ผักแต่ละชนิดมีประโยชน์ต่างกันไป เพราะฉะนั้นทุกมื้อจึงควรกินผักนำ แต่จะเลือกกินผักอะไรนั้น วันนี้เรามีสรรพคุณของ “ผักโขม” หรือที่คนมักเรียก “ผักขม” มาให้ความรู้ที่ถูกต้อง

บางคนที่ไม่เคยนึกถึงผักชนิดนี้ หลังจากได้ข้อมูลจาก ดร.มลฤดี สุขประสารทรัพย์ อาจารย์หลักสูตรพิษวิทยาและโภชนาการเพื่ออาหารปลอดภัย สถาบันโภชนาการ ม.มหิดล เชื่อว่าหลายคนจากที่เคยถอนต้นผักโขมทิ้ง ต้องเปลี่ยนความคิดใหม่แน่นอน

: ลักษณะผักโขม ทั่วโลกมีกว่า 70 สายพันธุ์ :

ดร.มลฤดี ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผักโขม ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Amaranthus tricolor เป็นพืชในวงศ์ AMARANTHACEAE เรียกได้ทั้ง “ผักโขม” หรือ “ผักขม” ตามรสชาติที่ออกขม แต่หากเรียกให้ถูกอักขระต้องเป็น “ผักขม” มักขึ้นตามแหล่งธรรมชาติ เช่น ป่าละเมาะ ชายป่ารกร้าง ถือเป็นวัชพืชที่นำมากินได้ มีกว่า 70 สายพันธุ์ทั่วโลก ผักขมในไทยส่วนมากจะเป็นผักขมสายพันธุ์จีน หรือ Chinese spinach

...

ผักโขมมีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ หลายชื่อ คนภาคกลางเรียก ผักขม, ผักโขม ส่วนคนภาคอีสานและภาคใต้เรียก ผักหม สำหรับคนภาคเหนือเรียก ผักโหมเกลี้ยง เป็นวัชพืชล้มลุก ชอบความชุ่มชื่น ดินร่วนซุย และขึ้นง่ายมากโดยเฉพาะหน้าฝน สายพันธุ์ผักโขมที่พบเห็นมากในตลาดสดของไทยนอกจากผักโขมจีน ก็มีชนิดอื่นๆ ดังนี้

1.ผักโขมสวน หรือผักโขมสี ชื่อสามัญ Amaranth Red ซึ่งเป็นผักขมไทย มีลักษณะเด่นเส้นร่องกลางใบจะมีสีแดง สีม่วง ใบเรียวเล็ก
2.ผักโขมหนาม ชื่อสามัญ Spiny amaranth, Spiny pigweed มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า ผักขมหนาม, ผักหมหนาม มีความสูงประมาณ 1 เมตร อายุสั้นประมาณ 2-4 เดือน ใบผักโขมหนามเป็นใบเดี่ยวรูปไข่ มีขนาดกว้างประมาณ 4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7 เซนติเมตร ปลายใบแหลม ก้านมีหนาม

: สรรพคุณและประโยชน์ผักโขม :

ยอดและใบของผักโขมเป็นส่วนที่นิยมนำมากินเป็นเมนูผักขมต่างๆ ไม่ว่าจะต้ม ผัด แกง ลวกจิ้มกินกับน้ำพริกก็ได้ คุณค่าทางโภชนาการของผักขมอันโดดเด่นจากสารพฤกษเคมี หรือ ไฟโตนิวเทรียนท์ (Phytochemical หรือ Phytonutrients) ในผักโขม คือ มีโปรตีนสูง จึงเหมาะอย่างยิ่งกับผู้กินอาหารมังสวิรัติ

จากข้อมูลงานวิจัยในห้องทดลอง และการศึกษาวิจัยในสัตว์ทดลอง โดยให้หนูกินผักโขม พบว่า ผักโขมมีฤทธิ์ต้านเบาหวาน ช่วยเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) รวมถึงมีฤทธิ์ต้านมะเร็ง ช่วยยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็งตับ เซลล์มะเร็งเต้านม และเซลล์มะเร็งสำไส้ใหญ่ หลังหยดสารสกัดสควอลีนจากผักโขมลงบนเซลล์มะเร็ง

นอกจากนี้ ผักโขมยังมีธาตุเหล็ก แคลเซียม และ “วิตามินเค” ในปริมาณสูง ช่วยป้องกันเลือดไหลไม่หยุด เมื่อเกิดบาดแผล ช่วยให้เลือดแข็งตัวได้ดี ซึ่งวิตามินปกติร่างกายสังเคราะห์ขึ้นได้เอง แต่ในบางรายก็ขาดวิตามินเคก็กินผักโขมช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายได้

...

รวมถึงผักโขมช่วยลดน้ำหนัก เพราะผักโขม 100 กรัม ให้พลังงานต่ำประมาณ 20-25 กิโลแคลอรี แต่มีโปรตีนสูงประมาณ 3 มิลลิกรัม ไขมันน้อยประมาณ 0.4 มิลลิกรัม เหมาะกับคนกินมังสวิรัติ และกินเจ

: คำแนะนำ ข้อควรระวังการกินผักโขม ป่วยโรคไตควรหลีกเลี่ยง :

ผักโขม ผักพื้นบ้านของไทย มีคุณค่าทางอาหารสูง กินได้ทุกเพศทุกวัย แต่ต้องกินแต่พอดี เพราะมีข้อเสียอยู่เหมือนกันหากรับประทานมากเกินไป อาจมีผลเสียต่อสุขภาพ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคไต ในการกินเพื่อสุขอนามัยที่ดี ดร.มลฤดี แนะนำดังนี้

1. ซื้อผักจากร้านค้าที่ปลอดภัย สะอาด และสด
2. ล้างให้สะอาด เพื่อลดสารพิษสะสมจากยากำจัดศัตรูพืช
3. ไม่ควรกินผักขมสด ควรปรุงให้สุกด้วยความร้อนช่วยลดสารขม ทำให้กินได้ง่าย
4. ผู้ป่วยโรคไตไม่ควรกินผักโขม เพราะผักโขมมีปริมาณสารออกซาเลตสูงมาก โดยผักโขมปริมาณ 100 กรัม มีออกซาเลต 1 พันมิลลิกรัม ซึ่งสารนี้มีฤทธิ์ยับยั้งการดูดซึมของแคลเซียม และแร่ธาตุสำคัญหลายชนิดในกระแสเลือด หากรับประทานสารออกซาเลตจะสะสมในไต และกระเพาะปัสสาวะ ส่งผลให้เพิ่มความเสี่ยงเกิดโรคนิ่ว รวมถึงผู้มีปัญหาเรื่องเกาต์ ข้ออักเสบรูมาตอยด์ และผู้ที่แพทย์ระบุว่าต้องการสะสมปริมาณแคลเซียมในร่างกาย ควรหลีกเลี่ยงการกินผักโขม
5. อย่ากินผักโขมเป็นประจำ ซ้ำๆ ควรกินผักหลากหลายสี เพื่อได้รับสารอาหารแตกต่างกันในแต่ละวัน และ ลดความจำเจจากการเบื่อหน่ายกินของเดิมๆ โดยเปลี่ยนเมนูให้หลากหลาย หรือผสมผสานจนเป็นอาหารฟิวชั่น.

...

: ข่าวน่าสนใจ :