เมื่อเราพูดถึง เหตุผลที่ทำไมเราต้อง "ตรวจสุขภาพ" กันไปแล้ว วันนี้เราจะมาพูดถึงการ "ตรวจสุขภาพประจำปี" ว่าเราควรตรวจอะไรบ้าง? และเทคนิคการตรวจสุขภาพที่เหมาะสมกับเรามากที่สุด ควรเลือกและพิจารณาจากอะไร ไปหาคำตอบให้กับตัวเองกัน และที่สำคัญต้นปีแบบนี้สาวๆ จะได้วางแผนเรื่อง "สุขภาพ" กันได้ถูกต้อง เพื่อวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า จงอย่ามองข้ามเรื่องการตรวจสุขภาพไปนะคะ อย่างน้อยจะได้ไปวางแผนเรื่องการเงิน การงาน หรือการทำธุรกิจของตัวเองกันต่อไป ไปดูกันค่ะ เราควร "ตรวจสุขภาพ" ด้วยโปรแกรมตรวจสุขภาพอะไรบ้าง

"ตรวจสุขภาพ" ประจำปี สาวๆ ควรตรวจอะไรบ้าง?

รวมลิสต์รายการ "ตรวจสุขภาพ" ประจำปี

ตรวจร่างกายทั่วไป 

โดยเป็นการตรวจสุขภาพโดยแพทย์ ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่แพทย์จะสอบถามประวัติการเจ็บป่วย โรคของคนในครอบครัว ประวัติอาการต่างๆ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ประวัติการใช้ยา รวมถึงพฤติกรรมต่างๆ ที่อาจส่งผลต่อสุขภาพ โดยจะตรวจร่วมกับการตรวจร่างกายเบื้องต้น เช่น การตรวจวัดความดันโลหิต ตรวจหาดัชนีมวลกาย ประกอบกับการตรวจร่างกายเบื้องต้นโดยแพทย์ ซึ่งจะช่วยให้สามารถแยกโรคได้ในระดับหนึ่ง

...

ตรวจสุขภาพตาโดยจักษุแพทย์ 

การตรวจสุขภาพตาโดยจักษุแพทย์ เป็นตรวจสุขภาพตาทั่วไป ที่ตรวจวัดความสามารถในการมองเห็นและความดันลูกตา โดยการตรวจต่างๆ เหล่านี้เหมาะกับกลุ่มคนวัยทำงานขึ้นไป จนถึงผู้สูงอายุ ทั้งสุภาพบุรุษและสุภาพสตรี เพื่อค้นหาความเสี่ยงต่อโรคทางตา

ตรวจเลือด

เรื่องเลือดเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเลือดจะบ่งชี้อาการเจ็บป่วยในร่างกายได้หลายโรคทีเดียว โดยจะตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด เพื่อหาความผิดปกติของส่วนประกอบของเลือด ได้แก่ เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด ประเมินความเข้มข้นของเลือด ซึ่งอาจบอกถึงสภาวะผิดปกติได้ เช่น ภาวะโลหิตจาง ภาวะที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันของร่างกาย จำนวนเกล็ดเลือด รวมถึงโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว

ตรวจน้ำตาลในเลือด

สาวๆ ที่มีอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด และค่าน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือดทุกๆ ปี เพราะยุคสมัยนี้อาหารแต่ละอย่างนั้นล้วนมีส่วนผสมของน้ำตาลอยู่เสมอ ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันและนำไปปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกันต่อไป สาวๆ ควรตรวจน้ำตาลเพื่อประเมินความเสี่ยง และคัดกรองโรคเบาหวาน

ตรวจไขมันในเลือด

เราตรวจวัดระดับไขมันในเลือดทุกๆ ปี เพื่อดูระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ รวมถึงไขมันคอเลสเตอรอลชนิดดี และคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี เพื่อประเมินความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง

ตรวจการทำงานของไต

ตรวจการทำงานของไต เป็นการตรวจเลือดเพื่อดูระดับค่าครีเอตินิน ซึ่งเป็นของเสียที่เกิดขึ้นจากกล้ามเนื้อ และค่า Blood Urea Nitrogen ซึ่งเป็นค่าของเสียจากการย่อยสลายโปรตีน เพื่อประเมินความสามารถในการกรองและขับของเสียของไต

ตรวจตับ

ตรวจเช็กการทำงานของตับเพื่อดูความผิดปกติของตับ และทางเดินน้ำดี โดยตรวจหาเอนไซม์และสารต่างๆ ในเลือด เพื่อหาภาวะตับอักเสบ ตับเสื่อมสภาพ หรือภาวะดีซ่าน

ตรวจกรดยูริก

เพื่อประเมินระดับกรดยูริกซึ่งอาจมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคเกาต์ หรือนิ่วกรดยูริก โดยเฉพาะคนที่มีอาการปวดข้อ มีอาการข้ออักเสบ หรือข้อพิการ ซึ่งสุ่มเสี่ยงเป็นโรคเกาต์

ตรวจไวรัสตับอักเสบ 

โดยไวรัสตับอักเสบบีสามารถตรวจคัดกรองการติดเชื้อเบื้องต้นได้ โดยเฉพาะผู้หญิงที่เกิดก่อนปี พ.ศ.2535

ตรวจสารบ่งชี้มะเร็ง

ตรวจสารบ่งชี้มะเร็ง ได้แก่ การตรวจสารบ่งชี้มะเร็งทางเดินอาหาร และการตรวจสารบ่งชี้มะเร็งตับ

ตรวจปัสสาวะ

การตรวจปัสสาวะ เป็นการช่วยในการวินิจฉัยโรคในระบบทางเดินปัสสาวะเบื้องต้น รวมถึงโรคอื่นๆ ที่อาจมีความเกี่ยวข้องกับระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น โรคเบาหวาน

"ผู้หญิง" ควร "ตรวจสุขภาพ" อะไรเพิ่มเติม?

...

1. ตรวจเต้านม

ผู้หญิงในช่วงอายุ 25-30 ปี ควรได้รับการตรวจเต้านมทุกปี จากแพทย์หรือบุคลากรสาธารณสุขที่ได้รับการฝึกอบรมมาอย่างดี ส่วนใครที่มีอายุ 31-39 ปี ควรได้รับการตรวจเต้านมบ่อยๆ นะคะ

2. ตรวจมะเร็งปากมดลูก

การตรวจมะเร็งปากมดลูก เป็นการ "ตรวจสุขภาพ" ที่สำคัญมากๆ สำหรับผู้หญิงทุกคน ทั้งที่มีแฟนและไม่มีแฟน โดยเฉพาะผู้หญิงที่อายุ 30 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจคัดกรองด้วยวิธีป้ายหาความผิดปกติโดยใช้กรดอะซิติก ทุกๆ ปีไปเลยจ้า เพราะสมัยนี้โรคภัยมาเร็วกว่าที่เราคิดเยอะ

ทั้งหมดคือ...ลิสต์รายการ "ตรวจสุขภาพ" ประจำปีของผู้หญิงวัยทำงานนะคะ สาวๆ จงอย่ามองข้ามไปนะคะ นอกจากนี้เรายังขอแนะนำเทคนิคการตรวจสุขภาพเพิ่มเติม โดยให้สาวๆ ดูที่ "ความเสี่ยง" ในการใช้ชีวิตประจำวันเป็นหลัก โดยให้ถามตัวเองว่า...เรามีปัจจัยเสี่ยงด้านไหน เช่น ถ้าเรื่องกินเก่ง ก็ควรเช็กน้ำตาล ไขมัน ตับ และไต เพิ่มเติม หรือเน้นเป็นพิเศษ แต่ถ้าเราเป็นคนที่คิดเก่งหรือเครียดจัด ก็แนะนำให้ตรวจเช็กฮอร์โมน และอีกข้อที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ "งบประมาณ" ที่เราตั้งไว้ ต้องสัมพันธ์กับความเสี่ยง จะได้ไม่ต้องไปตรวจอะไรที่เกินไปจากความเป็นจริง แล้วทำให้เรากลับไม่มีงบประมาณไปตรวจที่จำเป็น ตรงนี้ฝากไว้เป็นทริกดีๆ สำหรับสาวๆ นะคะ

ลงทุนกับความงาม เท่าไรไม่ว่า แต่กับ "สุขภาพ" ก็ไม่ควรละเลยนะคะ ติดตามอ่านบทความดีๆ เกี่ยวกับ "สุขภาพ" ที่นี่เลยจ้า.