ถึงบ้านกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ที่ “ปู่ภู่” หรือพระศรีสุนทรโวหารเคยล่องเรือมาเยี่ยมบิดาขณะบวชอยู่วัดป่ากร่ำ ตามเรื่องเล่าในกลอนนิราศเมืองแกลง

ครบชาตกาลปู่ทุก 27 มิถุนายน เคยเห็นภาพการจัดพิธีบวงสรวงแต่งแฟนซีกัน นี่ก็ใกล้วันชาตกาลปู่อีกคำรบ ไม่รู้เลยว่าปีนี้จะมีกิมมิคอะไรให้สัมผัส

ตรงนี้แหละพ่อแม่พี่น้องเอ๊ยยยย! ที่ “คุณชาย 3” อยากจะขอนำเสนอร้านสตรีทฟู้ดแบบบ้านๆ ซึ่งน่าจะเป็นฟู้ดซอฟต์พาวเวอร์ ประจำชุมชน และเป็นจุดขายร่วมอนุสาวรีย์เชคสเปียร์เมืองไทย

ร้านที่ว่าชื่อ “ตำปลาย่างป้าดำ” อยู่ข้างๆ วัดกลางกร่ำ ริมถนนเพ-บ้านกร่ำ-แกลง (สามย่าน) ใกล้ที่ตั้งอนุสาวรีย์ราว 800 เมตร ห่างแม่พิมพ์ 4 กิโลเมตร สามย่าน 11 กิโลเมตร เป็นร้านเรือนไม้เปิดโล่งรับลมให้เย็นฉ่ำชื่นใจประสาถิ่น จังหวะดีได้พบ “เอนก บุญธรรม” ชายวัย 60 ปี กำลังง่วนกับการย่างไก่ เห็น “ป้าสั้น” ยืนโขลกส้มตำอยู่ตรงหน้า ใกล้กันมีลูกสาว “รถเมล์” พรพิมล วัย 31 ปี สาละวนหั่นคอหมูย่างใส่จานพร้อมเสิร์ฟ...

ชิ้นเนื้อหมูแต่ละชิ้นดูแห้งไร้มันน่ากินเชียวแหละ!

เข้าไปคุยด้วยถึงรู้ว่า ลุงกับป้าสั้นเป็นไม้สอง ต่อจากแม่คือ “ป้าดำ” แม่ค้าแม่เอ้ยยย...หาบข้าวมันตำปลาย่างขายอยู่ละแวกบ้านกร่ำมาก่อน ต่อมายกบ้านเป็นร้านให้ลูกชายกับสะใภ้ทำ มีทีท่าจะโอนสัมปทานต่อให้รถเมล์ทายาทไม้สามสานต่อ

...

ของเด่นร้านป้าดำหนีไม่พ้น “ข้าวมันตำปลาย่าง” ที่จริงผู้เฒ่าเคยเล่าให้ฟังว่า เมนูนี้เป็น อาหารพื้นบ้านต้นตำรับบ้านกร่ำ ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังมีบรรจุในห้องครัวประจำบ้านและร้านอาหาร

ขณะเดียวกันก็เคยได้ยินคนเมืองเพชรยืนยัน เมนูที่ว่าเพชรบุรีมีมานานเหมือนกัน เลยสับสนพอๆกับแกงหมูชะมวงเกิดที่ระยองหรือจันทบุรีกันแน่?...ด้วยเห็นถกกันไม่เลิก แต่เอาเถอะ...จะถือกำเนิดจากถิ่นไหนไม่ใช่สาระสำคัญเท่ากับการเลือกเป็นอาหารไทยออริจิ้นสุดฟินสำหรับนำมาชูในโปรแกรมโลคอลฟู้ดซอฟต์

พาวเวอร์...ที่รัฐบาลทุ่มงบฯโปรโมตไว้ถึงห้าพันกว่าล้านบาทเป็นแน่...ฮิ

“ตำปลาย่างที่นี่” ลุงเอนกเปิดฉากเล่า “ใช้ปลาข้างเหลืองหรือปลาสีกุนข้างเหลืองจาก ทะเลมีให้จับทั้งปี ลักษณะคล้ายปลาทู ต่างกันตรงแถบข้างลำตัวมีสีเหลือง เวลาย่างเนื้อจะสุกขาวและหอม ไม่คล้ำดำเหมือนปลาชนิดอื่น”

ต้นแบบใช้ตำร่วมมะขามอ่อนดิบไม่ถึงกับเปรี้ยวโด่ง จะกรอบอร่อยเพราะยังไม่มีเม็ด เสียแต่มีเฉพาะเดือนตุลาคมเท่านั้น เลยต้องใช้มะขามเปียกเปรี้ยวโด่งแทน ตำปนกะปิกับปลาย่างจะเพิ่มหวานเค็มเปรี้ยวและเผ็ดแค่ไหนก็เลือกปรุงเอา ส่วน “ข้าวมัน”...ต้องหุงให้พอดี ไม่ใช้หัวกะทิมากเกินจนเกิดมันย่อง สูตรสำเร็จอยู่ที่ใช้หัวกะทิ 2 ส่วน หาง 1 ส่วน จะได้รสชาติความมันที่กลมกล่อมพอดิบพอดี

คุณชายเปิดเกมตะลุยตำปลาย่างที่เส้นมะละกอแห้งไร้น้ำจากเครื่องปรุง มีกลิ่นจรุงด้วยปุยเนื้อปลาข้างเหลืองเคล้ากลิ่นกะปิ กับความเปรี้ยวแตะปลายลิ้นจากมะขามเปียกที่โด่งไปนิด แต่ก็อร่อย...ถ้าเป็น มะขามดิบ อื้อหือ! คนยองว่าน่าจะ “เอาได้” มากกว่านี้

ยิ่งได้ข้าวมันหอมกลิ่นกะทิ ด้วยแล้ว จะช่วยเพิ่มความละมุน เหมือนอาหารในรั้วบ้านเจ้านาย สูงศักดิ์สมัยต้นรัตนโกสินทร์ไม่มีผิด...ว่าไปนั่น! อาหาร ชุดนี้ ราคาบ้านๆ 50 บาทครับผม

จากนั้น ป้าสั้นยก “ตำข้าวโพด” โขลกเสร็จใหม่ๆมาให้ชิม ทีแรก...หลงคิดรสชาติคงใกล้เคียงส้มตำทั่วไป แต่พอชิมคำแรกถึงลืมตัวตบเข่าฉาดใหญ่ ร้านป้าดำต่างจากที่เคยลิ้มชิมโดยสิ้นเชิง ด้วยวัตถุดิบคือข้าวโพดที่ตำมีคุณสมบัติเหนียว เคี้ยวแล้วหนึบหนับทุกคำ

“เราใช้ข้าวโพดข้าวเหนียว คุณภาพ” ป้าสั้น อธิบาย “กิโลกรัม ละสองร้อยและอาจจะสูงช่วงขาดตลาด ส่วนข้าวโพดเหลืองกิโลกรัมละร้อยหาซื้อได้ง่ายทั้งปี ปริมาณที่ได้ก็ต่างกัน เช่น ถ้าข้าวโพดเหลืองฝักเดียวได้ส้มตำสองจาน แต่ข้าวโพดข้าวเหนียวหนึ่งฝักได้ไม่ถึงจาน”

คุณชายบรรจงชิมอย่างเจี๋ยมเจี้ยมไม่ให้ข้าวโพดข้าวเหนียวหกเรี่ยราด หรือเหลือแม้แต่เม็ดเดียวจานนี้ 50 บาท...ต่อมาก็ถึงคิวรถเมล์ยกจานอาหารแซ่บนัว ได้แก่ “ยำปูแสม” ออกมา

...

“เป็นปูจากป่าโกงกาง” รถเมล์ ว่า “ดอง เกลือกับน้ำปลาราวสามชั่วโมง ใช้เครื่องยำคุณภาพมีมะม่วงมันเดือนเก้าไม่เปรี้ยวโด่ง หั่นตะไคร้ตามด้วยหอมแดงซอยโรยหน้าด้วยผักชี”

เรียกว่าเด็ดสะระตี่สมราคา 100 บาทขาดตัว...แล้วก็มาถึงอีกคิวถัดมา ชื่อเมนูฟังแล้วสะดุ้ง! รถเมล์ถึงเฉลย “หมูตกครก” ที่ป้าดำคิดสูตรไว้ให้ลูกกับหลานทำกิน โดยใช้คอหมูย่างอย่างดีจากซุปเปอร์มาร์เกต...“สำคัญตรงคอหมูชนิดนี้ย่างแล้วจะแห้งชนิดไม่ติดมันจึงทำให้นุ่ม จานนี้ราคาเคาะอยู่ที่ 100 บาท”

เมนูสุดท้ายจานเด็ดที่ลุงเอนกชวนให้ลองเป็น “เหลากุ้งสด” ใช้เครื่องปรุงจากครก ส้มตำไม่ใส่เส้นมะละกอ...พิเศษสุดคือ ใช้กุ้งขาวคัดเฉพาะไซส์ใหญ่ เหลารวมเครื่องปรุงแบบเกาเหลาไร้เส้น จะเอาแบบดิบๆสุกๆ หรือครึ่งดิบ ครึ่งสุกก็แล้วแต่ถนัด...ราคาจานละ 100 บาท เท่านั้นจ้า

ร้านตำปลาย่างป้าดำคนยองพูดเช่ดว่า “เอาได้” มีเมนูหลายอย่างให้แซ่บ อาทิ ยำปูดำไข่ หรือตำปูไข่ ยำม่อนร้า ตำปูม้า ตำสับปะรดกุ้ง ไก่อบ ลูกค้าส่วนใหญ่ชาว ท้องถิ่นลูกหลานบ้านเดียวกัน นักท่องเที่ยว มีปะปนบ้างหลังแวะเวียนเข้ามาสาธุปู่ภู่หรือเชคสเปียร์เมืองไทยกันแล้ว

เอาว่าอยากลองของอร่อยก็แวะกันมา เวลาขายเริ่มกันตั้งแต่ 10 โมงเช้า เก็บร้านไม่เกินบ่าย 15.30 น. สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร.08–7136–7967 คนถิ่นนี้เขารับรอง

...

“ไม่เก๊” เลยฮิ!

คุณชาย 3

คลิกอ่านคอลัมน์ “คุณชายตะลอนชิม” เพิ่มเติม