เดินทางกลับมา “วัดโบสถ์ หลวงปู่เทียน” จังหวัดปทุมธานีเที่ยวนี้ ด้วยความตั้งใจอยากไปกินกล้วยแขก เพื่อนำเงินไปร่วมสร้างอาคารเรียน โรงเรียนวัดโบสถ์ (บวรธรรมกิจวิทยา) หลังใหม่ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ทราบจาก ท่านเจ้าคุณต่อศักดิ์ เจ้าอาวาสได้ความว่า อาคารเรียนจะแล้วเสร็จราวเมษายน 2567 ฟังแล้วใจฟูด้วยความปีติ นักเรียนไม่ต้องหยุดเรียนจากเหตุน้ำท่วมอาคารเรียนหลังเดิมตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาอีกแล้ว ระหว่างแวะพูดคุยกับแม่ค้าจิตอาสาของวัด หันไปเห็นจานผัดไทยวางอยู่หลังร้านหน้าตาดูน่ากิน สอบถามได้ความว่า สั่งมาจากร้านริมแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ห่างจากวัดไปไม่ไกล

“คุณชายตะลอนชิม” สัปดาห์นี้ “คุณชายแป๊ะ” ขอแนะนำร้าน “บ้านเตี๋ยวริมน้ำ” ของ “คุณเอ๋–พดร กำหนดนับ” อายุ 47 ปี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี เดินผ่านหน้าโรงเรียนวัดโบสถ์หลังเดิม ยังคงเห็นสภาพน้ำท่วมขังในสนามบาสเกตบอลภายในโรงเรียน เดินตรงไปยังท่าน้ำวัดโบสถ์ เห็นป้ายโฆษณาแผ่นไวนิลขนาดใหญ่มีข้อความระบุว่า “ไม่มีตำนานของรสชาติ แต่เกิดมาสักชาติต้องมาชิม” แหม! แค่สโลแกนก็กินขาดแล้ว เดินเลี้ยวไปทางซ้ายตามป้ายลูกศรชี้ เข้าไปในชุมชนท่าน้ำวัดโบสถ์อีก 50 เมตรก็ถึงร้าน แค่เห็นศาลาตั้งอยู่หน้าบ้านเป็นที่ถูกอกถูกใจ ถอดรองเท้าขึ้นไปนั่งขัดสมาธิหน้าโต๊ะตัวเตี้ย ปล่อยให้สายลมจากแม่น้ำเจ้าพระยาพัดพาเอาความเย็นมาสัมผัสกับผิวกาย หายใจเข้ารู้ หายใจออกรู้ ปล่อยใจสงบ รู้สึกสบาย

...

ทอดสายตามองไปยังฝั่งตรงข้ามเป็นตลาดสดเมืองปทุม ดูเรือยนต์ลำเล็กลากเรือขนทรายลำใหญ่กลางลำน้ำแล่นไหลเอื่อยๆ พอหายเหนื่อยถึงเวลาท้าพิสูจน์สโลแกนของร้านว่า อร่อยแน่แท้จริงหรือไม่ แต่ก่อนสั่งผมเสนอตัวกับคุณเอ๋ ขอเข้าไปดูขั้นตอนการทำภายในครัว เดินเข้าไปในบ้านไม้หลังนี้ทำให้ผมนึกย้อนภาพความทรงจำวัยเด็ก เพราะมันช่างคล้ายกับบ้านป้าของผม พื้นไม้ขัดเหนือน้ำจากแม่น้ำทำให้รู้สึกเย็นสบาย ข้าวของเครื่องใช้วางไว้เหนือตู้ชั้นไม้ เหมือนโลเกชันในภาพยนตร์ย้อนยุค ครัวหลังบ้านทำขึ้นแบบง่ายๆเปิดโล่ง มองเห็นเด็กๆกระโดดลงเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน นึกขอบคุณคุณเอ๋ที่อนุญาตให้ผมเดินเข้ามา

คุณเอ๋ตักแป้งทอดเตรียมไว้พอให้เซตตัว นำลงไปทอดในกระทะใบเขื่อง เสียงน้ำมันเดือดๆ ดังฉ่าๆ ละอองน้ำมันลอยฟุ้ง ใช้เวลาทอดแป้งครู่ใหญ่ตัวแป้งเหลืองกรอบได้ที่ เติมไข่ไก่ที่ตีไว้พร้อมกับหอยแมลงภู่ใส่ลงไปบนแป้ง ผัดต่อให้ไข่สุก เติมถั่วงอก ต้นหอมซอยลงไปผัด ตักขึ้นมาใส่จาน โรยพริกไทยหอมๆ ผมคว้าช้อนตักน้ำจิ้มหอยทอดสูตรเด็ดของร้านทานคู่กับหอยทอดร้อนๆ เหลือเชื่อว่านี่คือ หอยทอดจากพ่อครัวมือใหม่อย่างคุณเอ๋ ที่เปิดร้านมาได้เพียงแค่ 2 เดือนเท่านั้น ฝีไม้ลายมือไม่ธรรมดา อร่อยล้ำสมสโลแกนร้านจริงๆ ตัวแป้งกรอบไม่อมน้ำมัน น้ำจิ้มรสชาติกลมกล่อมไม่หวานเลี่ยน ตัดด้วยรสเผ็ดของซอสพริก และความเปรี้ยวปลายลิ้นจากน้ำส้มสายชู

ผมเดินถือจานหอยทอดออกมานั่งกินที่ศาลาริมน้ำหน้าบ้าน ปล่อยให้ “คุณฝน–น้ำฝน ลามอ” อายุ 46 ปี ภรรยาของคุณเอ๋ ทำผัดไทยกุ้งสดมาให้ชิมเป็นจานถัดไป ด้านหน้าศาลาหลานชายของคุณเอ๋กำลังเช็ดถูเรือโดยสาร 2 ลำ ขนาดบรรทุกผู้โดยสารได้ 30 คน เป็นเครื่องมือทำมาหากินของครอบครัวคุณเอ๋ พอเสร็จงานหลานชายคุณเอ๋อาศัยแม่น้ำ ทั้งแปรงฟัน อาบน้ำ สระผมอยู่ตรงเชิงบันไดศาลา หันไปมองที่ท่าเรือวัดโบสถ์เห็นชาวบ้านหอบหิ้วถุงกับข้าวพะรุงพะรังก้าวเท้าออกจากเรือหางยาวข้ามฟากกลับมาขึ้นฝั่ง ผมมองภาพเหล่านี้อย่างใจเป็นสุข พวกเขาใช้ชีวิตแบบนี้มาแต่ไหนแต่ไร ถึงหอยทอดและผัดไทยจะอร่อยแค่ไหน ก็ไม่เท่ากับความสุขที่สัมผัสได้ด้วยตา วิถีชีวิตชาวบ้านแบบนี้ที่คนเมืองอย่างผมใฝ่หา

...

“พี่โชคดีจังที่มีบ้านอยู่ริมแม่น้ำแบบนี้” ผมเปิดบทสนทนาเมื่อชวนคุณเอ๋มานั่งกินไปด้วยคุยไปด้วย

คุณเอ๋ยิ้มรับในความชมชอบ เล่าว่า “บ้านหลังนี้อยู่กันมาตั้งแต่รุ่นตา รุ่นยาย พื้นเพเป็นคนริมแม่น้ำมาตลอด พี่รู้สึกโชคดีที่มีบ้านอยู่ริมแม่น้ำ มีบ้างที่น้ำท่วมสูงขึ้นเป็นเมตร แต่มันเป็นความเคยชินแล้ว การใช้ชีวิตอยู่กับน้ำท่วมมันไม่ลำบาก เพราะมันเป็นวิถีของชาวริมแม่น้ำว่าจะต้องอยู่อย่างไร เมื่อตอนปี 2554 เกิดน้ำท่วมใหญ่ ทั้งครอบครัวต้องย้ายเข้าไปกินนอนอยู่ในเรือโดยสารกันมาแล้ว”

“แม่พี่ (นางสำลี กำหนดนับ อายุ 80 ปี) พายเรือข้ามฟากส่งผู้โดยสารมาตั้งแต่ราคาคนละ 1 สลึง จนมาถึงรุ่นเราขับเรือยนต์รับจ้างส่งผู้โดยสารระหว่างท่าเรือวัดโบสถ์ กับตลาดสดเมืองปทุม รับส่งเด็กนักเรียนโรงเรียนคณะราษฎร์บำรุง วิทยาลัยเทคนิคปทุมธานี และโรงเรียนวัดโบสถ์ เมื่อก่อนนักเรียน คนทั่วไปใช้บริการเรือข้ามฟากตลอดทั้งวัน แต่พอวิทยาลัยเทคนิคปทุมธานีเปลี่ยนระบบการเรียนเป็นเข้าเรียนตอนเช้า เลิกเรียนตอนเย็น ทำให้รายได้จากเรือข้ามฟากอย่างเดียวมันไม่พอกับค่าครองชีพ ทำให้เกิดแนวคิดขายอาหารเป็นรายได้เสริมขึ้นมา”

...

“พี่เรียนรู้การผสมแป้ง หมักแป้งหอยทอดด้วยตัวเอง ลองผิดลองถูกหมดแป้งไปเยอะมาก แต่ไม่เคยย่อท้อ เริ่มจากทำให้คนในครอบครัวกินจนมั่นใจว่าแป้งกรอบอร่อยได้รสชาติ น้ำจิ้มปรุงรสได้ตามที่ต้องการ อาจจะเป็นความโชคดีของพี่ที่มีบ้านอยู่ริมน้ำได้ใช้พื้นที่ศาลาตั้งโต๊ะให้ลูกค้านั่งทานอาหาร หลายเสียงตอบรับต่างถูกใจกับบรรยากาศ ลมพัดเย็นสบายตลอดทั้งวัน เชื่อว่านอกจากอาหารอร่อยแล้ว ผู้คนแสวงหานั่งกินริมแม่น้ำในราคาย่อมเยาแบบนี้ บางวันถ้าในศาลาเต็ม มีตั้งโต๊ะตรงเรือนชานหน้าบ้าน นอกจากนี้ยังมีบริการให้ลูกค้าลงไปนั่งกินในเรือโดยสารด้วย”

ผมมองไปในเรือคิดว่ามันจะตั้งโต๊ะกินข้าวได้จริงหรือ เมื่อเรือลอยโยกเยกไปตามคลื่น “คนหนุ่มสาวน่าจะเหมาะกว่าผู้สูงอายุนะครับพี่ อย่างผมนั่งตรงศาลานี่ล่ะสบายที่สุดแล้ว” ผมกลั้วหัวเราะยอมรับสภาพตัวเองผ่านวัยรุ่นมาหลายปี

คุณเอ๋พยักหน้ายิ้มรับอย่างเข้าใจ “วันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ มีก๋วยเตี๋ยวหมูน้ำตกไว้บริการ เด็กๆมาช่วยกันขายขนมถ้วย ลูกชิ้นปิ้ง น้ำลำไย น้ำเก๊กฮวย ด้วยนะ”

...

“แล้วงานผู้ใหญ่บ้านล่ะพี่ ต้องดูแลชาวบ้านยังไงบ้าง” ผมเปลี่ยนประเด็น ถามถึงบทบาทผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 ตำบลบ้านกลาง ที่คุณเอ๋ต้องดูแลประชากรในพื้นที่ 500 หลังคาเรือน

“พี่ทำหน้าที่ช่วยเหลือชาวบ้าน โดยเฉพาะผู้ป่วยนอนติดเตียง ประสานไปที่ศาลานที ทองศิริ หรือเซียนแปะโรงสี วัดศาลเจ้า เนื่องจากมีคนนำข้าวสาร อาหารแห้ง มาบริจาคเป็นประจำ เมื่อได้รับของบริจาคมาพี่จะนำไปมอบให้แก่ชาวบ้านที่ขาดแคลน ยิ่งในช่วงน้ำท่วมต้องทำการประสานกับเทศบาล นำทราย ถุงปุ๋ย มาให้ชาวบ้านร่วมแรงร่วมใจกันบรรจุทรายใส่ถุงปุ๋ยทำเป็นคันกั้นน้ำ ถือเป็นหน้าที่หลักของพี่” คุณเอ๋กล่าวด้วยแววตามุ่งมั่นตั้งใจ หันไปมองดวงตะวันลับขอบฟ้า

สนนราคา ผัดไทย 50 บาท, หอยทอด 50 บาท, ก๋วยเตี๋ยวหมู 30 บาท, ขนมถ้วยคู่ละ 10 บาท, น้ำเก๊กฮวย, น้ำลำไย แก้วละ 10 บาท ส่วนลูกชิ้นปิ้งไม้ละ 5 บาท ร้าน “บ้านเตี๋ยวริมน้ำ” เปิดทุกวัน เวลา 08.00-16.00 น. หอยทอดผัดไทยมีขายทุกวัน ส่วนก๋วยเตี๋ยวหมูและขนมถ้วย มีขายเฉพาะวันเสาร์อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ สอบถามเพิ่มเติม โทร.09-6935-3832.

คุณชายแป๊ะ

คลิกอ่านคอลัมน์ "คุณชาย ตะลอนชิม" เพิ่มเติม