เมื่อวานนี้ผมหยิบข่าวฮิตจากโซเชียลมีเดียว่าด้วยการทุบตึกเก่าแก่ย่าน “สามแยกหมอมี” หรือบ้างก็เรียก “สามแยกเฉลิมบุรี” ก่อนเข้าสู่เยาวราช จนเป็นเหตุให้ร้านของกินโด่งดัง 2 ร้านจะต้องแยกย้ายไปจากที่เดิม
ขณะเดียวกัน ผมก็ทิ้งท้ายไว้ว่า จะนำ “ตำนาน” ของ 2 ร้านเก่าแก่นี้มาเขียนให้ท่านผู้อ่านรุ่นหลังๆได้รับรู้รับทราบ และเพื่อบันทึกไว้เป็นส่วนหนึ่งของเกร็ดประวัติศาสตร์
วันนี้เรามาเริ่มที่ร้านแรก “ลอดช่องสิงคโปร์” ตัวจริงเสียงจริงเจ้าแรกของประเทศไทยกันเลยนะครับ
เป็นที่ทราบแล้วว่า “ลอดช่อง” เป็นของหวานสุดอร่อยที่คนไทยชอบรับประทานมาแต่โบราณกาลโน่นแล้ว...แต่เป็นลอดช่องดั้งเดิมที่ทำมาจาก “ข้าวเจ้า” ตัวเส้นอ้วนๆสั้นๆนำไปรับประทานกับนํ้ากะทิจนบางครั้งจะเรียกกันติดปากว่า “ลอดช่องนํ้ากะทิ”
ต่อมาเมื่อประมาณ 80 กว่าปีที่แล้ว ได้มีการก่อสร้างโรงภาพยนตร์ขึ้นโรงหนึ่ง ณ บริเวณสามแยกก่อนเข้าสู่เยาวราชดังกล่าวนี้ พร้อมกับตั้งชื่อว่า “โรงหนังสิงคโปร์” (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น เฉลิมบุรี)
ณ บริเวณตึกแถวหน้าโรงหนังสิงคโปร์นั้นเอง ได้มีชาวจีนคนหนึ่งมาเปิดขาย “ลอดช่อง” ในสไตล์ใหม่ขึ้น...มิใช่ทำมาจาก “ข้าวเจ้า” แต่ ทำจาก “แป้งมันสำปะหลัง” รสชาติแตกต่างจากลอดช่องตำรับเดิม
ปรากฏว่ากลายเป็นลอดช่องที่ถูกปากคนไทยยุคโน้น จนถึงขั้นแห่กันมากินก่อนดูหนัง หรือดูหนังจบแล้วก็ซื้อใส่กระป๋องนมกลับบ้าน
ชาวกรุงยุคนั้นจะเรียกลอดช่องสไตล์ใหม่นี้ว่า “ลอดช่องหน้าโรงหนังสิงคโปร์” ตามตำแหน่งที่ตั้งของร้านขายร้านแรก
...
เรียกกันไปนานๆเข้า คำว่า “หน้าโรงหนัง” ก็หายไปเหลือแต่ “ลอดช่องสิงคโปร์” เฉยๆ และมีการนำสูตรไปเผยแพร่ จัดทำขายในสถานที่ต่างๆทั่วประเทศ ภายใต้ชื่อเรียกนี้
จนกระทั่งมาถึงปี 2510 โดยประมาณ กีฬาฟุตบอลได้กลายเป็นกีฬาท็อปฮิตที่สุดของประเทศไทย และได้มีการเชื้อเชิญทีมฟุตบอลจากชาติเพื่อนบ้านมาเตะกับทีมชาติไทยในศึกต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นเอเชียนเกมส์, ซีเกมส์ หรือ “ฟุตบอลคิงส์คัพ” ที่จัดขึ้นเพื่อชิงถ้วยพระราชทาน เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม ของในหลวงรัชกาลที่ 9
เพื่อให้การเขียนข่าวกีฬาฟุตบอลเป็นที่เร้าใจผู้อ่านมากยิ่งขึ้น ฝ่ายข่าวกีฬาของหนังสือพิมพ์ต่างๆ จึงช่วยกันตั้งฉายาให้แก่หลายๆทีมที่มาแข่งเป็นประจำในบ้านเรา
เช่น ทีม เวียดนาม มักจะเรียกกันว่า “นักเตะสกุลเหงียน” ตาม ชื่อสกุลของชาวเวียดนาม ที่มักจะเริ่มด้วย “เหงียน” เป็นส่วนมาก
ทีม อินโดนีเซีย เราจะเรียกว่า นักเตะอิเหนา ตามราชนิพนธ์เรื่อง “อิเหนา” ที่ถือกำเนิดจากอินโดนีเซีย...และที่โก้มากก็คือ ทีม พม่า (ซึ่งยุคนั้นยังไม่มีคำว่าเมียนมา) ได้รับฉายาว่า “นักเตะหงสาวดี” ตามชื่อเมืองเอกในวรรณกรรมเรื่อง “ผู้ชนะสิบทิศ” ของ ยาขอบ โน่นเลย
มาเลเซีย ใช้ “เสือ” เป็นสัญลักษณ์อยู่แล้ว ประกอบกับนักเตะจะสวมชุดเหลืองเป็นประจำ...เราก็ตั้งฉายาให้ว่า “นักเตะเสือเหลือง”
ครั้นมาถึง สิงคโปร์ ไม่ทราบว่าฉบับไหนเรียกขึ้นก่อนว่า นักเตะ เมืองลอดช่อง ซึ่งก็ฮิตทันที เรียกตามทุกฉบับ (รวมทั้งผมที่ไปช่วย ทำข่าวกีฬาด้วย) เพราะนึกไปถึง ลอดช่องสิงคโปร์ ที่สามแยกหมอมี
ฉายา “นักเตะเมืองลอดช่อง” ฮิตมาก จนทำให้เข้าใจกันไปว่า สิงคโปร์คือประเทศเจ้าตำรับลอดช่องในสไตล์นี้
ต่อมาอีกหลายปีก็มีผู้รู้เขียนมาชี้แจงถึงที่มาที่ไปว่า “ลอดช่องสิงคโปร์” เกิดขึ้นได้อย่างไรในประเทศไทย...ฝ่ายข่าวกีฬาทั้งหลาย เมื่อทราบแล้วก็ค่อยๆเลิกเรียกทีมสิงคโปร์ว่าทีมลอดช่องไปในที่สุด
ร้าน “ลอดช่อง (หน้าโรงหนัง) สิงคโปร์” เขาจะเปิดถึงวันที่ 6 ธันวาคมนี้เป็นวันสุดท้าย จากนั้นก็จะปิดร้านเดิมไปเปิดร้านใหม่
ใครจะไปรำลึกความหลังก็เชิญนะครับ ร้านเก่าบรรยากาศเก่าๆ
ต่อไปก็จะเหลือเพียงตำนานในความทรงจำเท่านั้น แต่อย่าไป “จำ” ตำนานในช่วงที่พวกผมฝ่ายข่าวกีฬาตั้งฉายาผิดๆให้ประเทศสิงคโปร์นะครับ เพราะสิงคโปร์ไม่ใช่เมืองลอดช่อง และลอดช่องสิงคโปร์ก็เกิดขึ้นในเมืองไทยนี่เอง ไม่ได้มาจากสิงคโปร์!
“ซูม”
คลิกอ่านคอลัมน์ “เหะหะพาที” เพิ่มเติม