หลายปีก่อนเมื่อพูดถึง หุ่นยนต์ผ่าตัด ใครๆก็ตื่นเต้นเพราะเป็นเรื่องใหม่ในวงการแพทย์ แต่ทุกวันนี้ เมื่อพูดถึงหุ่นยนต์ผ่าตัด กลับดูเหมือนว่า สิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์นี้ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาโรคทั้งที่ซับซ้อนและไม่ซับซ้อนไปเสียแล้ว

จะว่าไป หุ่นยนต์ทางการแพทย์ มีมาตั้งแต่ปี 1993 ก่อนที่ Gary Guthart จะเข้าร่วมงานกับ Intuitive Surgical ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิต หุ่นยนต์ผ่าตัด ในยุคแรกๆ ชื่อของหุ่นยนต์ที่ว่านั้นโด่งดังไปทั่วโลก เพราะตั้งชื่อตามชื่อของ เลโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci) ผู้ศึกษากายวิภาคศาสตร์ของมนุษย์ และศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ของโลก รวมถึงการเป็นศิลปินคนแรกของโลกที่สเกตช์ภาพหุ่นยนต์เมื่อ 500 กว่าปีก่อน

ดาวินชี (da Vinci) เป็นระบบผ่าตัดโดยหุ่นยนต์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของโลก เจ้าของสิทธิบัตรและผู้ผลิตหุ่นยนต์ตัวนี้ ก็คือ อินทุยทีฟ เซอร์จิคอล (intuitive surgical) บริษัทสัญชาติสหรัฐฯผู้พัฒนา ผลิต และจำหน่ายเทคโนโลยี-อุปกรณ์การแพทย์ ที่มี Gary Guthart เป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ

...

หุ่นยนต์ดาวินชี ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้ผ่าตัดได้คล่องตัวที่สุด สามารถผ่าตัดอวัยวะที่มือแพทย์ไปไม่ถึงหรือไม่ถนัด และยังมีกล้องขยายที่ทำให้แพทย์สามารถมองเห็นรายละเอียดชัดเจนในแบบ 3 มิติ มันถูกนำมาใช้ในการผ่าตัดหลากหลายอวัยวะ แต่ที่นิยมกันมากที่สุดก็คือการ ผ่าตัดมดลูก ผ่าตัดต่อมลูกหมาก และ ซ่อมแซมลิ้นหัวใจ ลักษณะของหุ่นยนต์ตัวนี้ คือ มีแขน 4 แขนโอบล้อมคนไข้จากข้างบน อีก 3 แขนถือเครื่องมือ เช่น มีด กรรไกร เข็ม ฯลฯ แพทย์จะนั่งอยู่ในห้องเดียวกันและเคลื่อนไหวมือเพื่อสั่งให้แขนหุ่นยนต์ทำงานโดยดูผ่านจอในเครื่อง ข้อมือของแขนนั้นเคลื่อนไหวได้รอบทิศชนิดที่มือมนุษย์ไม่อาจทำได้

ผลจากการใช้หุ่นยนต์เข้ามาช่วยในการผ่าตัดนั้นดีเกินคาด คือ ผู้ป่วยชอกช้ำน้อย ผ่าตัดได้แม่นยำ และมีโอกาสเกิดอาการแทรกซ้อนน้อยลงอย่างมาก

หลังจากเปิดตัวเมื่อปี ค.ศ. 1999 บริษัทสามารถขายดาวินชีไปแล้วมากกว่า 54 ล้านเครื่อง และใช้ผ่าตัด 1 ล้านครั้งต่อปี เฉพาะในปี ค.ศ.2018 เพียงปีเดียว ดาวินชีได้เข้าไปมีส่วนในการผ่าตัดถึงมากกว่า 10 ล้านครั้งทั่วโลก

สำนักข่าวนิกเคอิ ของญี่ปุ่นรายงานว่า ในปี ค.ศ.2020 นี้ ตลาดเครื่องมือแพทย์โดยเฉพาะตลาดระบบหุ่นยนต์ผ่าตัดมีแนวโน้มที่จะร้อนแรงเป็นพิเศษ เนื่องจากสิทธิบัตรที่ อินทุยทีฟ เซอร์จิคอล ถือครองกำลังจะทยอยหมดอายุ

นั่นหมายความว่า บริษัทอื่นๆสามารถที่จะพัฒนาและต่อยอดเทคโนโลยีระบบหุ่นยนต์ผ่าตัดเพื่อผลิตและจำหน่ายได้โดยไม่ติดสิทธิบัตร และขณะนี้ก็มีหลายบริษัทได้เริ่มต้นที่จะผลิตระบบหุ่นยนต์ผ่าตัดออกมาบ้างแล้ว

โดยก่อนหน้านี้ ได้มีการพัฒนาหุ่นยนต์ผ่าตัดเรเนซองส์ ที่สามารถนำมาใช้ในการผ่าตัดระบบประสาทศัลยศาสตร์ หรือผ่าตัดสมองได้ โดยในประเทศไทยได้มีการสั่งซื้อหุ่นยนต์เรเนซองส์มาใช้เป็นครั้งแรกที่โรงพยาบาลรามาธิบดี

สำหรับในปี ค.ศ.2020 นี้ บริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งได้หันมาสนใจพัฒนาระบบหุ่นยนต์ผ่าตัดและหุ่นยนต์ทางการแพทย์มากขึ้น

บริษัทโอลิมปัส ผู้ผลิตกล้องดิจิทัลและเครื่องมือแพทย์รายใหญ่ จับมือกับพันธมิตรหลายราย อาทิ ศูนย์โรคมะเร็งแห่งชาติ เพื่อพัฒนาระบบหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดที่ต่อยอดจากความรู้ด้านกล้องตรวจภายใน ซึ่งเป็นสินค้าขายดีของบริษัท โดยหุ่นยนต์ตัวใหม่นี้ มีลักษณะเป็นแขนกลต่อกับกล้องส่องภายในควบคุมด้วย AI หรือปัญญาประดิษฐ์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แพทย์ในระหว่างผ่าตัด เช่น หาจุดเลือดออกและห้ามเลือด รวมถึงหาตำแหน่งเนื้องอก

...

โดยโอลิมปัสตั้งเป้าว่า ภายในปี ค.ศ.2024 จะสามารถลดการพึ่งพาแพทย์ผู้ควบคุมกล้องส่องภายในได้ 100%

ขณะที่ บริษัทคาวาซากิ ได้จับมือกับ บริษัทซิสเม็กซ์ (Sysmex) ซึ่งเป็นบริษัทด้านเฮลท์แคร์รายใหญ่ของญี่ปุ่น ตั้ง บริษัทเมดิก้ารอยด์ (Medicaroid) พัฒนาหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์สำหรับอำนวยความสะดวกในการผ่าตัด โดยจะเปิดตัวหุ่นยนต์ตัวใหม่ในเดือนเมษายนปีนี้ และเปิดตัวระบบ AI ภายในครึ่งปีแรกของปี ค.ศ.2020

ด้าน บริษัทโซนี่ ก็เตรียมนำความรู้ด้านเซ็นเซอร์รับภาพ และAI จากธุรกิจผลิตกล้องดิจิทัล รวมทั้งหุ่นยนต์สัตว์เลี้ยงไอโบ (Aibo) มาต่อยอดการผลิตหุ่นยนต์ตัวใหม่ โดยเมื่อเร็วๆนี้โซนี่ได้เปิดตัวระบบจัดการภาพจากอุปกรณ์ในห้องผ่าตัดเพื่ออำนวยความสะดวกในการผ่าตัดในอนาคต ส่วนฮิตาชิก็เตรียมเปิดตัวห้องผ่าตัดอัจฉริยะ (smart operating room) ภายในปีนี้ เช่นเดียวกัน

...

เรียกว่าเทรนด์ของการพัฒนา AI และหุ่นยนต์ทางการแพทย์ในโลกกำลังคึกคักแบบฉุดไม่อยู่ บริษัททั่วโลกหลายแห่งเดินหน้าซื้อกิจการบริษัทด้าน AI และหุ่นยนต์ ไม่ว่าจะเป็นซีเมนส์ เฮลท์แคร์ ซึ่งทุ่มเงินมากกว่า 1,100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซื้อกิจการบริษัทผลิตหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด และก่อนหน้าไม่นาน จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ควักเงิน 3,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซื้อกิจการบริษัทอูริส เฮลท์ บริษัทผลิตหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดที่เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดผ่านกล้องส่องภายในไปเรียบร้อยแล้ว

หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์จะเป็นประชากรพันธุ์ใหม่ที่เข้ามาครองโลกภายใน 1-2 ปีนี้แน่นอน ทำให้นึกภาพไม่ออกว่า การใช้ชีวิตของมนุษย์ในอนาคตอันใกล้จะเป็นอย่างไร ถ้าทุกที่มีการนำหุ่นยนต์มาใช้ทั้งเป็นพนักงานในร้านค้า ร้านอาหาร มีหุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุ มีหุ่นยนต์ทำงานบ้าน หุ่นยนต์นักรบ และคุณหมอหุ่นยนต์ที่สามารถวินิจฉัย ตรวจรักษาและผ่าตัดได้ไม่ต่างจากแพทย์จริงๆ...!!