หัวไชเท้า พืชหัวที่นิยมใช้ประกอบอาหารทั้งอาหารไทย จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี เช่น แกงจืดหัวไช้เท้า แกงส้มหัวไชเท้า ต้มจับฉ่าย ไชโป๊หวาน โอเด้ง กิมจิหัวไชเท้า หรือเป็นเครื่องเคียงเมนูซาซิมิ หัวไชเท้ามีลักษณะเป็นรูปกรวยยาว สีขาว มีประโยชน์ต่อร่างกายหลายด้าน เช่น กระตุ้นความอยากอาหาร ช่วยย่อยอาหาร กระตุ้นการไหลเวียนของน้ำดี ช่วยลดความดันโลหิต ทว่าทุกวันนี้ยังมีเกษตรกรบางรายใช้ยาฆ่าแมลง เพื่อกำจัดแมลงและศัตรูพืชในระหว่างเพาะปลูกหัวไชเท้า เพื่อให้ผลผลิตมีความสมบูรณ์ ป้องกันและกำจัดศัตรูของพืช เช่น หนอน แมลง สัตว์ฟันแทะต่างๆ ยาฆ่าแมลงที่เกษตรกรนิยมใช้มี 4 กลุ่ม คือ กลุ่มออร์แกโนฟอสเฟต กลุ่มออร์กาโนคลอรีน กลุ่มคาร์บาเมต และกลุ่มไพรีทรอยด์ แต่ละกลุ่มมีอันตรายที่อาจส่งผลเสียต่อทั้งผู้ปลูกและผู้บริโภคแตกต่างกันไป เช่น ทำให้มีอาการอาเจียน เวียนหัว ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหัว มึนงง และอาจรุนแรงถึงชีวิตได้ และหากสะสมในร่างกายจะทำให้เกิดโรคต่างๆ เช่น เบาหวาน โรคผิวหนัง และมะเร็งได้
วันนี้สถาบันอาหารได้เก็บตัวอย่างหัวไชเท้าสดจำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ร้านค้าที่วางขายในตลาดในกรุงเทพฯ เพื่อนำมาวิเคราะห์ยาฆ่าแมลงตกค้าง 4 กลุ่ม จำนวนรวม 58 ชนิด ผลปรากฏว่าพบสารกลุ่มไพรีทรอยด์ตกค้าง 2 ชนิด ในหัวไชเท้าสด 2 ตัวอย่าง ได้แก่ สารแลมบ์ดา ไซฮาโลทริน พบตกค้างปริมาณ 0.01 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม 1 ตัวอย่าง และสารคลอร์ไพริฟอส-เอทิล พบตกค้างปริมาณ 0.03 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม 1 ตัวอย่าง แต่ปริมาณที่พบนั้นน้อยมากๆ เพื่อความมั่นใจ ก่อนนำหัวไชเท้ามาประกอบอาหาร ควรแช่ในน้ำผสมน้ำส้มสายชู หรือน้ำผสมด่างทับทิม แล้วเปิดน้ำสะอาดไหลผ่านพร้อมกับถูไปมาหลายๆครั้ง เพื่อลดปริมาณสารที่ตกค้างอยู่ลงให้มากที่สุด จนไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายเรา.
...
ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย
คลิกอ่านคอลัมน์ "มันมากับอาหาร" เพิ่มเติม