พริก เป็นพืชที่คนไทยคุ้นเคย เนื่องจากนิยมใช้เป็นส่วนประกอบของ อาหารไทยและใช้เป็นเครื่องปรุงรสที่เติมให้อาหารมีรสเผ็ดร้อน คนไทยบริโภค พริกหลายรูปแบบ ทั้งลักษณะสด แห้ง ดอง เผา เครื่องแกง หรือนำมาแปรรูป เป็นพริกแห้ง พริกป่น สำหรับใช้ปรุงอาหาร และเพื่อเก็บไว้ได้นานขึ้น

การจะทำให้ได้พริกป่นที่สะอาดและปลอดภัยนั้น ผู้ผลิต ผู้ขาย จะต้อง ใส่ใจกรรมวิธีการผลิต ตั้งแต่การคัดสรรวัตถุดิบพริกสดที่ต้องสดใหม่ไม่เน่าเสีย ไม่ขึ้นรา และล้างให้สะอาดก่อนนำมาแปรรูป การตากหรืออบแห้ง ต้องตากพริก ให้แห้งสนิท สถานที่ตากต้องสะอาด ถูกสุขลักษณะและไม่ตากบนพื้นดิน การคั่วให้พริกหอม และการตำหรือการป่น ก็ต้องใช้อุปกรณ์ ภาชนะและ ทำในสถานที่ที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ มีการป้องกันไม่ให้สิ่งแปลกปลอมปะปน และขั้นสุดท้ายสถานที่บรรจุและเก็บพริกป่น จะต้องถูกสุขลักษณะ ไม่อับชื้นและมีอากาศถ่ายเทสะดวกด้วย

ปัจจุบันเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภค เราจึงมักเห็นพริกป่น สำเร็จแบ่งบรรจุใส่ถุงวางขาย ทั้งในตลาดสด ซุปเปอร์มาร์เกต ร้านค้าปลีก ค้าส่งทั่วไป ทั้งลักษณะแบ่งบรรจุใส่ถุงหนัก 1-5 กิโลกรัม และแบบถุงเครื่องปรุงคู่กับน้ำตาลใช้ปรุงอาหารในมื้อเดียว แม้ว่าจะสะดวกแต่ก่อนซื้อ

อย่าลืมสังเกตว่าพริกป่นที่อยู่ในถุงนั้น มีสีคล้ำ ดำ มีราขึ้น หรือ มีลักษณะจับตัวเป็นก้อนหรือไม่ ถ้าใช่ไม่ควรซื้อมาทาน

...

เพราะลักษณะข้างต้นแสดงว่าพริกป่นมีเชื้อราปนเปื้อน และเป็นไปได้ว่า จะมีสารพิษที่ชื่อ แอฟลาทอกซิน ปนเปื้อนอยู่ด้วย สารพิษชนิดนี้สร้างขึ้น โดยเชื้อรากลุ่ม แอสเปอร์จิลลัส ฟลาวัส และ แอสเปอร์จิลลัส พาราซิติกัส มักพบปนเปื้อนในถั่วลิสง พริกป่น พริกแห้ง เครื่องเทศแห้ง และอาหารแห้ง เมื่อเราได้รับสารพิษแอฟลาทอกซินเข้าสู่ร่างกายในจำนวนน้อย แต่ได้รับเป็นประจำ จะเกิดการสะสม จนทําให้มีอาการชัก หายใจลำบาก ตับถูกทําลาย หัวใจและสมองบวม ที่สำคัญยังเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งตับอีกด้วย

สถาบันอาหารได้สุ่มเก็บตัวอย่างพริกป่น จำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ย่าน การค้าในเขตกรุงเทพฯ เพื่อนำมาวิเคราะห์แอฟลาทอกซินปนเปื้อน ผลวิเคราะห์ พบว่ามีพริกป่น 1 ตัวอย่าง พบแอฟลาทอกซินปนเปื้อน แต่ปริมาณที่พบไม่เกิน ค่ามาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขไทยที่กำหนดให้พบปนเปื้อนได้ไม่เกิน 20 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม วันนี้ คนสายกินเผ็ดคงคลายความกังวลกันได้.

ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย