น้ำปลาร้า เครื่องปรุงอาหารถิ่นอีสานที่คนไทยนิยมนำมาปรุงอาหารหลากหลายเมนู เช่น ส้มตำปูปลาร้า ยำขนมจีนและยำต่างๆ แกงเปรอะ แกงหน่อไม้สด หมูปลาร้า เพราะน้ำปลาร้าช่วยให้อาหารมีรสอร่อย หรือที่เรียกกันว่านัว น้ำปลาร้าได้จากการนำปลาน้ำจืด เช่น ปลากระดี่ ปลาสร้อย ปลาช่อน หรือปลาทะเล เช่น ปลาจวด ปลาข้างเหลือง ปลาช่อนทะเลมาหมัก กระบวนการหมักเริ่มจากล้างปลาให้สะอาดแล้วนำมาผสมกับเกลือ รำ ข้าวคั่ว หมักทิ้งไว้ 3 เดือนถึง 1 ปี จากนั้นกรองและต้มให้สุก ก็จะได้น้ำปลาร้าแซ่บนัว

ปัจจุบันมีน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จต้มสุกบรรจุขวดวางขายในท้องตลาดและร้านค้าออนไลน์หลายยี่ห้อให้เราเลือกซื้อมาปรุงอาหารได้สะดวกขึ้น ทว่าน้ำปลาร้าที่ช่วยชูรสให้อาหารนัวนั้นอาจมีอันตรายบางอย่างแฝงอยู่ได้ เช่น โลหะหนักต่างๆที่ปนเปื้อนและสะสมอยู่ในแหล่งน้ำจืด ทะเล ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของปลาที่คนจับมาทำน้ำปลาร้า โลหะหนักที่ว่า เช่น สารตะกั่ว เมื่อเราได้รับตะกั่วเข้าสู่ร่างกายจากการทานอาหาร ถ้าได้รับปริมาณน้อยๆร่างกายจะขับออกได้หมดตามธรรมชาติ แต่หากได้รับปริมาณมากๆและบ่อยๆ จะก่อให้เกิดภาวะตะกั่วเป็นพิษได้ ทำให้มีอาการปวดหัวรุนแรง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก หากตะกั่วเกิดการสะสมในร่างกายจะทำให้เกิดโรคโลหิตจาง ทำลายระบบประสาทส่วนปลาย อาจเป็นอัมพาต ไตอักเสบ และเป็นหมันได้

สถาบันอาหารได้เก็บตัวอย่างน้ำปลาร้าต้มสุกปรุงรสบรรจุขวด 5 ตัวอย่าง จาก 5 ยี่ห้อที่ขายในเขตกรุงเทพฯ เพื่อนำมาวิเคราะห์ตะกั่วปนเปื้อน ผลปรากฏว่าพบตะกั่วปนเปื้อนในน้ำปลาร้าเพียง 1 ตัวอย่าง แต่พบในปริมาณ 0.09 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งน้อยกว่าค่ามาตรฐานของไทยที่กำหนดให้พบตะกั่วปนเปื้อนได้สูงสุดไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม

...

วันนี้น้ำปลาร้ายังปลอดภัยจากตะกั่ว แต่ไม่ควรทานเป็นประจำ และควรเลือกยี่ห้อที่ไม่เค็มมาก ในแต่ละวันควรทานอาหารให้หลากหลาย ครบ 5 หมู่ เพื่อความปลอดภัยและร่างกายที่แข็งแรง.

ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย

คลิกอ่านคอลัมน์ “มันมากับอาหาร” เพิ่มเติม