• มาริทอซโซ (Maritozzo) เป็นขนมปังหวานที่กำลังเป็นที่นิยมในประเทศญี่ปุ่นอยู่ ณ ขณะนี้ มีต้นกำเนิดในประเทศอิตาลี และเป็นของหวานเพียงชนิดเดียวที่ได้รับการอนุโลมให้รับประทานได้ในช่วงจำศีลของชาวคาทอลิกในช่วงยุคกลาง

  • เมื่อเดินทางข้ามผ่านกาลเวลามานับศตวรรษ มาริทอซโซในปัจจุบันได้กลายมาเป็น ‘บริโอช’ (Brioche - ขนมปังที่มีปริมาณเนยอยู่สูงถึง 50-70%) และลดขนาดลงให้พอเหมาะสำหรับการกินในมื้อเดียว อีกทั้งยังได้เริ่มมีการผ่าครึ่งขนมปัง และสอดไส้ด้วยครีมสดที่ตีจนเนียนนุ่ม

  • ในช่วงเวลาที่ทั่วโลกต้องเผชิญหน้ากับโรคระบาด ไม่เว้นแม้แต่ประเทศญี่ปุ่น เมนูนี้ค่อยๆ ได้รับความนิยมจนเกิดเป็นกระแสไปทั่วญี่ปุ่น โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น เนื่องด้วยหน้าตาที่ชวนรับประทาน และความหอมหวานนวลนิ่มของเนื้อขนมปังพร้อมครีมสดนุ่มเบา ซึ่งสามารถเข้ามาช่วยเติมเต็มหัวใจที่เว้าแหว่งของชาวญี่ปุ่นได้ถูกที่ถูกเวลาพอดี



ไม่ว่าจะเป็นรูปลักษณ์, รูปรส หรือรูปสัมผัส ...‘ขนมหวาน’ มักจะทำให้หัวใจเราอิ่มเอมได้ในทางใดทางหนึ่งเสมอ

ภาพของขนมปังอ้วนกลม สอดไส้ด้วยครีมสดสีขาวดูนุ่มเนียน ตกแต่งด้วยไอซิ่งโปรยปรายลงมาราวกับหิมะแรกของปี ปรากฏบนอินสตาแกรมของร้านขนมในญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง สะกดให้นิ้วที่กำลังไถหน้าจออย่างไร้จุดหมายของฉันหยุดชะงักไปชั่วขณะ เมื่อเลื่อนไปกดดูแฮชแท็กในคำบรรยาย ก็ปรากฏภาพของเจ้าขนมปังสอดไส้ครีมชนิดนี้ขึ้นมาอีกมากมาย ทุกชิ้นล้วนดูสวยงามชวนให้ใจเต้น คล้ายกับเวลาได้พบกับมิตรภาพใหม่ๆ อันหอมหวาน

นั่นคือความประทับใจแรกที่ฉันมีต่อ มาริทอซโซ (Maritozzo) ขนมปังหวานที่กำลังเป็นที่นิยมในประเทศญี่ปุ่นอยู่ ณ ขณะนี้ ซึ่งเมื่อได้ลองทำความรู้จักดู ก็กลับพบว่ามาริทอซโซมีประวัติมายาวนานและหวานละมุนมากกว่าที่คิดเสียอีก

...

ชายหนุ่มแสนหวานผู้เดินทางมาจากอิตาลี

Maritozzo หรือ Maritozzo con la panna (หรือบ้างก็เรียกว่า Maritozzi) มีต้นกำเนิดจากแคว้นลาซิโอที่อยู่ทางตอนกลางของประเทศอิตาลี ซึ่งในสมัยก่อนมักจะถูกจัดเตรียมขึ้นโดยภรรยาเพื่อให้สามีพกพาไปรับประทานระหว่างทำงาน ประกอบด้วยส่วนผสมเรียบง่ายอย่าง แป้งสาลี, น้ำผึ้ง, เกลือ, ไข่ไก่, น้ำมันหมู และผลไม้แห้งอย่างลูกเกด -- ถือเป็นขนมปังที่มีขนาดใหญ่พอจะใช้เป็น ‘เสบียง’ สำหรับแบ่งกินได้ตลอดทั้งวัน

ในช่วงยุคกลางของยุโรป (ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 5 - 15) มาริทอซโซจัดว่าเป็นของหวานเพียงชนิดเดียวที่ได้รับการอนุโลมให้รับประทานได้ในช่วงจำศีลของชาวคาทอลิก ซึ่งอันที่จริงคงต้องบอกว่าเป็นมาริทอซโซในสูตรที่เหมาะสำหรับการจำศีลมากกว่า เพราะเขาจะใช้ ‘น้ำมันมะกอก’ แทนน้ำมันหมูผสมกับแป้งสาลี และลดทอนส่วนผสมอื่นจนเหลือเพียงลูกเกดเท่านั้น จนแม้แต่ จูเซปเป จิโออักคิโน เบลลี กวีชาวโรมันผู้โด่งดัง ยังได้เคยกล่าวถึงมาริทอซโซประเภทนี้ไว้ว่าเป็น Er Santo Maritozzo ที่แปลว่า ‘ขนมปังศักดิ์สิทธิ์’ เลยทีเดียว

เมื่อเดินทางข้ามผ่านกาลเวลามานับศตวรรษ มาริทอซโซในปัจจุบันได้กลายมาเป็น ‘บริโอช’ (Brioche - ขนมปังที่มีปริมาณเนยอยู่สูงถึง 50-70% ซึ่งในตำราของฝรั่งเศสจัดว่ามันเป็น ‘ขนม’ ที่เพียงใช้เทคนิคแบบเดียวกับการทำขนมปัง) และลดขนาดลงให้พอเหมาะสำหรับการกินในมื้อเดียว อีกทั้งยังได้เริ่มมีการผ่าครึ่งขนมปังและสอดไส้ด้วยครีมสดที่ตีจนเนียนนุ่ม ซึ่งหากใครเคยได้มีโอกาสไปเยือนอิตาลีมาแล้ว ก็มักจะพบ มาริทอซโซตามร้านอาหารและคาเฟ่ต่างๆ โดยเฉพาะในเมนูชุดอาหารเช้าตามแบบฉบับของชาวยุโรป ที่มักจะชอบรับประทาน ‘ขนมปังหวาน’ เป็นมื้อแรกของวันคู่กับกาแฟสักแก้ว

นอกจากนั้น ก็ยังมีการประยุกต์เอาส่วนผสมใหม่ๆ มาใช้ด้วย ทั้งการเพิ่มรสสัมผัสด้วยถั่วไพน์นัทหรือผิวส้มเชื่อม บ้างก็เปลี่ยนรสชาติจากไส้ครีมนุ่มเบา มาเป็นไส้ช็อกโกแลตเข้มข้น ไม่ก็ไส้คาวอย่างเพสโต (ซอสที่ทำจากโหระพาอิตาลีผสมกับชีส ถั่ว และน้ำมะกอก) หรือแฮมกับชีส เป็นต้น

ภาพจาก Fashion-press.net
ภาพจาก Fashion-press.net


ฉันคิดว่าหากจะเปรียบมาริทอซโซเป็นมนุษย์สักคน เขาก็คงเป็นชายหนุ่มที่อ่อนหวานนุ่มนวล ซึ่งสาเหตุที่ต้องเป็น ‘ชายหนุ่ม’ ก็เพราะคำว่า Maritozzo มีรากศัพท์มาจากคำว่า Marito ในภาษาอิตาเลียนที่แปลว่า ‘สามี’ นั่นเอง

และก็คงเพราะเหตุนี้ ชาวอิตาเลียนจึงมีธรรมเนียมแสนโรแมนติกอย่างการที่คู่รักหนุ่มสาวมักส่งมอบมาริทอซโซให้กันในวันศุกร์แรกของเดือนมีนาคม ส่วนชายหนุ่มที่พร้อมลงหลักปักฐานก็มักมอบเจ้าขนมปังหวานนี้ให้กับว่าที่เจ้าสาวของตัวเอง พร้อมซ่อน ‘แหวนแทนใจ’ ที่เป็นดั่งคำสัญญาว่า “จากนี้จะร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกัน” ลงไปในครีมสดหนานุ่มนั้นด้วย

...

ถือเป็นการทำหน้าที่เป็น ‘สะพานเชื่อมความรัก’ ที่เหมาะสมกับรูปลักษณ์ของพ่อหนุ่มคนนี้อย่างไม่มีข้อกังขา

มาริทอซโซ เธอทำให้ฉันอิ่มท้องและอิ่มใจ

ในช่วงเวลาที่ทั่วโลกต้องเผชิญหน้ากับโรคระบาด ไม่เว้นแม้แต่ประเทศญี่ปุ่นที่ผู้ประกอบการล้วนได้รับผลกระทบกันทั่วหน้า เชฟ เรียวตะ ฮิราโกะ แห่งร้าน Amam Dacotan ในจังหวัดฟูกุโอกะ จึงลงมือคิดค้นเมนูที่จะช่วยลดการเกิดขยะอาหาร (Food Waste) และยังต้องเหมาะแก่การรับประทานได้ง่ายๆ ในระหว่างวัน ซึ่งไม่ควรจะมีปริมาณที่ทำให้หนักท้อง หรือมีรสชาติที่เข้มข้นเกินไป อีกทั้ง ‘หน้าตา’ ก็ต้องสวยงาม เพื่อช่วยปลอบประโลมจิตใจไปพร้อมกับการเติมพลังกายให้ผู้คนได้ด้วย

จนกระทั่งเชฟฮิราโกะได้อ่านบทความเกี่ยวกับมาริทอซโซของชาวญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในอิตาลี เขาจึงพบว่านี่แหละคือเมนูที่ว่านั้น

นับจากวันที่ทางร้านได้ผลิตมาริทอซโซและโพสต์ภาพลงอินสตาแกรม เมนูนี้ก็ค่อยๆ ได้รับความนิยมจนเกิดเป็นกระแสไปทั่วญี่ปุ่น โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น และหลังจากนั้น บรรดาร้านเบเกอรี่ทุกแห่งหน-ไม่เว้นแม้แต่ร้านสะดวกซื้อ-ต่างก็ประชันสรรค์สร้างมาริทอซโซในแบบฉบับของตัวเองออกมา โดยมีทั้งไส้ครีมสดจากนมฮอกไกโด และไส้ครีมชาเขียวจากเกียวโต ขณะที่หลายร้านก็ใช้ผลไม้ท้องถิ่นคุณภาพดีมาผสมผสาน บางร้านก็นำเอาชีสเค้กและพุดดิ้งมาใส่ลงไปในไส้ครีม ทำให้มาริทอซโซครอบครองพื้นที่ในหัวใจของสาวๆ ไปทั่วญี่ปุ่นเลยทีเดียว

ด้วยหน้าตาที่ชวนรับประทาน และความหอมหวานนวลนิ่มของเนื้อขนมปังพร้อมครีมสดนุ่มเบาเช่นนี้เอง จึงไม่แปลกที่ ‘หนุ่มอิตาเลียน’ นายนี้จะสามารถเข้ามาช่วยเติมเต็มหัวใจที่เว้าแหว่งของชาวญี่ปุ่นได้ถูกที่ถูกเวลาพอดี โดยเฉพาะในช่วงที่การใช้ชีวิตเป็นเรื่องยากลำบากเหลือเกิน

...

แน่นอนว่า กระแสของมาริทอซโซคงไม่ได้หยุดอยู่แค่ในญี่ปุ่นเท่านั้น เพราะตอนนี้ ขนมปังหวานรูปแบบนี้เริ่มเป็นที่แพร่หลายในประเทศอื่นๆ อย่างไต้หวันและฮ่องกง หรือแม้แต่ในไทยเองก็เริ่มมีร้านที่ทำมาริทอซโซวางจำหน่ายแล้วเช่นกัน -- หากใครอยากพบเจอกับมิตรภาพใหม่ๆ ทางรสชาติในแบบที่ฉันรู้สึก ก็ขอเชิญไปค้นหาทำความรู้จักกับพ่อหนุ่มคนนี้กันดูได้.