ข้าวหมูแดง อาหารจานเดียวยอดนิยมที่แทบทุกตรอก ซอกซอยที่ขายอาหารหรือศูนย์อาหารต่างๆต้องมีร้านข้าวหมูแดงหมูกรอบขาย ส่วนประกอบหลักของข้าวหมูแดงคือ หมูแดงปรุงรสที่ย่างหรือปรุงสุก กุนเชียง ไข่ต้มและน้ำราด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของที่ปรุงสุกแล้ว เมื่อเราสั่งซื้อคนขายก็จะหยิบหมูแดง ไข่ต้ม กุนเชียง แตงกวา ต้นหอม นำมาหั่นแล้ววางจัดเรียงบนข้าวสวย จากนั้นก็ราดน้ำเป็นอันเสร็จพร้อมเสิร์ฟ หากผู้ขายหรือผู้สัมผัสอาหารไม่รักษาสุขลักษณะส่วนบุคคลให้ดี ไม่รักษาความสะอาด เช่น ไม่ล้างมือหลังเข้าห้องน้ำหรือหลังหยิบจับสิ่งสกปรก หรือใช้อุปกรณ์ ภาชนะที่ไม่สะอาด หรือใช้เขียงและมีดหั่นของสุกและของดิบปะปนกัน หรือใช้ผ้ากันเปื้อนซ้ำๆโดยไม่ซักทำความสะอาด ก็อาจทำให้มีเชื้อก่อโรคปนเปื้อนลงในข้าวหมูแดงได้

เช่น เชื้อสตาฟิโลคอคคัส ออเรียส เชื้อชนิดนี้เป็นแบคทีเรียที่อยู่ในผิวหนัง เยื่อเมือกของคนและสัตว์ และมักพบอยู่ที่มือของคนเรา หากมือคนขายไม่สะอาดแล้วไปหยิบจับอาหารก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เชื้อ สตาฟิโลคอคคัส ออเรียส ปนเปื้อนในอาหารได้ เมื่อเชื้อนี้เข้าสู่ร่างกายจะทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน เป็นตะคริวในช่องท้อง อ่อนเพลีย ปวดศีรษะและเป็นตะคริวที่กล้ามเนื้อ ปกติเชื้อชนิดนี้ถูกทำลายได้ด้วยความร้อนที่ใช้ในการปรุงอาหารให้สุก แต่หากเราเก็บอาหารที่ปรุงสุกแล้ว เช่น ข้าวหมูแดง ไว้นานเกิน 4 ชั่วโมง และเก็บไว้ในอุณหภูมิที่ไม่เหมาะสม อาจทำให้เชื้อที่ปนเปื้อนอยู่แล้วเพิ่มจำนวนมากขึ้นจนสร้างสารพิษที่เป็นสาเหตุให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษอีกด้วย

...

วันนี้สถาบันอาหารสุ่มตัวอย่างข้าวหมูแดง จำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ร้านค้า ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อวิเคราะห์เชื้อก่อโรค สตาฟิโลคอคคัส ออเรียส ปนเปื้อน ผลปรากฏว่ามีข้าวหมูแดง 1 ตัวอย่าง พบเชื้อชนิดนี้ปนเปื้อน แต่ปริมาณที่พบยังไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานตามที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กำหนด คือไม่เกิน 100 CFU/g อย่าชะล่าใจกันนัก แนะนำว่าควรเลือกซื้อจากร้านที่มั่นใจได้ว่าผู้ขายและพนักงานมีการรักษาสุขลักษณะส่วนบุคคลที่ดี บริเวณร้าน อุปกรณ์ ภาชนะต่างๆที่ร้านใช้สะอาดสะอ้าน หากซื้อกลับมาบ้านก็ควรอุ่นให้ร้อนก่อนทานทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยของร่างกายเรา.

ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย