ประโยชน์ส่วนใหญ่ของวิตามินเคนั้นจะเกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือด มีบทบาทช่วยในการสร้างกระดูก วิตามินที่ละลายในไขมันได้ชนิดนี้ มี 2 รูปแบบ ได้แก่ ฟิลโลควิโนน (Phylloquinone) หรือวิตามินเค 1 พบในผักใบเขียว เช่น กะหล่ำปลี คะน้า ผักโขม ส่วนอีกแบบ คือเมนาควิโนน (menaquinone) หรือวิตามินเค 2 พบได้ในอาหารจำพวกเนื้อสัตว์บางชนิดและอาหารหมักดอง
นักวิจัยจากวิทยาลัยสาธารณสุข ที เฮช ชาน ฮาร์วาร์ด ในนครบอสตัน รัฐแมสซา ชูเสตต์ สหรัฐอเมริกา ระบุว่าปริมาณของการรับวิตามินเคนั้น สำหรับชายวัยผู้ใหญ่อายุ 19 ปีขึ้นไปคือ 120 ไมโครกรัมต่อวัน สำหรับสตรีวัย 19 ปีขึ้นไปคือ 90 ไมโครกรัมต่อวันส่วนสตรีวัย 19-50 ปีที่ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร คือ 90 ไมโครกรัมต่อวัน เมื่อเร็วๆนี้ เว็บไซต์ไทม์ส ออฟ อินเดีย แนะนำเมนูอาหารสุดฮิตที่จะเสริมวิตามินเคจากธรรมชาติให้กับร่างกาย เช่น ปาลัก ปาร์นี หรือแกงผักโขมใส่ชีส ซึ่งวิตามินเคยังพบได้ในชีสหลายชนิดด้วย หรือจะเป็นเมนูสลัดบรอกโคลีที่เต็มไปด้วยวิตามินเค ทำจานอร่อยได้ไม่ยากคือนึ่งบรอกโคลีสัก 5-6 นาที ปรุงกับกระเทียม น้ำมะนาว น้ำส้มสายชูข้าว พริกแดงป่น เกลือ พริกไทยดำ เหยาะน้ำมันมะกอกลงไป โดยจะกินแบบอุ่น หรือจะแช่ตู้เย็นเป็นสลัดแบบเย็นก็ได้
นอกจากนี้ ไข่ซึ่งมีแร่ธาตุมากมายก็มีวิตามินเคเช่นกัน ไข่แดง 1 ฟองมีวิตามินเค 2 อยู่ 67-192 ไมโครกรัม ส่วนเนื้อสัตว์ก็มีวิตามินเคเช่นกันอย่างเนื้อไก่ ซึ่งอาหารจำพวกพืชผักและเนื้อสัตว์อุดมวิตามินเคเหล่านี้นับเป็นวัตถุดิบที่หาได้ง่าย และสามารถปรุงอาหารได้แบบง่ายๆด้วย.