แม้ว่าช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2563 ในไทยไม่มีรายงานการติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 หรือเป็น “0” กว่า 40 วันติดต่อกัน และรัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการมาถึงระยะที่ 5 อนุญาตให้เปิดกิจการและกิจกรรมต่างๆ ที่มีความเสี่ยงสูง รวมไปถึงการเปิดเทอมให้เด็กๆไปโรงเรียน

ทว่าเราไม่ควรประมาท ไปไหนมาไหนควรสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง และล้างมือบ่อยๆ

เรื่องอาหารการกินก็เช่นกัน ต้อง กินร้อน ช้อนกลางส่วนตัว และหากจะซื้อหาอาหารจากรถเข็น แผงลอย ร้านค้าริมบาทวิถี ควรเลือกร้านค้าที่มีการรักษาสุขอนามัยที่ดี ด้วยการสังเกตผู้ขายและผู้ช่วยขายปฏิบัติตามวิธีดังต่อไปนี้

แต่งกายสะอาด ใส่ผ้ากันเปื้อน สวมหมวกหรือตาข่ายคลุมผม สวมหน้ากากตลอดเวลาที่ขายอาหาร

มีสุขวิทยาส่วนบุคคลที่ดี เช่น ล้างมือบ่อยๆก่อนและหลังสัมผัสอาหาร หลังเข้าส้วม หลังจับสิ่งสกปรก และจับเงิน, ไม่สัมผัส หน้า ตา จมูก และปากถ้าไม่จำเป็น และไม่ไอจามรดผู้อื่น

ใช้อุปกรณ์ในการหยิบจับอาหารปรุงสุก ไม่ใช้มือหยิบจับอาหารโดยตรง และทำความสะอาดอุปกรณ์ เช่น ที่คีบ มีด เขียง ทุกครั้งหลังใช้งาน

อาหารปรุงสำเร็จที่วางรอขาย มีการปกปิดเพื่อป้องกันฝุ่นละออง แมลงสัตว์นำโรค และวางสูงจากพื้นอย่างน้อย 60 เซนติเมตร ไม่วางรอเกิน 4 ชม. และอุ่นอาหารทุกๆ 2 ชม.

กำหนดจุดให้ลูกค้าเข้าใช้บริการ มีระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1-2 เมตร

รถเข็น แผงลอยที่ใช้ขายอาหารมีสภาพดี แข็งแรง มีโครงสร้างที่สามารถปกปิดหรือคลุมอาหารระหว่างการขาย

ขณะขายอาหารต้องไม่มีอาการป่วย เช่น มีไข้ ไอ จาม มีนํ้ามูก หรือเหนื่อยหอบ

เพิ่มช่องทางการรับชำระเงินแบบ E-Payment เพื่อลดการสัมผัส

หากสังเกตแล้วพบว่าร้านไหนผู้ขายและผู้ช่วยขายปฏิบัติตามวิธีปฏิบัติข้างต้น มั่นใจได้เลยว่าร้านนั้นการ์ดไม่ตก สามารถซื้ออาหารมาทานได้อย่างสบายใจและปลอดภัยจากโรคโควิด-19

...

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์วิจัยและประเมินความเสี่ยงด้านอาหารปลอดภัย สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม โทร. 0-2422-8688 หรือ http://www.nfi.or.th/foodsafety/ 


ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย