เฉาก๊วย ของหวานที่คนไทยนิยมทานโดยเฉพาะในหน้าร้อน ทานแล้วชื่นใจ แก้กระหาย คลายร้อน เรามักทานเฉาก๊วยกับน้ำแข็งไสและโรยน้ำตาลทรายแดง หรือเป็นท็อปปิ้งในไอศกรีม หรือทำเป็นเครื่องดื่มเฉาก๊วยนมสด ปกติหญ้าเฉาก๊วยมีสรรพคุณช่วยลดความดันโลหิตสูง ลดน้ำตาลในเลือด ลดอาการไข้ ลดการอักเสบของกล้ามเนื้อ
ทว่า การนำเฉาก๊วยมาทำเป็นเมนูของหวาน หากใช้น้ำตาลเป็นส่วนผสมปริมาณมากๆ ก็อาจทำให้เป็นอันตรายต่อร่างกายในระยะยาวได้ น้ำตาล นอกจากจะเพิ่มรสหวานของอาหารแล้ว ยังมีประโยชน์คือให้พลังงานแก่ร่างกาย หากร่างกายขาดน้ำตาลอาจส่งผลให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ มีอาการหน้ามืด เวียนหัวและอ่อนเพลีย แต่หากร่างกายได้รับน้ำตาลในปริมาณมากๆหรือมากเกินไป แทนที่จะให้ประโยชน์ก็อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCDs เช่น โรคอ้วน ภาวะน้ำหนักเกิน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง และโรคหลอดเลือดได้ สถาบันอาหารเก็บตัวอย่างเฉาก๊วยนมสด จำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ร้านค้า ในเขตกรุงเทพฯ ปทุมธานีและนนทบุรี เพื่อนำมาวิเคราะห์ปริมาณน้ำตาลที่มีทั้งหมดในเฉาก๊วยนมสด
ผลการวิเคราะห์พบว่าทั้ง 5 ตัวอย่าง มีปริมาณน้ำตาลทั้งหมดอยู่ในช่วง 30.22-64.46 กรัม ต่อเฉาก๊วยนมสด 1 แก้ว ซึ่งมี 4 ตัวอย่าง ที่มีปริมาณน้ำตาลเกินกว่าปริมาณที่แนะนำโดยองค์การอนามัยโลก ที่แนะนำให้คนทั่วไปที่ต้องการพลังงาน 1,600-2,400 กิโลแคลอรีต่อวัน ควรบริโภคน้ำตาลไม่เกินวันละ 16-32 กรัม เห็นผลวิเคราะห์อย่างนี้แล้ว ขอแนะว่าในหนึ่งวันควรทานเฉาก๊วยนมสดแค่ 1 แก้ว ให้ชื่นใจก็น่าจะพอ ไม่ควรทานบ่อยๆหรือทานทุกวัน เพราะอย่าลืมว่าในหนึ่งวันเรายังได้รับน้ำตาลจากอาหารอื่นที่ทานใน 3 มื้อด้วยแล้ว.
...
ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย
คลิกอ่านคอลัมน์ “มันมากับอาหาร” เพิ่มเติม