ขนมขบเคี้ยว อาหารทานเล่นที่มีผู้ผลิตออกมาขายหลากหลายชนิด รูปแบบ รสชาติ หาซื้อได้สะดวก และเป็นที่ชื่นชอบของคนไทยทุกเพศทุกวัย เช่น ขนมถั่วลันเตาอบกรอบ ที่ตามท้องตลาดผลิตออกมาขาย 2 รูปแบบคือ รูปแบบที่เป็นแป้งทำจากถั่วลันเตาผสมกับเครื่องปรุง ผ่านการขึ้นรูปและทอดกรอบ อีกรูปแบบคือ เมล็ดถั่วลันเตาคลุกเกล็ดแป้งทอดกรอบและปรุงรส ด้วยความที่เป็นขนมผ่านการทอดด้วยน้ำมัน ฉะนั้นอาจทำให้มีสารกันหืน เช่น สาร BHA และ BHT ตกค้างอยู่ด้วยได้ สารกันหืนทั้ง 2 ชนิดนี้ กฎหมายอนุญาตให้ใช้ในอาหารได้เพื่อป้องกันการเกิดออกซิเดชัน หรือป้องกันการเกิดกลิ่นหืนในอาหารที่ผ่านการอบหรือทอด

โดยกำหนดปริมาณสูงสุดที่อนุญาตให้ใช้ได้ในอาหารแต่ละชนิดในปริมาณที่แตกต่างกันไป เพราะแม้สารกันหืนทั้ง 2 ชนิด กฎหมาย จะอนุญาตให้ใช้ได้แต่หากใช้ในปริมาณที่มากเกินไปหรือใช้เกินปริมาณที่กฎหมายกำหนด ก็อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ เช่น มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง

สถาบันอาหาร เก็บตัวอย่างขนมถั่วลันเตาอบกรอบจำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ยี่ห้อ ที่ขายในซุปเปอร์มาร์เกตเขตกรุงเทพฯ เพื่อนำมาวิเคราะห์วัตถุกันหืน 2 ชนิดคือ BHA และ BHT ผลการวิเคราะห์พบสาร BHT ในขนมถั่วลันเตาอบกรอบ 1 ตัวอย่าง ซึ่งพบในปริมาณ 9.67 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม แต่ยังไม่เกินค่ามาตรฐานตามกฎหมายอาหารของไทยที่กำหนดให้พบสาร BHT ในขนมขบเคี้ยวที่มีถั่วเป็นส่วนประกอบหลักปริมาณสูงสุดได้ไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ท่านที่ชอบทานขนมถั่วลันเตาอบกรอบเป็นอาหารทานเล่น สบายใจกันได้ แต่ก็ควรทานอาหารให้หลากหลาย ครบ 5 หมู่ด้วย เพื่อสุขภาพดีและมีร่างกายที่แข็งแรง.

...

ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย

คลิกอ่านคอลัมน์ "มันมากับอาหาร" เพิ่มเติม