-01.00 น. และจะเพิ่มสูงขึ้นอีกเช่นนี้ทุกวัน การเปลี่ยนแปลงของ อุณหภูมิร่างกายเช่นนี้สังเกตเห็นได้ชัดในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ แต่อย่างไรก็ตามอุณหภูมิร่างกายนั้น ยังขึ้นอยู่กับการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ การออกกำลังกาย และขึ้นกับระดับฮอร์โมนในร่างกายด้วย

"อุณหภูมิ" ปกติคือ?

คุณรู้หรือไม่?... "อุณหภูมิ" ปกติของร่างกายจะอยู่ที่เท่าไร และแต่ละคนก็มีอุณหภูมิที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับหลายสาเหตุและหลายปัจจัยด้วย โดยในความเป็นจริงอุณหภูมิของร่างกายจะอยู่ระหว่าง 36.5-37.4 องศาเซลเซียสโดยประมาณ สำหรับผู้ที่เริ่มมีไข้ หรือสงสัยว่าติดเชื้อโควิด-19 จะมีอุณหภูมิมากกว่า 37.5 องศาเซลเซียส เป็นต้นไป จึงไม่แปลกเลยที่หลายที่จะระบุว่า "37.5 องศาเซลเซียลห้ามเข้าเด็ดขาด"

"อุณหภูมิ" เท่าไรจึงจะมีไข้

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา หรือ CDC ให้ข้อมูลว่า เมื่อร่างกายมี "อุณหภูมิ" ประมาณ 38 องศาเซลเซียส ร่วมกับมีอาการตัวร้อนที่สัมผัสได้ ซึม หน้าแดง ตัวแดง หรือมีอาการผิดปกติอื่นๆ และที่สำคัญหากวัดไข้ภายใน 48 ชั่วโมง แล้วยังมีอุณหภูมิร่างกายที่สูงกว่าปกติ ก็จัดว่ามีอาการไข้แล้ว แต่อย่างไรก็ตามเกณฑ์การวัดไข้ทั่วไป ก็มีหลายระดับที่ว่า มีไข้ต่ำๆ หรือไข้สูงนั่นเอง ระดับของอุณหภูมิที่มีไข้ คือ...

- ไข้ต่ำ อุณหภูมิจะอยู่ที่ 37.6-38.3 องศาเซลเซียส

- ไข้ปานกลาง อุณหภูมิจะอยู่ที่ 38.4-39.4 องศาเซลเซียส 

- ไข้สูง อุณหภูมิจะอยู่ที่ 39.5-40.5 องศาเซลเซียส

- ไข้สูงมาก อุณหภูมิจะอยู่ที่ 40.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป

ตำแหน่งวัดอุณหภูมิร่างกาย

การวัด "อุณหภูมิ" ของร่างกายนั้นจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่วัดด้วยค่ะ โดยการวัดอุณหภูมิจะวัดใน 4 ตำแหน่ง คือ หู ใต้ลิ้น รักแร้ และทวารหนัก ซึ่งแต่ละตำแหน่งนั้นจะมีอุณหภูมิที่แตกต่างกัน ทั้งนี้การวัดก็ต้องรู้ด้วยว่าตำแหน่งนั้น ควรมีอุณหภูมิเท่าไร ไม่อย่างนั้นจะเป็นไข้กันทุกคนแน่ๆ เช่น หู 38 องศาเซลเซียล, ใต้ลิ้น 37.8 องศาเซลเซียล, รักแร้ 37.2 องศาเซลเซียล, ทวารหนัก 38 องศาเซลเซียล ขณะที่การวัดในปัจจุบันที่ใช้ฝ่ามือหรือหน้าผากผ่านเครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟราเรด จะอยู่ที่ 37 องศาเซลเซียล 

สาเหตุที่ทำให้ "อุณหภูมิ" เปลี่ยนแปลง

เพศ

เพศหญิงมีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิร่างกายมากกว่าเพศชาย เนื่องจากฮอร์โมนของเพศหญิงมีผลอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงของการมีประจำเดือน จะมีการหลั่งฮอร์โมนโพรเจสเทอโรนมากขึ้น ในช่วงระยะที่มีการตกไข่ ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิของร่างกายเพิ่มขึ้น 0.3-0.5 องศาเซลเซียส

...

อายุ

อายุมีผลต่ออุณหภูมิ โดยอุณหภูมิร่างกายเด็ก จะมีการเปลี่ยนแปลง ไม่มั่นคง ทั้งนี้เนื่องจากศูนย์ควบคุมอุณหภูมิของร่างกายยังทำงานไม่เต็มที่จนกว่าจะถึงวัยผู้ใหญ่ การเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมจึงมีผลต่ออุณหภูมิร่างกายเด็ก ทั้งนี้ในเด็กและทารก อุณหภูมิร่างกายปกติจะอยู่ระหว่าง 36.6-37.2 องศาเซลเซียส ขณะที่ผู้ใหญ่จะอยู่ระหว่าง 36.1-37.2 องศาเซลเซียส ส่วนผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป จะมีอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่า 36.2 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าคนวัยอื่นๆ 

ความเครียด

ความเครียดก็ทำให้ "อุณหภูมิ" ร่างกายเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน โดยความเครียดนั้นจะไปกระตุ้นระบบประสาทซิมพาเทติก แล้วเพิ่มการหลั่งสารอิพิเนฟรินและนอร์เอพิเนฟรีน ซึ่งจะเพิ่มอัตราการเผาผลาญภายในเซลล์ ที่มีผลทำให้มีการผลิตความร้อนในร่างกายเพิ่มมากขึ้น

อาหารและโภชนาการ

ภาวะโภชนาการของแต่ละคนจะไม่เท่ากัน คนที่ผอมมากจะมีเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังน้อย ไขมันก็น้อยตาม ส่งผลให้อุณหภูมิของร่างกายต่ำกว่าคนอ้วน ขณะที่อาหารการกินก็มีผลเช่นกัน เช่นการรับประทานเครื่องดื่มร้อนหรือเย็น ก็สามารถทำให้อุณหภูมิเปลี่ยนแปลง รวมถึงผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่ด้วย ที่จะมีอุณหภูมิร่างกายสูงกว่าคนที่ไม่ดื่มและไม่สูบเช่นกัน

กิจกรรมหรือการออกกำลังกาย

คนที่ทำกิจกรรมหนักๆ หรือออกกำลังกายหนักๆ จะช่วยทำให้การทำงานของกล้ามเนื้อ และอัตราการเผาผลาญภายในเซลล์เพิ่มขึ้น ทำให้ร่างกายผลิตความร้อนเพิ่มขึ้นตามด้วย ส่งผลให้อุณหภูมิร่างกายเปลี่ยนแปลงไปในองศาที่สูงขึ้น

ดูแลสุขภาพทั้งภายในและภายนอกด้วยอาหารเสริมแบรนด์ดังๆ มากมาย เพื่อดูแลสุขภาพของคุณให้สดใสสมวัยได้ตลอด หาอาหารเสริมชั้นนำได้ที่ ส่วนลด iHerb คลิกเลย!!

...