นับแต่ถนนเฉลิมบูรพาชลทิตเลียบทะเลอ่าวไทยจากจังหวัดชลบุรี ถึงระยอง... จันทบุรี...ตราด แล้วเสร็จ โอ้โห! บรรยากาศท่องเที่ยวเยี่ยมจริงๆ “คุณชาย 3” แทบไม่เชื่อบ้านเราจะมีโลเกชันสวยปังปุริเย่ขนาดนี้ ทริปนี้จึงขอเลือกไปช่วงแหลมแม่พิมพ์–ชุมชนปากน้ำประแสอีกสักครา

อยู่ห่างกัน 11 กิโลเมตร มีสะพานประแสสิน ทอดข้ามปากน้ำสู่ปากอ่าว เห็นวิถีชุมชนกับเรือประมงเทียบท่าอยู่เบื้องล่าง เมื่อผ่านจุดสิ้นสุดราวสะพานมีสามแยกสัญญาณไฟ เลี้ยวซ้ายเข้าถนนเลียบใต้สะพานก่อนถึงป่าชายเลนทุ่งโปรงทอง 500 เมตร ก็ถึงจุดหมายปลายทาง...

“ร้านบ้านปลา (BAANPLA Coffee & Restaurant)” ปลูกอยู่ขวามือริมป่าโกงกาง...น่ารักเชียว

ระหว่างยืนเก้ๆกังๆสองสามีภรรยาเจ้าของร้านวัยกลางคนชาวประแส โผล่มาทางไหนไม่รู้ร้องทักคุณชายขึ้นก่อน ฝ่ายชายคือ “ทรงกลด ศิริธรรม” เป็นทั้งเจ้าของกิจการอาหารทะเลแปรรูปและนักลงทุนสตาร์ตอัพร้านอาหารให้ “ติ๋ม” ภรรยาที่เพิ่งลงมือทำธุรกิจร้านอาหารเมื่อปี 2562 นี่เอง

ด้วยเพราะมีเพื่อนมากบวกกับภรรยาก็มีฝีมือด้านนี้อยู่แล้วจึงตัดสินใจทำ กระนั้นแล้วก็มีเพื่อนๆเคยเตือนว่าอยู่กลางป่าชายเลนอย่างนี้ใครที่ไหนจะมากิน พอทำได้สัก 5 เดือนก็เห็นผลทันที

...

คุณชายฟังแล้วก็ทำตาลุกวาวอะไรจะรวดเร็วขนาดนั้น “ที่บอกเห็นผล...หมายถึงเจ๊ง! ตั้งแต่ออกสตาร์ตจนต้องรีบสต็อปก่อนจะหมดไปมากกว่านี้?”

เขาหมายถึงว่าถูกพิษโควิดเล่นงานจนต้องหยุดกิจการไว้นานเป็นแรมปี แล้วก็กลับมาเปิดใหม่อีกทีเมื่อโควิดคลี่คลาย ที่สำคัญชุมชนปากน้ำประแสก็เริ่มมีนักท่องเที่ยวมากขึ้นหลังเปิดเส้นทางเฉลิมบูรพาชลทิต กับได้รับการส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวประเภทวิถีชุมชนจาก ททท.ระยอง ด้วยมี “สตอรี” น่าสนใจ

ไม่เสียทีที่เป็นซอฟต์พาวเวอร์อีอีซี ผลตอบรับก็น่าพอใจว่าไปต่อได้

OOOO

ติ๋มเหมือนรู้สคริปต์ไทม์ไลน์จัดการยกอาหารออกมาโดยพลัน เมนูแรกลงตัวที่ “ปลาต้มหวาน” พอจะรู้ถึงที่มาอยู่บ้างคือจะใช้ “ปลาโม่ง” คล้าย “ปลาทู” หรือ “ปลาลัง” ขนาดลำตัวจะใหญ่เรียวกว่าเล็กน้อย คนเมืองจันท์เรียก “ปลาต้มเค็ม” ต่างจากคนเมืองยอง แต่หวานกรอบมันไม่ต่างกัน

“วิธีทำเลือกเอาปลามาจัดการต้มกับน้ำตาลอ้อย” ติ๋มอธิบาย “ขั้นแรกใช้อ้อยทุบแล้วรองไว้ที่ก้นหม้อกันไม่ให้ดำ ต้มน้ำตาลอ้อยนานแค่หนึ่งชั่วโมงก็พอแล้ว ปิดไฟสักพักไม่ให้เนื้อปลาเละ จากนั้นเปิดไฟอีกครั้งทิ้งไว้นานถึงสองชั่วโมงปลาจะอุ้มหวานเข้าเนื้อ และก้างจะกรอบสุกกินได้ทั้งตัวไม่ต้องกลัวจะตำคอ”

ถ้าจะให้ครบสูตรตะวันออกต้องกินคู่ “น้ำพริกกะปิ” หรือ “น้ำพริกระกำ” ได้ผักสดแนมตามฤดูกาล เหตุผลคือน้ำพริกถิ่นนี้ไม่นิยมใช้กะปิที่อื่น เกรงจะจับ “กุ้งเคย” มาด้วยวิธี “คราด” จากดินปนทรายซึ่งมักมีของแถม แต่ “เคย” ที่นี่ชัวร์เพราะ “ยกยอ” ได้ในแม่น้ำประแส ก่อนต้มแล้วตากแดดให้แห้งจนสนิทรสชาติดี

การันตีได้หลังลงมือโซ้ยปลาต้มหวาน ควบน้ำพริกรสนุ่มหอมละมุนกลิ่นกุ้งเคยน้ำกร่อยที่อยากท้าให้ลองชิม จะได้เห็นดีเห็นงามว่าเด็ดดวงเสียจริงๆ

...

จากนั้นก็มาถึงเมนูต่อไป “กระดูกหมูต้มระกำ” แรกเห็นพานนึกไปว่าคือซุปน้ำข้นอะไรทำนองนั้น แต่พอได้กลิ่นแตะปลายจมูกจากเยื่อระกำโชยมากับควันหอมกรุ่นก็อนุมานได้ว่าเป็นอาหารพื้นบ้านขนานแท้ของชุมชนปากน้ำประแสตรงที่มีระกำเป็นวัตถุดิบอยู่ด้วย

ชามนี้เรียกว่าเปรี้ยวถูกปากจากการเฉือนผิวระกำริมรั้วแบบไม่ต้องพึ่งมะนาว ยิ่งได้ซดน้ำร้อนๆด้วยแล้ว...อุแหม่! ดู๊ดู มันช่างสะใจพระเดชพระคุณท่านร้าวไกลไปถึงทรวง ส่วนหมูมารู้ภายหลังว่าเนื้อนั้นนุ่มนิ่มจนเคี้ยวกรอบกรุบๆ เพราะต้องอดทนตุ๋นนานร่วม 2 ชั่วโมงจึงจะยุ่ยช่วยย่อยได้

อ้อลืมบอกไปอย่าง...มีการนำข่าอ่อนมาหั่นซอยแล้วโรยหน้ากับเติมชะอมลงไปผสมให้ดูน่ากินยิ่งขึ้นด้วยนะครับ...เมนูเด็ดชามนี้จึงดูพิถีพิถันเป็นพิเศษ

OOOO

“ปลากระบอกแดดเดียว” เป็นอีกเมนูจัดจ้านที่แม้ว่าทรงกลดจะชิงออกตัวเสียก่อนว่าอร่อยสู้กระบอกปักษ์ใต้บ้านเราไม่ได้ เพราะที่นั่นเป็นปลาชนิดเจริญพันธุ์ในดินปนทรายเนื้อจึงแน่นสมบูรณ์กว่าที่นี่ ซึ่งอาศัยแต่ป่าชายเลนเนื้อถึงหยาบกร้านกว่า...แต่ก็ได้ความสดและรสหวานธรรมชาติแบบฟินเว่อร์ที่สุดนั่นแล

...

แล้วก็มาถึงซิกเนเจอร์ของบ้านปลาที่เคยล้ำหน้าเหนือเมนูใด ต้องยกนิ้วกดไลค์ให้...“ข้าวคลุกมันปู” ข้าวสีออกเหลืองอ๋อยจากมันปูคล้ายข้าวหมกอิสลาม ทั้งนี้เกิดจากมันปูสำเร็จรูปของชาวบ้านประแส

คลุกแล้วเอามาส่งตามออเดอร์ จากนั้นตกแต่งด้วยผักสด เช่น ข้าวโพดอ่อน ถั่วพู ถั่วฝักยาว แครอท ดอกกะหล่ำ แตงกวา ผักกาดขาว ให้สวยงามและเพิ่มมูลค่าชวนกินมากขึ้น...แต่เดี๋ยวนี้เพิ่มเนื้อปูดำสดนึ่งแกะใส่กระดองดีไซน์เก๋ไปอีกแบบ เลยเป็นซิกเนเจอร์ใหม่ใครมาเป็นต้องสั่ง...ไม่อย่างนั้นจะฟุ้งกับใครไม่รู้เรื่อง?

อย่างไรก็ตาม อาหารพื้นบ้านตะวันออก “ร้านบ้านปลา” ยังมีให้เลือกอีกมาก อาทิ กุ้งผัดพริกไทยดำ ปูจ๋า ปูก้อน ปูไข่ดอง ยำปูม้า แกงส้มปูไข่หน่อไม้ดอง ปูผัดพริกเกลือ หมึกกะตอยผัดกระเทียม ปลาเห็ดโคนราดน้ำปลา ปลาชะมวง ผัดไทยกุ้งสดหรือ ผัดไทยปลาอินทรี ที่พลาดไม่ได้คือยำ ผักกระชับอาหารเด่นประจำถิ่น

สนนราคาแต่ ละจานเริ่มต้นที่ 100-500 บาท และที่อยากจะแนะนำให้ซื้อกลับบ้านคือ “มะม่วงแช่อิ่ม” จากโรงงานในเครือมีขายบางฤดูเมื่อมีมะม่วงอ่อนแพ็กละ 100 บาท หรือจะเปิดกินเป็นมะม่วงลอยแก้วใส่น้ำแข็งก็เหมาะเลยล่ะอยากชิมอยากลอง...ร้านริมป่าโกงกางที่ว่าเปิดขายตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 2 ทุ่ม (หยุดวันจันทร์)

...

สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ 09–2709–5521 นะเออ...“เที่ยววิถีชุมชนเก๋ไก๋” ต้องไม่มองข้าม “บ้านปลา” นะขอรับ.

คุณชาย 3

คลิกอ่านคอลัมน์ “คุณชายตะลอนชิม” เพิ่มเติม