ปิดฉากลงอย่างสวยงามสำหรับงาน ANUGA 2023 ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดของโลก ที่เมืองโคโลญ ประเทศเยอรมนี ซึ่งในปีนี้มีผู้ประกอบการด้านอาหารเข้าร่วมจัดแสดงสินค้ากว่า 7,900 ราย จาก 118 ประเทศ และมีผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมงานราว 140,000 ราย จาก 200 ประเทศทั่วโลก

สำหรับในปีนี้ธีมการจัดงานคือ “ความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานอาหาร” ซึ่งโคโลญเมสเซ ผู้จัดงานหลัก มองว่า ANUGA 2023 เป็นหนึ่งงานที่ทุกคนมาร่วมกันเพื่อหาโซลูชันของความยั่งยืนในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อรองรับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นและที่พิเศษในปีนี้ คือ องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) ได้เข้ามาร่วมเป็นเจ้าภาพการประชุม (Congress) ร่วมกับ Anuga เพื่อหารือเกี่ยวกับ Food SDGs และความยั่งยืนเกี่ยวกับอาหาร Food Traceability อาหารปลอดภัย โลจิสติกส์ การจัดหาอาหารในอนาคต และระบบการผลิตอาหาร และการจัดหาระบบจัดส่งอาหารให้คนทั่วโลก

...

พันชนะ วัฒนเสถียร เจ้าของแบรนด์ร้านอาหารดังอย่าง เปนลาว, ม่วนเส้น, อันหยังก่ได้ เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการไทยที่เดินทางไปร่วมงาน ANUGA 2023 ซึ่งเธอมองว่าเป็นงานที่สร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการด้านอาหารและเครื่องดื่มของไทยอย่างมาก

พันชนะ บอกว่า เธอได้ร่วมงาน Anuga มาแล้วหลายครั้ง ทุกครั้งไม่เคยผิดหวัง เพราะผู้ประกอบการไม่ว่าจะขนาดเล็กรวม Start Up ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ต่างใช้เวทีนี้ในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ทั้งในรูปแบบที่เราคุ้นเคยปกติ เช่น ข้าว ธัญพืช น้ำมัน นม ขนม อาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง เครื่องดื่มชูกำลังที่นำเสนอส่วนผสม รสชาติในรูปแบบใหม่ที่เราอาจไม่คุ้นเคย บรรจุภัณฑ์ ฯลฯ

เธอบอกว่า แม้โจทย์ใหญ่ของงานจะมุ่งไปในกระแสหลัก คือ ความยั่งยืนในระบบอาหารของโลก แต่สิ่งที่เธอมองเห็นจากงานนี้คือ การมองจากมุมของคนตัวเล็กๆที่เห็นทั้งภาพที่เป็นอุปสรรค โอกาส และความท้าทายของประเทศที่มีศักยภาพด้านอาหารอย่างประเทศไทย

“ปีนี้เรามองเห็นภาพความน่าสนใจของหลายประเทศในการนำสินค้าและผลิตภัณฑ์มาจัดแสดง ปีนี้แนวโน้มผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่กลับไปที่การใช้วัตถุดิบจากพืช ผัก ผลไม้ เรียกว่ากลับไปสู่สามัญเทรนด์เรื่องสุขภาพ สมุนไพร การลดการบริโภคเนื้อสัตว์ การนำเสนอผลิตภัณฑ์จาก Plant Based ยังคงมาแรง แต่ต้องอยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และคำนึงถึงการจัดการขยะอันเกิดจากการบริโภคด้วย” พันชนะบอกและว่า ต้องยอมรับว่างาน ANUGA 2023 ปีนี้ มีการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงห่วงโซ่ทั้งระบบ การพัฒนาวิจัย การคิดค้นเพื่อตอบโจทย์ทั้งในแง่ของการเข้าใจผลกระทบของการผลิตที่มีต่อโลกและความต้องการของผู้บริโภคของประเทศของตนที่นำพาจุดแข็งมาสร้างสรรค์ ส่งเสริม พัฒนา ต่อยอด นำเสนอด้านการตลาด การโฆษณา การออกแบบผลิตภัณฑ์ การเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านการนำเสนอแนวคิดด้าน “ความยั่งยืน” อย่างเป็นระบบครบวงจร รวมถึงการรีไซเคิล อัปไซเคิลด้วย

ที่น่าสนใจอีกอย่างสำหรับงานนี้คือ การนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีรากฐานการพัฒนาจากการเกษตร โดยเฉพาะเกษตรแบบปฏิรูป (Regenerative Farming) ที่ผู้บริโภคใส่ใจถามหาต้นทางที่มาของผลิตภัณฑ์ ที่สอดรับกับแนวคิดความยั่งยืนอย่างที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้เลย

พันชนะ ให้ข้อมูลว่า ปีนี้ผลิตภัณฑ์ที่เห็นในแต่ละกลุ่มนั้นต่างขนกันออกมาแบบจัดเต็ม เช่น ประเทศในกลุ่มตะวันออกกลางจุดเด่นพวกธัญพืช ถั่วชนิดต่างๆ อินทผลัม หญ้าฝรั่น (Saffron) ฯลฯ ประเทศกลุ่มเอเชียส่วนใหญ่เป็นพวกข้าว เครื่องปรุงซอสต่างๆ มะพร้าว ผลไม้อบแห้ง ไอศกรีม ธัญพืช ผัก ผลไม้ ฯลฯ ส่วนกลุ่มประเทศแถบสแกนดิเนเวียนำเสนอด้านนวัตกรรมอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ผ่านการนำเสนอของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่พร้อมเป็นผู้กำหนดแนวโน้มการบริโภคแม้ว่าจะยังอยู่ในระดับภูมิภาคของเขาเองก็ตาม

...

“ส่วนตัวได้มีโอกาสไปฟังการนำเสนอการตลาดกับกลุ่ม Generation Push : the impact of Gen Z consumers and future opportunities สรุปได้ว่าคนรุ่นนี้ให้ความสำคัญกับการบริโภคที่จะส่งผลต่อสุขภาพมากที่สุด รองลงมาคือรสชาติที่พร้อมเปิดรับรสชาติใหม่ๆ”

พันชนะวิเคราะห์ว่า จากข้อมูลที่ได้ฟังสรุปได้ว่ากลุ่ม Gen Z จะกลายมาเป็นคนกำหนดการบริโภคของโลกมากขึ้นๆ จากแนวโน้มที่เขากำลังเติบโตและอยู่ในวัยบริโภค ซึ่งถ้าใครสนใจสามารถเข้าไปหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.innovamarketinginsights.com

...

เธอให้ภาพอนาคตว่า ถ้ากรรมการ Soft Power แห่งชาติ จะได้ยินเสียงเล็กๆของผู้ประกอบการตัวเล็กๆ เธอก็อยากจะบอกว่า หากรัฐบาลมีการเตรียมตัวเพื่อการจัดงานในอีกสองปีข้างหน้านี้ ด้วยการนำเสนอบูธไทยแลนด์แบบบูรณาการ ประมวลสิ่งที่อยากนำเสนอทั้งหมดมาออกแบบเพื่อสร้างประสบการณ์ให้ผู้มาในงานได้รู้จักผลิตภัณฑ์ Product of Thailand, Made in Thailand การเดินทางของผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมการวิจัยและพัฒนาในด้านต่างๆ บูรณาการกับการท่องเที่ยวเชิงอาหาร สมุนไพร เวลเนส กีฬา ภาพยนตร์ แฟชั่น งานปั้นเซรามิก Tableware ฯลฯ หรือแม้แต่การนำนวดแผนโบราณไทยนำเสนอในแง่มุมที่สอดคล้องกับอาหาร โดยนำเสนอให้เป็นไปใน Theme เดียวกันก็จะทำให้เกิดพลังอย่างมาก ต้องไม่ลืมว่าเราเป็นประเทศเล็กๆที่มีทุกอย่าง ความมั่นคงทางด้านอาหารในประเทศเราไม่เป็นรองใคร ไทยมีความอุดมสมบูรณ์ของการเกษตร มีความหลากหลาย พืชผัก ผลไม้เมืองร้อน ข้าวหอมมะลิ ปศุสัตว์ เกษตรอินทรีย์ ฯลฯ

...

แค่ทำเรื่องเหล่านี้ให้มีพลัง ส่งเสริมทุกภาคส่วนให้มีโอกาสเติบโตทั้งด้านเกษตร หรือธุรกิจ SME ก็เชื่อว่าฝันที่ไทยจะเป็น “ครัวโลก” หรือศูนย์นวัตกรรมอาหารของโลกอาจไม่ใช่เรื่องไกลตัว.

คลิกอ่านคอลัมน์ “THE NEW NORMAL” เพิ่มเติม