รัฐมนตรีสาธารณสุขทั้งสอง หลังจากใช้หลักการทางพระพุทธศาสนาด้วย โยนิโสมนสิการ ทบทวนปัญหา สาเหตุแห่งปัญหา และแนวทางที่จะแก้ไขปัญหาทั้งในกรุงเทพมหานคร และการสนทนา กับข้าราชการในวงการ ข้าราชการภายนอกกระทรวง ทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค พร้อมทั้งท่านสมาชิก สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นเวลายาวนานพอควรแก่กรณี เพื่อให้ได้ความเป็นไปได้ คือ สัมมาทิฏฐิ คือ การเห็นชอบ หรือ การเข้าใจชอบ

เราทั้งสองไม่มีเจตนาจะสร้างความเดือดร้อนแก่ท่านผู้ใดเลย แต่หน้าที่ชั่วคราวทำให้ เราทั้งสองต้องตัดสินใจร่วมกันดำเนิน การตามครรลองแห่งประชาธิปไตย เพื่อความสุขของพี่น้องประชาชน เมื่อแสงทองส่องฟ้าอำไพ ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดินหลังตุลาคม 2516 เป็นต้นมา โดยได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นคณะหนึ่ง เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2516 คณะกรรมการชุดนี้ ประกอบด้วย

1.นายแพทย์สมบูรณ์ วัชโรทัย (ประธาน) 2.นายแพทย์มนัสวี อุณหนันทน์ 3.นายแพทย์น่วม เศรษฐจันทร 4.ผู้แทนกรมการแพทย์และอนามัย (จำนวนอย่างน้อย 2 นาย) 5. ผู้แทนกรมส่งเสริมสาธารณสุข (จำนวนอย่างน้อย 2 นาย) 6.ผู้แทนกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (จำนวนอย่างน้อย 2 นาย) 7.นายแพทย์อำนวย อุทชังกร 8.นายแพทย์ไพโรจน์ นิงสานนท์ 9.
นายแพทย์อุทัย สุดสุข

10.นายแพทย์ยุทธนา ศุขสมิติ (เลขานุการ) 11.นายแพทย์ดำรงค์ บุญยืน (ผู้ช่วยเลขานุการ)

ให้คณะทำงานนี้ มีหน้าที่พิจารณาปรับปรุงส่วนราชการ การทำงานได้ปรับปรุงหารือรวมทั้งสิ้น 9 ครั้ง ใช้เวลาการประชุมทั้งสิ้น 25 ชั่วโมง และในที่สุดก็ได้เสนอรูปแบบบริหารงานแก่ ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2516 ลักษณะของผังการบริหารงาน มี 3 รูปแบบให้เลือก

...

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เชิญปลัดกระทรวงฯ อธิบดีและรองอธิบดีทุกกรม กรมละ 1 คนประชุมพิจารณาข้อเสนอของคณะทำงาน ในที่สุดกระทรวงสาธารณสุขได้ตัดสินใจเสนอข้อปรับปรุงและจัดส่วนราชการใหม่ยังคณะรัฐมนตรีพร้อมทั้งรายละเอียด

คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันอังคารที่ 12 กุมภาพันธ์ 2517 มีมติรับหลักการ และให้ส่งให้คณะที่ปรึกษาระเบียบราชการของนายกรัฐมนตรี และกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ในที่สุดคณะรัฐมนตรีได้นำเสนอสภานิติบัญญัติ เป็นพระราชบัญญัติเพื่อให้ตราออกใช้ มีนัยความมุ่งหมายตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2517 ข้าราชการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ที่เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติก็ได้วิจารณ์การปรับปรุงส่วนราชการครั้งนี้ ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ธรรมดาของปุถุชน

หนังสือพิมพ์ได้ลงข่าวและบทความวิพากษ์ วิจารณ์การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ประชาชนวงการต่างๆ พร้อมทั้งนิสิต นักศึกษา ก็ให้ความสนใจ

ในวงการเมืองแบบประชาธิปไตยก็ได้มีการ “หาเสียง” เพื่อขอความสนับสนุนจากสมาชิกสภานิติบัญญัติ โดยทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้าน สมาชิกสภานิติบัญญัติต่างได้รับเอกสารเพื่อประกอบการชี้แจงในสภาฯ เป็นจำนวนหลายกิโลกรัม นับว่า เป็นประวัติศาสตร์ของการสาธารณสุขของประเทศไทย อันควรแก่การศึกษาและค้นคว้าโดยอนุชนต่อมา

เนื้อหาสำคัญที่เน้นให้เห็น ก็คือ การกระจายอำนาจการบริหารงานให้บริการไปยังภูมิภาค ซึ่งหลักการอันนี้ยังไม่เคยมีหน่วยงานใดในประเทศไทยเคยริเริ่มมาก่อนเลย บางท่านว่าล้ำหน้าเกินไป และบางท่านเห็นชอบด้วยเหตุผลและระยะเวลาหลังจาก 14 ตุลาคม 2516 เกิดขึ้นแล้ว กระทรวงอื่นใดเห็นดีก็อาจจะนำไปใช้ก็ได้

รัฐบาลชุดที่ 33 ฯพณฯ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรี ลาออกเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2517 เหตุที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ต้องตัดสินใจลาออก เพราะการอภิปรายของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่ท้วงติงและเร่งเร้าการบริหารของรัฐบาล ว่าล่าช้าไม่ทันความต้องการของความเห็นรุ่นใหม่หลัง 14 ตุลาคม คำพูดในการอภิปรายบางคำเลย ระดับแห่งความเป็นครูและศิษย์ เมื่อความอดทนของท่านหมดลง

ท่านจึงลาออกจากการเป็นหัวหน้ารัฐบาลที่พระราชทานมาในค่ำคืนวันที่ 14 ตุลาคม 2516

ระหว่างที่ยังมิได้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งรัฐบาลใหม่ รัฐบาลเก่าจึงต้องรักษาการต่อไปจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่

แผนของกระทรวงสาธารณสุขได้มีการปรับปรุงส่วนราชการใหม่ ที่รอการพิจารณาของสภา นิติบัญญัติก็ค่อยๆหรี่ลง

รัฐบาลชุดที่ 34 ฯพณฯ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ กลับได้รับคะแนน นิยมจากสภานิติ-บัญญัติแห่งชาติ ให้มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกวาระหนึ่ง ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2517 มีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงและรัฐมนตรีช่วยว่าการในหลายกระทรวง รัฐมนตรีว่าการและช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข คงเดิมในรัฐบาลใหม่นี้

...

รัฐบาลชุดใหม่จึงกลายเป็นรัฐบาลที่สภานิติบัญญัติสนับสนุนขึ้นมา ฉะนั้นสภาฯคงจะได้สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงและจัดส่วนราชการ กระทรวงสาธารณสุขได้เร็วขึ้น

หนังสือพิมพ์ลงข่าวว่าแพทย์ทั่วประเทศ จะเดินทางมาพบรัฐมนตรีเพื่อคัดค้าน และก็ปรากฏว่าพยาบาลผดุงครรภ์ทั่วประเทศ จำนวนกว่า 600 คน มาสนับสนุน เราทั้งสองคนก็ใช้ความอดทนต่อการแสดงออกด้วยสันติธรรมอยู่โดยตลอด

สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เช่น กลุ่ม 99 ก็ได้เชิญให้เราทั้งสองคนไปชี้แจงนอกสภาฯถึง 3 ครั้ง ศูนย์นิสิตนักศึกษาแพทย์ก็ได้เชิญให้ไปชี้แจงรายละเอียดเป็นแบบฉบับของการปกครองแบบประชาธิปไตย

ในที่สุดวันแห่งการรอคอยในการพิจารณาในวาระที่ 1 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติก็เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2517 ซึ่งปรากฏผลด้วยวิธีการออกเสียง โดยวิธีลงคะแนนลับ

ผลการลงคะแนน มีผู้เห็นด้วย 117 เสียง ไม่เห็นด้วย 20 เสียง ไม่ออกเสียง 5 เสียง

จึงได้มีการตั้งกรรมการวิสามัญ รวม 15 คน เพื่อทำการแปรญัตติภายใน 7 วัน

กรรมาธิการวิสามัญ ได้กำหนดการประชุม ในวันพุธที่ 24 กรกฎาคม 2517 เวลา 09.30 น. มีผู้ขอแปรญัตติ 1 ราย แต่ไม่ปรากฏตัวในที่ประชุมจึงเป็นอันตกไป

วันที่ 8 สิงหาคม 2517 เป็นวัน D-DAY ของร่างพระราชบัญญัติ ที่สภานิติบัญญัติ ในวาระที่ 2 และที่ 3 เมื่อได้มีการอภิปรายกันพอสมควรแล้ว พลเอกสำรัญ แพทยกุล รองประธานสภาคนที่หนึ่ง ซึ่งทำหน้าที่ประธาน ได้ขอให้ลงมติวาระที่ 2 และที่ 3 ด้วย การลงคะแนนลับตามที่มีผู้ขอยื่นครบจำนวนตามข้อบังคับ ผลของการลงคะแนน ปรากฏว่าสมาชิกฯรับพระราชบัญญัติในวาระที่ 3 ด้วยคะแนนเห็นด้วย 155 เสียง ไม่เห็นด้วย 27 เสียง ไม่ออกเสียง 5 เสียง

เป็นอันว่ากระทรวงสาธารณสุขจะได้มีการบริหารราชการตามการขอจัดการส่วนราชการใหม่ ดังผังส่วนราชการกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2517 และการจัดส่วนราชการในปัจจุบันแทนที่จะมีการควบรวม บูรณาการโครงสร้างและหน้าที่กลับเป็นการเพิ่มหน่วยงานและรวมอำนาจสู่ส่วนกลางอย่างเต็มรูปแบบ.

...

หมอดื้อ