ท่านผู้อ่านที่เป็นแฟนคอลัมน์ “ซอกแซก” คงจะพอจำได้เมื่อประมาณกลางเดือนกันยายน พ.ศ.2565 เกือบๆ 2 ปีมาแล้ว หัวหน้าทีมซอกแซกมีโอกาสร่วมกับชาวคณะกองบรรณาธิการไทยรัฐกลุ่มหนึ่ง ออกเดินทางจากโรงพิมพ์ถนนวิภาวดีรังสิตไปกราบสักการะ “ศาลหลักเมืองกรุงเทพฯ” ใกล้ๆวัดพระแก้วและท้องสนามหลวง เพื่อความเป็นสิริมงคลและเพื่อเรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์ไทยยุคแรก ของการสร้างกรุงรัตนโกสินทร์

เสร็จจากพิธีสักการะแล้ว คณะของพวกเราก็ย้อนจากสนามหลวงมาสู่ถนนพระสุเมรุผ่านฟ้าเพื่อที่จะรับประทานอาหารเช้าร่วมกันที่ร้านโกปี๊ “เฮี๊ยะไถ่กี่” ร้านกาแฟโบราณที่มีอาหารเช้าสุดอร่อยเป็นของแกล้ม ซึ่งมีสาขาอยู่แห่งหนึ่งที่บริเวณดังกล่าว

ทำให้ทราบว่าจะมีการรื้ออาคารพาณิชย์ในบริเวณนั้น เพื่อสร้างสถานีรถไฟใต้ดินในอีกไม่กี่วันข้างหน้า อันเป็นผลให้ร้านโกปี๊ เฮี๊ยะไถ่กี่ สาขานี้จะต้องปิดตัวลงตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ปี 2566 เป็นต้นไป

นั่นยังพอทำเนาเพราะร้านกาแฟโบราณยี่ห้อนี้ในระยะหลังๆมีสาขาถึง 4-5 สาขา ปิดสาขานี้ไปก็สามารถจะไปหาดื่มหารับประทานได้ที่สาขาอื่นๆ

แต่ที่ได้ยินข่าวแล้วใจหายวาบก็คือภัตตาคารจีนเก่าแก่ที่รสชาติและฝีมือทำอาหารติดปากติดใจคนกรุงเทพฯมากว่า 80 ปี ร้านหนึ่งซึ่งอยู่ติดกัน
ก็จะพลอยถูกรื้อถอนไปด้วย และก็จะต้องไปในวันที่ 1 มกราคม 2566 เช่นกัน

ได้แก่ ภัตตาคาร “ผ่านฟ้า” ที่จะเขียนด้วยตัวอักษรภาษาไทยกำกับด้วยภาษาจีนสีขาวบนพื้นแดงของแผ่นป้ายที่อยู่เหนือประตูร้านประมาณ 3 คูหา...นั่นเอง

ทำให้เมื่อกลับมาถึงโรงพิมพ์ หัวหน้าทีมซอกแซกต้องเขียนถึงเรื่องราวการไปสักการะศาล หลักเมืองในคอลัมน์ซอกแซกวันอาทิตย์ถึง 2 สัปดาห์ติดกัน โดยสัปดาห์แรกเขียนถึง ศาลหลักเมือง ก่อน...จับความตั้งแต่เมื่อครั้งรัชกาลที่ 1 ส่งนายกองรังวัดและเลือกพื้นที่สำหรับสร้างศาลมาจนถึงสถาน ภาพต่างๆในปัจจุบันค่อนข้างละเอียดพอสมควร

...

จากนั้นสัปดาห์ต่อมาก็เขียนถึง ภัตตาคารผ่านฟ้า ที่คณะของเราไปทราบโดยบังเอิญว่าจะต้องปิดตัวหลบหนีการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินโดยไม่มีข่าวคราวว่าจะไปเปิดที่ไหนอย่างไร?

หัวหน้าทีมในฐานะศิษย์เอก “เชลล์ชวนชิม” ของท่านอาจารย์หม่อม... ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ตามไปชิมเกือบทุกร้านที่ท่านแนะนำ รวมถึง ภัตตาคารผ่านฟ้า ด้วยยังจดจำรสชาติของอาหารร้านนี้ได้เป็นอย่างดี จึงเขียนพรรณนาโวหารด้วยความรักและอาลัยเอาไว้ยาวเหยียด

รำพึงรำพันถึง “ก้ามปูนึ่ง” ที่ห้อยระโยงระยางในตู้โชว์หน้าร้าน รวมไปถึงไก่ตอน สไตล์ไหหลำ ที่แขวนไว้ในตู้ใกล้ๆกัน ที่เป็น “ซิกเนเจอร์” ของร้านที่กินกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย

รวมไปถึงอาหารไหหลำ พื้นๆราคาปานกลาง แต่อร่อยอย่างมีเอกลักษณ์ เช่น “จับฉ่ายไหหลำ”, “ไข่พะโล้”, “หมูพะโล้”, “ขาไก่พะโล้เต้าหู้”, ไส้หมูทอด, ข้าวผัดปู และตบท้ายด้วย “ส้มโอ

พร้อมกับทิ้งท้ายข้อเขียนว่าจะกลับไปรับประทานส่งท้ายแบบอำลาอาลัยสักครั้งหนึ่ง... ก่อนที่ร้านนี้จะปิดตัวเองหนีสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ตามข่าวที่แพร่สะพัดไปทั่วโซเชียล

ต่อมาหัวหน้าทีมซอกแซกมีโอกาสผ่านถนนพระสุเมรุ 2-3 ครั้ง ก็พบว่าตึกรามอาคารร้านค้าบริเวณนั้นถูกรื้อไปเรียบร้อย และรู้สึกเสียดายอย่างยิ่งที่ไม่มีโอกาสกลับมารับประทานส่งท้ายดังที่ตั้งใจ

จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี่เอง นั่งรถผ่านไปแถวๆวัดบวรนิเวศวิหาร บางลำพู เลยร้านข้าวต้ม วัดบวร ที่โด่งดังเช่นกันไปสัก 150 เมตรเห็นจะได้ ก็พบว่ามีร้านห้องแถว 2 คูหาร้านหนึ่ง ณ บริเวณนั้น ขึ้นป้ายว่า “ภัตตาคารผ่านฟ้า” ทั้งภาษา ไทยและภาษาจีนด้วยสีขาวพื้นแดง เห็นชัดถนัดตา

ดูๆไปน่าจะเป็นแผ่นป้ายเดิมที่เคยติดตั้งอยู่ที่ร้านเดิมมา 80 กว่าปีเสียด้วยซํ้า

ครั้นเมื่อเข้ากูเกิลไปหาข่าวคราวเพิ่มเติมก็พบเฟซบุ๊กของร้านบอกกล่าวให้ทราบว่าเป็นร้านเดิมนั่นเอง กลับมาเปิด ณ ที่ใหม่ได้หลายเดือนแล้ว คือหลังจากหยุดจากร้านเก่าเมื่อ 1 มกราคม 2566 ไปพักใหญ่ก็มาเปิดใหม่ที่นี่ประมาณเดือนกรกฎาคมปี 2566 นั่นเอง ดังนั้นเมื่อมาถึงเดือนมิถุนายนปี 2567 จึงเท่ากับเปิดมาแล้วร่วมๆ 11 เดือน

สัปดาห์ที่แล้วนี่เอง หัวหน้าทีมซอกแซกพร้อมด้วยครอบครัวซอกแซก ตัดสินใจเปิดกูเกิลแม็ปเดินทางกลับไปรับประทานที่ร้านนี้อีกครั้งหนึ่ง

จริงๆแล้วถนนอันเป็นที่ตั้งของร้านปัจจุบันก็คือ ถนนพระสุเมรุเช่นกัน แต่เรียกว่าถนนพระสุเมรุ วัดบวรนิเวศเลยไปอีกหน่อยก็จะเป็นสะพานเฉลิมวันชาติ และถ้าขับรถตรงไปอีกโดยไม่เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา อีกแผล็บเดียวก็จะถึงบริเวณถนน พระสุเมรุผ่านฟ้าที่ตั้งของร้านเดิมนั่นเอง

สรุปได้ว่าร้านใหม่ก็อยู่ในถนนสายเดียวกันนี่แหละ แต่ย้อนกลับไปทางบางลำพูเพียงแต่เขาเดินรถทางเดียว และแถวๆนั้นกำลังก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน เจาะถนนพรุนไปหมด มีการบังคับเปลี่ยนเส้นถนนไปจากเดิมหลายจุด คงต้องตั้งสติและสมาธิให้ดีๆ

ทีมงานซอกแซกโชคดีไปถึงประมาณบ่ายโมงครึ่ง มีที่จอดรถริมถนนฝั่งตรงข้ามกับวัดว่างอยู่ 1 ที่ เดินประมาณ 100 เมตรเท่านั้น

บรรยากาศในร้านแคบกว่าเก่าและมีโต๊ะข้างล่างเอาไว้จำนวนหนึ่ง และดูเหมือนจะเตรียมชั้นบนไว้ด้วย หากมีแขกมาในจำนวนมาก

การตกแต่งหน้าร้านยังเหมือนเก่า มีก้ามปูห้อยไว้จำนวนหนึ่ง และไก่ก็เหลืออีกตัวครึ่งเท่านั้น... ในขณะที่เมนูอื่นๆมีเหมือนเดิมทุกประการ และรสชาติของอาหารที่สั่งมารับประทานก็ยังอร่อยเหมือนเดิมครับ

ที่สำคัญ “อาซ้อ” ภรรยาเถ้าแก่ซึ่งมีเชื้อสายแต้จิ๋ว แต่มาเป็นสะใภ้ไหหลำยังคงมานั่งรับแขกอยู่เหมือนเดิมเช่นกัน เป็นการยืนยันว่านี่คือ “ภัตตาคารผ่านฟ้า” ของแทร่

...

ใครที่เป็นแฟนเก่าแก่และถวิลหาร้านเก่าแก่ตั้งแต่ พ.ศ.2482 ที่ยังมีรสชาติดั้งเดิมแวะไปได้เลยครับ พิกัด 365/2–3 ถนนพระ สุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร ไปตามคำสั่งเจ้าสารพัดรู้ “กูเกิล” รับรองไม่หลงแน่ๆครับ.

“ซูม”

คลิกอ่านคอลัมน์ “ซูมซอกแซก” เพิ่มเติม