คอลัมน์ กัญชา บทสัมภาษณ์ความเห็นทางวิชาการ โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา และคณะ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน 2562 ณ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผู้เขียน กองบรรณาธิการจุลนิติ (อนุญาตให้เผยแพร่)

สำหรับการปลูกในระดับภาคหรือประเทศนั้น ไม่ได้ปลูกไว้ใช้ แต่เป็นการปลูกเพื่อนำไปให้โรงพยาบาล เพราะจากการคำนวณโรงพยาบาลต้องใช้กัญชาเดือนละไม่ต่ำกว่า 50-60 ตัน สังเกตได้จากการลงทะเบียนแจ้งการครอบครองกัญชาเพื่อรักษาโรคเฉพาะตัวของผู้ป่วยตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 ทางอินเตอร์เน็ต ที่มีผู้สนใจลงทะเบียนเข้ามาประมาณ 140,000 คน

ซึ่งส่วนใหญ่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ไม่ใช่เด็กหรือเยาวชนที่จะนำกัญชามาเสพ จึงทำให้เห็นว่ามีความต้องการใช้กัญชาในปริมาณมาก โดยผู้ที่มีกัญชาในครอบครองอยู่แล้วประมาณ 44,000 คน

ซึ่งเป็นคนป่วยจริง และเมื่อมีความต้องการใช้กัญชาจำนวนมากขึ้น ทั้งจากโรงพยาบาล กรมการแพทย์แผนไทย แพทย์ทางเลือก หรือหมอชาวบ้านที่มาขึ้นทะเบียนแล้ว จึงเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจของกัญชงด้วย เพราะสามารถนำมาทำเสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์

...

และตอนนี้ในต่างประเทศ อาทิ ประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศญี่ปุ่นนิยมนำเส้นใยกัญชงมาใช้ทดแทนเส้นใยสังเคราะห์เพื่อใช้เป็นส่วนประกอบหลักของชิ้นส่วนภายในรถยนต์ เช่น แผงประตู ถาดรอง เบาะส่วนหลัง และส่วนบุผนังที่เก็บของท้ายรถ เป็นต้น

นอกจากนี้ ถ้าเปรียบเทียบคุณสมบัติของกัญชาและกัญชงในการรักษาโรคจะเห็นได้ว่า ต้นกัญชงนั้นก็มีสรรพคุณในการรักษาโรคได้มากมาย เพียงแต่กัญชงไม่ทำให้เมา ประสิทธิภาพในการรักษาจึงไม่เท่ากับกัญชา ดังนั้น ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวและไม่สามารถใช้กัญชาได้ก็จะเลี่ยงมาใช้กัญชงแทน แต่ในขณะเดียวกันยังมีอีกหลายโรคที่จำเป็นต้องใช้กัญชาในการรักษา

ประเด็นต่อไป คือ เมื่อมีความต้องการใช้กัญชาจำนวนมาก มีพื้นที่เพาะปลูกขนาดใหญ่ก็ต้องมีการวิจัยพัฒนาต่อยอด พัฒนาต่อยอดในที่นี้หมายความถึง เมล็ดพันธุ์กัญชา และคุณสมบัติ คือแต่ละสายพันธุ์มีคุณสมบัติใดบ้างในพื้นที่ต่างๆกัน เพราะสายพันธุ์เดียวกันหากปลูกในพื้นที่ต่างกันก็อาจจะได้ส่วนประกอบไม่เท่ากัน ดังนั้น เมื่อมีการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์แล้วจะทำให้เรารู้ถึงที่มาและสารประกอบของน้ำมันกัญชาในแต่ละขวดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา อีกประการหนึ่งคือ วิธีการสกัด

โดยการสกัดกัญชานั้นมีหลายวิธี เช่น ใช้แนฟทา (Naphtha) ใช้แอลกอฮอล์ (Alcohol) ซึ่งวิธีการสกัดแต่ละวิธี
จะได้สารประกอบที่ไม่เหมือนกัน อีกประการหนึ่งคือเมื่อสกัดไปแล้วอาจมีกระบวนการอื่น เช่น การนำไปต้ม ซึ่งพอต้มแล้ว

จากทำให้เมาก็จะเปลี่ยนเป็นไม่เมา ทั้งนี้ การวิจัยและพัฒนาตั้งแต่ เมล็ดพันธุ์ สายพันธุ์ การเพาะปลูก การสกัด และกระบวนการภายหลังการสกัด ความรู้ เหล่านี้จะช่วยรักษาผู้ป่วยในประเทศไทยได้ และสามารถส่งออกได้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้ได้มีตำราทางวิชาการระบุว่ากัญชามีคุณสมบัติเสริมฤทธิ์ของยาเคมีบำบัดในการรักษาโรคมะเร็งชนิดต่างๆ ได้แก่ มะเร็งเม็ดเลือดขาว เนื้องอกในสมอง เนื้องอกเต้านม มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งตับได้อีกด้วย ดังนั้น หากจะผลิตกัญชาเพื่อการส่งออกก็สามารถขายได้ตั้งแต่เมล็ด ใบ ดอก น้ำมัน หรือแบบเป็นยาก็ได้ เป็นเศรษฐกิจทางการแพทย์หรือเป็นพืชเศรษฐกิจซึ่งในปัจจุบันเราต้องนำเข้ามาจากประเทศลาวและพม่า

จุลนิติ : บทสรุปและข้อเสนอแนะอื่นๆ

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา และคณะฯ : สำหรับการใช้สิทธิของคนป่วยในการใช้กัญชานั้น ประการแรก คือ เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2562 สหภาพยุโรปได้ประกาศให้ความสำคัญกับเรื่องการใช้กัญชาในทางการแพทย์ โดยอ้างอิงถึงหลักฐานขององค์การอนามัยโลกที่มีการสรุปประโยชน์ของกัญชา ทั้งในส่วนของ CBD (Cannabidiol) ซึ่งเป็นตัวที่ไม่ได้ออกฤทธิ์ทางอารมณ์หรือทางจิตประสาท และในส่วนของ THC (Tetrahydrocannabinol) อันเป็นสารออกฤทธิ์หลักของกัญชาที่ส่งผลให้รู้สึกถึงความผ่อนคลายและออกฤทธิ์ทางจิตประสาทได้ เพื่อให้มีการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ให้ได้เต็มที่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

...

ประการที่สอง คือ บริษัทประกันควรจะต้องรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยเช่นเดียวกับในต่างประเทศ เช่น ในสหรัฐอเมริกาที่บริษัทประกันจะรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายจากการนำกัญชามาใช้รักษาโรคลมชัก

ประการที่สาม คือ แพทย์ควรเริ่มศึกษาวิธีการใช้กัญชาอย่างถูกวิธี และที่สำคัญควรให้เป็นวิจารณญาณของแพทย์แต่ละท่านในการวินิจฉัยว่าสมควรมีการใช้กัญชาในผู้ป่วยรายนั้นหรือไม่ โดยไม่จำเป็นจะต้องมีการกำหนดชนิดของโรค เพราะหากแพทย์มีความชำนาญมากเพียงพอก็จะสามารถวินิจฉัยเองได้ เช่น โรคเอสแอลอี ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังที่เกิดจากภูมิต้านทานทำร้ายตนเอง ทำให้มีผลกระทบกับอวัยวะต่างๆในร่างกาย ซึ่งสามารถใช้กัญชาในการรักษาโรคเอสแอลอีนี้ได้ และสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับยากดต้านภูมิคุ้มกันไปได้อย่างมาก

นอกจากนี้ ยังมีโรคอัลไซเมอร์ และโรคพาร์กินสันที่สามารถใช้กัญชาร่วมกับยาแผนปัจจุบันในการรักษาได้ ข้อสำคัญคือ การใช้บัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค ควรครอบคลุมถึงการใช้กัญชาด้วย

...

หากบัตรทองคุ้มครองถึงการใช้กัญชา ประชาชนก็ไม่จำเป็นต้องปลูกกัญชาเอง และไม่ต้องขึ้นทะเบียนตามกฎหมาย แต่สามารถมาพบแพทย์ได้เลย และในขณะนี้ภาครัฐได้มีการเร่งผลิตแพทย์โดยมีการอบรมให้ความรู้เรื่องการใช้กัญชา ซึ่งกระผมก็เป็นวิทยากรร่วมอยู่ด้วย มีแพทย์ที่ผ่านการอบรมไปแล้ว 450 คน พรุ่งนี้ก็จะมีการอบรมแพทย์เพิ่มเติมอีก 200 คน และรุ่นถัดไปอีก 250 คน ส่วนมากเป็นแพทย์จากโรงพยาบาลเอกชน

สำหรับแพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐนั้นขั้นต่อไปอาจมีการนำตัวแทนแพทย์และเภสัชกรจาก 76 จังหวัด ประมาณ 250 คน มาเข้ารับการอบรม เพื่อให้ประชาชนรวมไปถึงชุมชนได้รับประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริง ทำให้ผู้ป่วยได้ประโยชน์สูงสุดโดยที่ไม่เสียเงินมาก และสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่มีใช้ในประเทศไทยอยู่แล้วได้

อันนี้ คือ เจตนารมณ์ของกฎหมายที่เกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้กัญชาในทางการแพทย์.

หมอดื้อ