ขิงสมุนไพรของไทยมีลำต้นแท้อยู่ใต้ดินและมีลักษณะเป็นเหง้า เรียกกันว่าแง่งขิง คล้ายนิ้วมือ รสชาติหวาน เผ็ดร้อน ขิงมีฤทธิ์แก้หวัด ขับเหงื่อ บำรุงกระเพาะ แก้อาการคลื่นไส้ อาเจียน ช่วยขับลม บำรุงธาตุไฟ รักษาระดูมาไม่สม่ำเสมอ และลดอาการปวดประจำเดือน แม้ขิงจะมีสรรพคุณมากมาย ทว่าขิงเป็นพืชล้มลุกที่มีเหง้าอยู่ใต้ดิน หากดินบริเวณที่ปลูกหรือน้ำที่ใช้รดมีโลหะหนักปนเปื้อน เช่น ตะกั่ว ก็อาจทำให้ตะกั่วถูกดูดซึมและปนเปื้อนเข้าสู่เหง้าขิงได้ เมื่อเรานำขิงมาปรุงประกอบอาหารหรือเครื่องดื่มและทานเข้าไปก็อาจทำให้ตะกั่วเข้าสู่ร่างกายและเป็นอันตรายได้ โดยตะกั่วจะถูกดูดซึมในระบบทางเดินอาหาร กระจายตัวอยู่ในกระแสเลือด ตับและไต หากร่างกายได้รับตะกั่วปริมาณมากๆ จะทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องอย่างรุนแรงเป็นพักๆ ความคิดสับสน ชักหรือหมดสติ แต่หากได้รับตะกั่วเข้าสู่ร่างกายต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ จะทำให้มีอาการแบบเรื้อรัง คือ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องอย่างรุนแรง น้ำหนักลด ปวดตามกล้ามเนื้อและข้อต่อต่างๆ มีอาการชาตามปลายมือปลายเท้า พบภาวะเลือดจาง และภาวะไตวายเรื้อรัง

วันนี้สถาบันอาหารได้สุ่มตัวอย่างขิงแก่สดจำนวน 5 ตัวอย่าง ที่วางจำหน่ายตามร้านค้าและตลาดในเขตกรุงเทพฯและต่างจังหวัด เพื่อนำมาวิเคราะห์ปริมาณตะกั่วปนเปื้อน ผลปรากฏว่ามีขิง 4 ตัวอย่าง ที่พบตะกั่วปนเปื้อนอยู่ในช่วง 0.05-0.28 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งปริมาณที่พบนับว่าน้อยมาก และยังไม่เกินค่ามาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 414 พ.ศ.2563 เรื่องมาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน กำหนดให้พบตะกั่วปนเปื้อนได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม.

...

ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย