ไม่ได้มีแต่ “กัญชา-กัญชง” ที่เป็นพืชเศรษฐกิจความหวังใหม่ของประเทศไทย แต่สุดยอดแหล่งโปรตีนซุปเปอร์ฟู้ดอย่าง “แมลงกินได้” ยังเป็นสินค้าส่งออกที่มีอนาคตสดใส พร้อมเป็นฟันเฟืองใหม่ในการสร้างรายได้ให้ประเทศ โดยเฉพาะในยามวิกฤติ ที่จีดีพีหดตัวเหลือไม่ถึง 1.3% เพราะเจอพิษโควิด-19 เล่นงานหนัก
หลายๆประเทศคุ้นเคยกับการกินแมลงอยู่แล้ว โดยเฉพาะประเทศเขตร้อนชื้น ปัจจุบันมีผู้บริโภคแมลงมากกว่า 2,000 ล้านคน และมีแมลงถึง 1,900 สายพันธุ์ที่ถูกบันทึกเป็นแมลงกินได้ ในหมู่คนรักแมลงรู้ดีว่า แมลงมีคุณค่าสารอาหารสูงมาก ไม่ด้อยกว่าเนื้อสัตว์ชนิดใด

...

ผลจากวิกฤติการขาดแคลนอาหารของโลกที่เริ่มส่อแววมาระยะหนึ่ง และมีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2050 จะถึงวันที่อาหารหมดโลก กระตุ้นให้ชาวโลกตระหนักถึงคุณค่าของ “แมลงกินได้” ในฐานะแหล่งอาหารทางเลือกสำคัญ ที่จะช่วยลดความเสี่ยงการขาดแคลนอาหารในอนาคต เทรนด์นี้มาแรงพร้อมๆกับความพยายามในการคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆเพื่อทดแทนเนื้อสัตว์

ตอกย้ำว่าการส่งออกแมลงเป็นตลาดที่มีอนาคตสดใสจริงๆ นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป “วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา” บอกเล่าว่า ปัจจุบันในตลาดโลกมีความต้องการบริโภคแมลงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เฉพาะธุรกิจแมลงกินได้ทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (12,800 ล้านบาท) โดยตลาดเอเชียครองสัดส่วน 30-40% ของทั้งโลก ส่วนที่เหลือกระจายตัวอยู่ในโซนยุโรป, ละตินอเมริกา และตะวันออกกลาง ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมแมลงเติบโตปีละ 20% และการส่งออกแมลงกินได้กำลังขยายตลาดไปยังโซนอเมริกาเหนือ

องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) คาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดแมลงกินได้ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2023 และด้วยความที่ “แมลง” คือแหล่งอาหารโปรตีนคุณภาพสูง FAO จึงส่งเสริมให้นำแมลงมาเป็นอาหารทดแทนสำหรับประชากรในพื้นที่ขาดแคลน และเพิ่มความมั่นคงด้านอาหารของโลก ด้วยการสนับสนุนการทำฟาร์มแมลง

...

แม้เมืองไทยจะเป็นตลาดหลักที่ส่งออกแมลงไปขายทั่วโลก แต่ก็มีหลายประเทศพยายามวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงแมลง โดยเฉพาะออสเตรเลีย เพิ่งมีข่าวทุ่มทุนหนักเพื่อค้นหาแมลงกินได้สายพันธุ์ใหม่ๆ วาดหวังจะปลุกปั้นให้เป็นสินค้าส่งออกดาวรุ่งสร้างรายได้เข้าประเทศ

...

เมืองไทยมีความได้เปรียบคู่แข่งเยอะ เพราะสภาพอากาศร้อนชื้นเหมาะสำหรับทำฟาร์มเพาะเลี้ยงแมลงเพื่อส่งออก ขณะเดียวกันเรามีวัตถุดิบเพียงพอในการทำโรงงานผลิตแมลง ทั้งแบบเป็นตัวและแปรรูป โดยแมลงยอดนิยม มีอาทิ จิ้งหรีด, ตั๊กแตน, แมงป่อง, ดักแด้, หนอนรถด่วน และด้วง ปัจจุบันพัฒนารูปแบบสินค้าไปไกล มีตั้งแต่แมลงบรรจุในถุงฟอยล์, แป้งโปรตีนจากแมลง, แมลงบรรจุกระป๋อง, ขนมในรูปแบบแมลงเคลือบช็อกโกแลต, ลูกอมแมลง, แมลงอบแห้งขายส่ง, ไส้กรอกจิ้งหรีด และแฮมเบอร์เกอร์จิ้งหรีด

...

ดาวเด่นของตลาดส่งออกแมลง ต้องยกให้ “จิ้งหรีด” เป็นที่นิยมมากในสหภาพยุโรป น่าภูมิใจที่เรามีบริษัทสตาร์ตอัพคนไทยทำตลาดส่งออก “ผลิตภัณฑ์ผงโปรตีนจากจิ้งหรีดเป็นเจ้าแรกของโลก” ไปขายยังกลุ่มสหภาพยุโรป, แคนาดา, ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ขณะเดียวกัน ก็เริ่มมีบริษัทใหม่ๆบุกเบิกธุรกิจแปรรูปแมลงคึกคักขึ้น โดยส่วนหนึ่งเป็นบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนทำฟาร์มในแถบอีสานบ้านเรา

อนาคตสดใสแน่นอน!! เพราะเมืองไทยได้เปรียบอยู่แล้วเรื่องสภาพอากาศ และความหลากหลายของแมลง แถมการเพาะเลี้ยงใช้เวลาน้อย, พื้นที่ไม่มาก, ต้นทุนต่ำ และสร้างมลพิษน้อย ถ้าไปเดินซุปเปอร์มาร์เกต ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แล้วจะทึ่ง!! มีขนมอบแห้งจากหนอนไม้ไผ่, ตั๊กแตน และจิ้งหรีด วางเรียงรายให้ชิม สนนราคาหนอนไม้ไผ่อบแห้ง 30 กรัม อยู่ที่ 3.90 ฟรังก์สวิส (142 บาท) ส่วนจิ้งหรีดอบแห้ง 20 กรัม และตั๊กแตน 15 กรัม ราคา 4.90 ฟรังก์สวิส (178.50 บาท) เมืองไทยผลิตจิ้งหรีดส่งออกได้ปีละ 7,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1,000 ล้านบาท หากผลิตเป็นผงมูลค่าจะเพิ่มหลายเท่าตัว จากกิโลละ 70-80 บาท ราคาพุ่งเป็นกิโลละ 2,000-3,000 บาท!!