พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ประทานสัมภาษณ์ตรัสถึง แรงบันดาลพระทัยที่ทรงมีต่อวงการแฟชั่น งานอดิเรกทรงโปรด และพลังหลงใหลในศิลปะ

แสงแดดที่สาดส่องผ่านช่องหน้าต่างกระจกห้องแกรนด์รอยัลสวีต โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ แม้จะถูกม่านกรองแสงทอนความจัดจ้าลงไปบ้าง แต่ก็ยังมากพอที่จะสร้างความสว่างไปทั่วห้อง หากที่สร้างความอบอุ่นเจิดจ้าให้กับบรรยากาศโดยรอบคือพระจริยวัตรอันงดงามของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ที่ประทานอนุญาตให้นิตยสารโว้กประเทศไทยฉายพระรูปและสัมภาษณ์เป็นกรณีพิเศษ

แม้จะทรงงานนี้ตั้งแต่เช้าและเลยเวลามาบ่ายคล้อยจนเกือบเย็นแล้ว แต่ไม่ทรงมีท่าทีเหน็ดเหนื่อยกับการสวมบทเป็นนางแบบอาชีพ ดังที่พระองค์หญิงกล่าวในภายหลังว่าถ้าพระองค์ท่านจะทำอะไรแล้วก็จะทำให้เต็มที่ ซึ่งผลงานภาพแฟชั่นงดงามที่ได้เห็นนี้เป็นการทำงานที่ผสานกลมกลืนของทีมงานทุกคน และเจ้าหญิงมากความสามารถพระองค์นี้

เมื่อการถ่ายภาพแฟชั่นเสร็จสิ้นลง พระองค์หญิงตรัสขอบคุณทีมงานถ่ายภาพแฟชั่นแล้วหันมาบอกว่าพร้อมที่จะประทานสัมภาษณ์เลย เมื่อทูลถามว่าไม่ทรงพักผ่อนพระอิริยาบถก่อนหรือ พระองค์หญิงทรงตอบว่า “ก็เหนื่อยนะคะ เพราะต้องเกร็งโพสท่าต่างๆ ทั้งวัน แต่สนุกค่ะ มาเริ่มสัมภาษณ์ได้เลยค่ะ”

...

อยากให้พระองค์หญิงทรงเล่าถึงคอลเลกชั่นล่าสุดนี้สักเล็กน้อย

“จริงๆ คอลเลกชั่นล่าสุดเกิดขึ้นที่แวร์ซายนะคะ ชานเมืองยุโรป ออกจากแวร์ซายไปจนถึงมอเน (Monet) ช่วงศิลปะยุคอิมเพรสชั่นนิสม์ พูดง่ายๆ ก็คือเรื่องของต่างจังหวัดของฝรั่ง ท้องทุ่งและธรรมชาติที่ไม่ใช่ในเมือง อิมเพรสชั่นนิสม์ ที่ออกไปทางยุคต้นๆ สีสวยๆ เบลอๆ แสงสว่างเยอะๆ บวกกับความโรแมนติกของสมัยศตวรรษที่ 18 กว่าๆ ก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศส เราถอยไปจากคอลเลกชั่นที่แล้วนิดหนึ่งในเรื่องของช่วงพีเรียด คือพอดีว่าช่วงที่คิดงานนี้ได้แรงบันดาลใจจากการไปวิ่งตอนเช้า เดินทัวร์ชมสถานที่ต่างๆ สีสัน และมารี อ็องตัวแน็ต ที่เราไม่ได้ไปแตะที่ตัวมารี แต่นำเรื่องของสี เทกซ์ไทล์ของมารีมาตีความ ความโรแมนติก แต่ก็ทำให้ดูใหม่ขึ้น ผลไม้ เบอร์รี่พวงๆ พวกสีแจ๊ดๆ ธรรมชาติ แต่คงความเป็นคนเมือง มีความเป็นตัวเองคือความเป็นร็อก เซ็กซี่ ความโมเดิร์นในส่วนที่เป็นตัวเราแทรกเข้าไปด้วย”

แล้วเรื่องของซิลูเอตหรือโครงชุด

“มีรูปทรงของดอกไม้ ทรงทิวลิปคว่ำ หงาย เวลาเราเอาทิวลิปปักแจกัน เขากินน้ำมากหรือน้อยเส้นโค้งของกลีบจะแตกต่างกัน อันนี้ส่วนหนึ่งพูดถึงเส้นสายจากธรรมชาติ อีกส่วนก็คือความไม่เท่ากัน คอนสตรักชั่นนิดๆ เสื้อทุกตัวอยากให้พลิ้วไหว บางเบา มีความโปร่งบางนิดๆ ไม่โปร่งจนมองทะลุนะคะ แต่โปร่งบางมองเห็นได้รางๆ แล้วก็ทำอย่างไรให้ดูเหมือนมีสัมผัสของสีน้ำมันหน่อยๆ บนผืนผ้าก็จะมีรายละเอียดต่างๆ เป็นมารี อ็องตัวแน็ตนิดๆ คว่ำๆ ยาวๆ เหมือนดอกทิวลิปคว่ำ ช่วงสมัยโรแมนติกที่คนใส่โครงสุ่ม (crinoline) ข้างใน แต่จริงๆ แล้วเราไม่ได้ใส่โครงสุ่มเข้าไป”

แสดงว่าเป็นเพราะโครงชุดกับเนื้อผ้าที่ทำให้ชุดอยู่ทรงเองได้

“ใช่ค่ะ แต่ก็มีโครงนิดหนึ่ง คือไม่ใช่สุ่มแบบสมัยก่อน มีเป็นแบบเอ็นนิดๆ หน่อยๆ พยายามให้ชุดอยู่ได้ด้วยตัวเอง ถ้าเราใส่โครงเหล่านี้ลงไปเยอะก็จะกลายเป็นโอตกูตูร์มากๆ เลยพยายามใช้ให้น้อยที่สุด หลีกเลี่ยงเอาเส้นบางเส้นออก บางทีเราก็พยายามเล่นกับเนื้อผ้า อย่างผ้ากาวมาเล่นบนตัวผ้าจริง แล้วไม่อัดผ้ากาวบนผืนผ้าเดียวกันทั้งหมด จะทำให้ผ้าดูมีมิติขึ้นบนตัวของชุดเลย”

ความจริงงานของท่านหญิงก็นำเอาเทคนิคแบบโอตกูตูร์มาใช้ค่อนข้างมาก

“ใช่ บวกกับความเป็นสตรีต ความเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูป ความเป็นร็อกแอนด์โรล พอเป็นโอตกูตูร์มากคนจะไม่กล้าแตะ บอกว่าโอตกูตูร์หมายถึงเสื้อผ้าชั้นสูง วัฒนธรรมชั้นสูง ถ้าสมมติเราเอาไปทำโดยใส่ความเป็นตัวเอง ความเป็นสตรีต ใส่เอกลักษณ์ของเราลงไปในความเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูปก็จะดูน่าสนใจขึ้น”

กุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหารนิตยสารโว้กประเทศไทยกล่าวเสริม ถึงผลงานครั้งนี้ว่า “คอลเลกชั่นนี้มียีนส์ที่กระหม่อมชอบมาก อยากให้ทรงเล่าเรื่องยีนส์เพิ่มเติมพ่ะย่ะค่ะ”

“ยีนส์นี่คือสิ่งที่ขอมาเป็นการส่วนตัว เป็นคนชอบใส่ยีนส์ ยีนส์ขาด ยีนส์ฟอก บลูยีนส์ก็น่ารักดีนะ แต่ถ้ามีผิวสัมผัสที่ขาดหน่อยๆ จะประทับใจมาก สำหรับตัวเองชอบสไตล์ร็อกเกอร์ ยุค 1980, 1990 แล้วก็ต้องเป็นอารมณ์แบบไบเกอร์ แบบนักบิดมอเตอร์ไซเคิลนิดหนึ่ง ยีนส์ขาดๆ ดูเป็นตัวเราดี ใส่กับเสื้อโอตกูตูร์ เสื้อสบายๆ หรือบางทีก็เสื้อไม่สบาย ชอบใส่แจ็กเกต คิดว่าแจ็กเกตเป็นอะไรที่บ่งบอกถึงตัวเองมากที่สุด เหมาะสำหรับผู้หญิงสมัยใหม่ยุคนี้ทุกโอกาส ในคอลเลกชั่นมีซิกเนเจอร์แจ็กเกตที่เป็นหางยาว แจ็กเกตตัวสั้นแบบไบเกอร์ มีแบบทรงเรียบง่ายแต่เข้ารูป แล้วที่ใหม่ล่าสุดก็คือซาฟารีแจ็กเกต คิดว่าซาฟารีแจ็กเกตน่าจะเหมาะ เพราะดูลำลองแบบชนบทได้ด้วย”

...


ในคอลเลกชั่นที่แล้วท่านหญิงมีโอกาสได้ใช้ผ้าไหมไทยมาเป็นวัสดุหลัก ซึ่งอาจจะมีข้อจำกัดต่างๆ ด้วยลักษณะของเนื้อผ้าที่มีเอกลักษณ์ ท่านหญิงทรงหาทางแก้ไขปัญหาอย่างไรพ่ะย่ะค่ะ

“จริงๆ ผ้าไหมไทยไม่มีข้อจำกัดนะคะ เป็นข้อดีด้วยซ้ำ ด้วยความที่สัมผัสกับผ้าไหมไทยบ่อย เลยรู้ว่าลักษณะของเนื้อผ้าทำได้มากน้อยแค่ไหน แล้วอะไรที่สามารถโชว์ความเป็นตัวตนของผ้าไหมได้ อะไรที่ทำแล้วไม่มีทางจะออกมาสวย เพราะตัวผ้าไหมเหมือนมีวิญญาณของตัวเอง เป็นบุคลิกของผ้าไหมเองที่มีความหรูหรา ถ้าเราบิดเอกลักษณ์ของเขามากๆ นี่เหมือนเขาจะไม่ให้ความร่วมมือ แต่คราวนี้ด้วยความที่เรารู้จักผ้าไหม รู้ว่าจะประยุกต์ใช้อย่างไร แล้วพยายามโชว์ข้อดีให้เยอะที่สุด เก็บรายละเอียดและใช้เทคนิคโอตกูตูร์ บวกกับการบอกเล่าเรื่องราวให้มีความต่อเนื่องว่าคอลเลกชั่นต่อไปจะเป็นอย่างไร เช่น เราจะเห็นซิลูเอตนี้นะ บวกกับความเป็นไทยบ้าง อย่างเอกลักษณ์ของชุดผ้าไหมไทยครั้งที่แล้ว คือแม้กระทั่งมองข้างใต้ตะเข็บข้างล่าง เราจะเห็นว่าทุกอย่างมันกลม แม้กระทั่งด้านในก็จะเก็บหมด จะไม่เห็นซับใน โครงชุดจะอยู่ที่ตัวของชุดเอง ใส่ง่าย พูดทีเดียวจบ (รูดซิป) หรือว่าใส่ง่ายพูดสองทีจบ คือรูดซิปแล้วก็ติดตะขอ”

...

เป็นชุดที่ดูงดงามหรูหรา แต่การสวมใส่ไม่ได้ซับซ้อนอะไรใช่ไหมพ่ะย่ะค่ะ

“ไม่ค่ะ ให้อยู่ในทรงของชุดเองเลย อย่างมากสุดก็เอาความเป็นชุดไทยมาเล่นใหม่ แต่เล่นใหม่อย่างไรให้ดูเบาขึ้น ง่ายขึ้น คือสัมผัสได้ง่ายขึ้น การปักที่ดูลงตัว คือมีลูกเล่นด้วยตัวเขาเอง เวลาทำสไตล์โชว์ก็จับเอายุค 1950 ดึงตาดึงอะไรมาเล่น (เขียนขอบตาปลายตวัดขึ้น)”

ทรงพึงพอใจมากน้อยแค่ไหนกับการทำคอลเลกชั่นล่าสุด เมื่อเปรียบเทียบกับคอลเลกชั่นแรกๆ เมื่อหลายปีก่อนพ่ะย่ะค่ะ

“พึงพอใจมาก เพราะมาไกลมาก ตอนที่เริ่มงานครั้งแรกอายุ 17 ปี ตั้งแต่ปี 2005 จนถึงตอนนี้ 29 จะ 30 อยู่แล้ว รู้สึกว่าเติบโตขึ้นด้วยประสบการณ์จริงๆ แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงอยู่และดีขึ้นเรื่อยๆ คือความเป็นอาร์ตแอนด์คราฟต์ (ศิลปะประดิษฐ์) ที่เริ่มต้นกับเรามาด้วยกัน คืองานที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเรานี่แหละที่ดีขึ้นเรื่อยๆ รู้สึกภูมิใจว่าตัวเองมาไกลพอสมควร แต่ก็ไปได้อีกนะ ส่วนตัวไม่ได้หยุดนิ่งเลย”

กุลวิทย์ได้ให้ความเห็นว่า “คอลเลกชั่นนี้มีความเป็นผู้ใหญ่มากๆ เพราะผมเห็นการสร้างสรรค์ผลงานของท่านหญิงตั้งแต่วันแรก พอได้เห็นผลงานทั้งหมดในวันนี้นี่ต้องบอกว่ามีความเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาก แล้วที่สำคัญก็คืองานอาร์ตแอนด์คราฟต์ของท่านนี่ไม่เคยทรงลืม คือจริงๆ แล้วทรงโปรดงานอาร์ตแอนด์คราฟต์มาตั้งแต่เริ่มแรก เพราะฉะนั้นพระองค์ท่านจะใช้ตรงนี้มาเป็นส่วนหนึ่งของคอลเลกชั่นเสมอ อย่างวิธีการประดับเสื้อผ้าก็จะใช้เอกลักษณ์นี้ตลอด”

พระองค์หญิงทรงรับสั่งว่า

“คือเราบอกตัวเองเสมอว่าเราเป็นอาร์ทิสต์ เราไม่ใช่ดีไซเนอร์ ฉะนั้นการคิดของเราก็ต้องคิดแบบอาร์ทิสต์ แต่มาถึงขนาดนี้แล้วเราก็ต้องคิดแบบดีไซเนอร์บ้างบวกเรื่องการทำธุรกิจบ้าง แต่ก็จะบอกตัวเองว่าเราคิดแบบดีไซเนอร์ได้เท่านี้นะ เพราะถ้าเราคิดแบบดีไซเนอร์ไปเรื่อยๆ มันก็ตัน เบื่อ สำหรับตัวท่านหญิงเองนะคะ เพราะฉะนั้นเราต้องลืมๆ อะไรไปบ้าง แล้วก็กลับมาเป็นอาร์ทิสต์เหมือนเดิมดีกว่า”

...

ดูจากผลงานท่านหญิงจะออกแนวศิลปะมากกว่าดีไซน์นะพ่ะย่ะค่ะ

“จริงๆ แล้วอยากเรียนทัศนศิลป์มากกว่านฤมิตศิลป์ แต่ก็มาไกลเกินกว่าจะกลับไปตั้งต้นเรียนใหม่ รู้ว่าตัวเองชอบอะไร ชัดเจนกับตัวเองว่าเราจะทำอะไรต่อ ดีไซน์ก็มีความหนักแน่น เป็นผู้ใหญ่ขึ้น และดีใจที่ทีมงานโดยเฉพาะผู้ช่วยทั้งหลายนี่ค่อนข้างจะช่วยผลักดันท่านหญิงมาก คือเขาพูดกับเราว่าคอลเลกชั่นที่แล้วดีมากเลย แต่อยากให้เราอยู่กับคอลเลกชั่นนี้ให้นานนิดหนึ่ง คืออยากให้ท่านหญิงอยู่กับคอลเลกชั่นนี้มากขึ้นนั่นเอง พูดอย่างนี้ท่านหญิงก็เลยต้องให้เวลากับคอลเลกชั่นนี้มากขึ้น คืออยู่จนเครียดเลย (ทรงสรวลเบาๆ)

“เชื่อไหมคะว่าชุดผ้าไหมไทย 7 ชุดออกแบบภายในหนึ่งชั่วโมง สเกตช์นะคะ ถ้าไปต่างประเทศก็ทำงานจากที่นั่น พอกลับมาเมืองไทยก็มาดูชิ้นงาน คุยเรื่องลายปักต่างๆ แล้วเราก็ไปซื้อสะดึงจากเมืองนอกมา เด็ดดอกไม้แห้ง กลีบดอกไม้แห้งทีละกลีบๆ มาเย็บลงบนผ้า แล้วค่อยมาตัดผ้าไหมที่เหลือ คือเล่นด้วยตัวของผ้าเอง อย่างที่บอกว่าถ้าจับบุคลิกของผ้าไหมไทยถูก เขาจะช่วยเรา ไม่ใช่ของสวยๆ อยู่แล้วเรามาทำลาย เข้าใจนะว่าเราตั้งใจจะทำให้มันดี แต่ทำผิดลักษณะของเขาก็อาจจะฆ่าผลงานของเราได้ ผ้าไหมไทยก็เหมือนผู้หญิงดื้อ ผู้หญิงดื้อๆ แบบนี้ถ้าเอาใจเขา เขาก็จะดีกับเรา”

อยากให้ทรงเล่าเรื่องกีฬาบ้างพ่ะย่ะค่ะ

“เรื่องกีฬาขี่ม้าตอนนี้ก็เหนื่อยมากค่ะ ได้ระดับที่สูงขึ้น (ของ Dressage Tests การขี่ม้าแบบเยอรมัน) Prix St. George Intermediaire ทั้งระดับหนึ่งและสอง รวมทั้งฟรีสไตล์ทูมิวสิก (Free Style to Music) ก็เป็นระดับที่สูงขึ้น อนาคตคงจะกรองด์ปรีซ์สเปเชียล (Grand Prix Special) อาจจะแข่งเยอะขึ้นที่ต่างประเทศ ซ้อมที่เมืองนอกบ้าง ที่เมืองไทยบ้าง แต่ตอนนี้ม้าอยู่ที่ต่างประเทศหมดเลย ทั้งกระโดด ทั้งเดรสสาจ คิดว่าจะไปให้ไกลมากเท่าที่ไปได้ ไม่อยากคิดว่าต้องไปให้ถึงโอลิมปิกให้ได้ แต่จะโฟกัสที่อาชีพของเราไว้ก่อน คือดีไซเนอร์และแฟชั่นดีไซน์ แล้วก็การทำงานศิลปะ นี่คือสิ่งที่ให้ความสำคัญอันดับแรก ม้าเป็นอันดับที่สอง ไม่อยากกดดันตัวเอง ไม่จำเป็นต้องเป็นแชมป์โลก คือถ้าได้ตั๋วไปแข่งโอลิมปิกนี่ก็ถือว่าที่สุดละ คือเป็นเป้าหมายที่จะไปให้ไกลที่สุด ถามว่าซ้อมหนักไหม ซ้อมหนักมากค่ะ เหนื่อยมาก”

นอกจากนี้พระองค์หญิงทรงกีฬาอื่นๆ ไหม

“มีดำน้ำค่ะ ตอนนี้เป็นเรสคิว (Rescue Diver ต้องเข้าอบรมหลักสูตรที่นักดำน้ำถือว่าดีที่สุดแล้ว) กำลังจะขึ้นอินสตรักเตอร์ (Scuba Diving Instructor) แล้วถ้าขึ้นไประดับนั้นได้ก็จะต้องมีสอนบ้าง แต่ตอนนี้คือไปดำน้ำทุกจุดที่ว่าสวยๆ ในเมืองไทยหมดแล้ว จบทุกซอกทุกมุม”

ทรงโปรดสถานที่ไหนเป็นพิเศษหรือเปล่าพ่ะย่ะค่ะ

“ที่ประทับใจดีกว่านะคะ ที่ประทับใจคือหินแดงหินม่วง ดำไปเจอปลากระเบนแมนตา (manta ray) 2 ตัว 2 วัน ตื่นเต้นมากที่ได้เห็น แล้วก็ดำลงไปในจุดที่มีฉลามชุม เจอฉลามทรายนอนอยู่กับพื้นใต้ทะเลรอรับเสด็จอยู่เสียอย่างนั้น (ทรงสรวลเบาๆ) เอาเป็นว่าเป็นทริปที่ไม่บอกดีกว่าว่าที่ไหน แต่เป็นจุดที่เห็นแล้วต้องอุทาน
เลยว่าพระเจ้า บางวันก็เจอโลมาฝูงใหญ่มากอยู่อีกด้านหนึ่งของทะเลไทยนี่แหละ แล้วก็เจอเต่า ว่ายน้ำไปกับเต่า และล่าสุดที่ไปมาคือเจอปลานโปเลียน (เรียกอีกอย่างว่าปลานกขุนทองหัวโหนก Napoleon Fish) ตัวใหญ่มาก ตัวใหญ่เท่าหมอนนี่ (ทรงชี้หมอนอิงขนาดใหญ่บนโซฟา) แล้วหัวโหนกเหมือนปลานกแก้วเลยนะคะท่านผู้ฟัง (พระองค์หญิงทรงนึกสนุกทำเสียงเหมือนเล่าเรื่องสนุกๆ ให้ฟัง) เหมือนปลานกแก้วที่โดนเขกกบาลให้หัวโหนกขึ้นมา ปากเหมือนโดนฉีดให้เจ่อขึ้นอะไรอย่างนี้ แล้วเราก็ว่ายน้ำตามนะ ว่ายน้ำข้างๆ เจ้าปลานี่ ดำน้ำรอบ
ที่ผ่านมานี่ชอบมาก แฮปปี้ดี๊ด๊ามาก” ทรงแย้มสรวลอย่างพอพระทัยมาก

ทรงมีโอกาสดำน้ำในต่างประเทศหรือเปล่าพ่ะย่ะค่ะ

“เคยไปที่อิตาลีค่ะ แต่ตอนนั้นอากาศหนาวมาก ดำลงไปก็รู้สึกว่าหนาวมากอย่างเดียว ต่อจากนี้คงจะไปดำแถวๆ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี่แหละ มีจุดดำน้ำที่น่าสนใจอีกเยอะค่ะ ของไทยนี่ก็เริ่มกลับไปดำซ้ำๆ บางจุดเพราะดำน้ำมาจนเรียกว่าเกลี้ยงทุกจุดแล้ว”


กลับมาที่เรื่องของแฟชั่นกันต่อ ทรงวางแผนอนาคตและของแบรนด์ SIRIVANNAVARI ไว้อย่างไรบ้างพ่ะย่ะค่ะ

“คงจะเน้นเรื่องดีไซน์เป็นส่วนใหญ่ ถ้ามีอะไรให้กลับไปที่ปารีสแฟชั่นวีกได้อีกครั้งหนึ่งด้วยตัวเราเองก็จะดีมาก ไปแล้วก็ต้องขายได้ด้วย คือตั้งใจว่าหลังแฟชั่นโชว์อยากให้มีบาย (การสั่งซื้อเสื้อผ้าในคอลเลกชั่นที่โชว์นั้นจากตัวแทนห้างร้านต่างๆ เพื่อจะนำไปจำหน่าย) อยากทำเป็นเฮาส์โชว์ คือไม่ต้องการมีช็อปหรือบูติกของแบรนด์เอง เราเข้าไปอยู่ในร้านมัลติแบรนด์ก็ได้ หรือบูติกเล็กๆ ก็ได้ ทำอย่างไรถึงจะสามารถทำให้แบรนด์เราเข้าไปในระดับนานาชาติได้ ไม่ใช่เราออกจากเอเชียแล้วก็คิดว่าเราอินเตอร์แล้ว เราต้องการทำธุรกิจของแบรนด์ให้แข็งแกร่งจริงๆ อันนี้สำหรับแบรนด์

“ส่วนเรื่องอื่น ถ้าได้ร่วมงานกับสิ่งใหม่ๆ อย่างครั้งที่แล้วที่ทำแล้วประสบความสำเร็จเกินคาดก็คือการได้ร่วมงานกับ BSO (Bangkok Symphony Orchestra) เรื่องของดนตรีที่เราได้ทำเอง ถ้าเกิดเราได้ร่วมงานหรือจัดกับสิ่งอื่นๆ ที่เหนือกว่าการเป็นดีไซเนอร์แล้วเราได้ใส่อะไรที่เป็นตัวเราเองลงไปก็จะเป็น
อะไรที่ดีมาก”

ทรงหมายถึงเพลงธีมที่ทรงนิพนธ์เองเป็นเพลงประจำคอลเลกชั่นล่าสุด บรรเลงโดยวง BSO และควบคุมวงโดยอาจารย์วานิช โปตะวนิช พระองค์หญิงทรงมีความสนพระทัยในศาสตร์หลายแขนงและทรงทำได้สำเร็จเป็นอย่างดีหลายอย่างพ่ะย่ะค่ะ

“มีความสนใจค่อนข้างกว้างค่ะ รวมถึงความสนใจที่จะนำเอกลักษณ์ของแบรนด์ตัวเองไปใส่ตรงนั้นตรงนี้ตรงโน้น คือไม่อยากย่ำอยู่กับที่ อยากให้ผลงานของเราไปข้างหน้าค่ะ นึกเหมือนกันว่าถ้ามีโอกาสก็อยากทำคอสเมติกสักคอลเลกชั่นหนึ่งบ้าง ส่วนเรื่องม้าก็ตอบไปแล้ว นอกนั้นก็มีความสุขดี คิดแต่ว่าจะต้องทำอย่างไรถึงจะทำให้แบรนด์ของเราอยู่ได้ด้วยตัวเองเท่านั้นแหละค่ะ แบรนด์ต้องแข็งแรงและยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง

“ท่านหญิงสนใจด้านธุรกิจแฟชั่นมาก ไม่ได้ทำแค่ดีไซน์อย่างเดียว แต่ทำอย่างอื่นหลายๆ อย่างไปพร้อมๆ กัน คือไม่ให้ตัวเองหยุดนิ่งค่ะ เป็นคนหยุดนิ่งไม่ได้ แต่อยู่เฉยๆ ได้นะ สำหรับตัวท่านหญิงถ้าอยู่เฉยๆ คือไม่ทำอะไรเลย วันหนึ่งคือดูทีวี นอนนิ่งอยู่บนโซฟา แอร์เย็นฉ่ำ ขี้เกียจก็ขี้เกียจเลย สักพักก็จะไม่ไหวละ แต่สิ่งที่ทำทุกวันคือออกกำลังกาย เข้าฟิตเนส ขี่ม้า กลางคืนก็คิดงานนี่นั่น อะไรที่เราขยันขึ้นมาก็จะขยันมาก แต่ถ้าทั้งเดือนว่างจัดนี่ก็จะอยู่ไม่ไหวนะ ถ่ายภาพนิ่งเหรอ (ทรงหมายถึงอยู่นิ่งๆ เฉยๆ) ไม่...ไม่มีทาง

“ท่านหญิงอยู่เฉยๆ อย่างนั้นไม่ได้แน่ๆ แล้วจะรู้สึกมีความสุขมากที่ได้เจออะไรที่ท้าทาย หนึ่งคือเล่นกีฬา สองคือได้ทำอะไรใหม่ๆ เช่น อยู่ดีๆ อยากจะปักผ้าก็ปักเลย ซึ่งไม่เคยเรียนมาก่อน บางทีก็วาดรูปๆ แล้วก็ต้องเก็บงานเอาไว้ก่อนเพราะเราต้องไปทำอย่างอื่นต่อ จนผู้ช่วยบอกว่าไม่ต้องทำอะไรแล้วนะคะ อย่าทำอะไรนะคะ อย่าวาดรูปนะคะ ถ้าท่านเริ่มทำอะไรอีกจะมัดมือแล้วนะคะ กรุณาอยู่เฉยๆ บ้าง เพราะท่านหญิงจะคิดทำอะไรต่างๆ ได้เสมอ อย่างจิวเวลรีไม่เคยทำมาก่อนก็มาทำจิวเวลรี ใช้ประสบการณ์ส่วนตัวที่เรามี ไม่เคยทำเรื่องดนตรีจริงจังมากเท่านี้ก็กัดฟันทำ (มีคนทูลว่าแล้วก็ทรงประสบความสำเร็จเกินคาดทีเดียว) ค่ะ ซึ่งก็แปลกใจมาก

“ที่ทำได้หลายอย่างเพราะเราเป็นคนชัดเจน ท่านหญิงจะไม่มีอะไรกลางๆ (ไม่ลังเล) ใช่ก็คือใช่ ไม่ใช่ก็คือไม่ใช่ อาจจะมีการลังเลบ้าง แต่ลังเลในที่นี้ก็คือท่านหญิงสามารถแก้ไขตรงจุดนั้นได้ แล้วอีกสิ่งหนึ่งที่อยากจะบอกกับทุกท่านก็คืออย่าหยุดหาความรู้ใส่ตัว หมายความว่า ถึงเราจะเล่นจะอะไรเพลิดเพลินแต่อย่าลืมเอา ก ข ค ง มาใส่ตัวเองบ้าง ให้ตัวเองมีเชื้อหน่อย มีไฟหน่อย อย่างปลายปีนี้ท่านหญิงจะกลับไปเรียนภาษาฝรั่งเศสเพิ่มเติมอีกที่ฝรั่งเศส คือท่านหญิงจะไปทุกปี ปีละ 2 - 3 เดือน ไปหาความรู้ต่างๆ ใส่ตัว ได้ฝึกภาษาด้วย

“ภาษาอังกฤษภาษาเดียวสำหรับตัวท่านหญิงไม่พอ อันนี้อยากจะฝากสำหรับคนที่ต้องการทำงานด้านดีไซน์แฟชั่น ว่าจะต้องมีความรู้เรื่องศัพท์แฟชั่น มีคลังศัพท์เป็นของตัวเอง อย่างบุสติเยร์ (Bustier เสื้อรัดทรง) หรือบางทีเป็นเรื่องสี เทคนิคการตัดเย็บซึ่งสำคัญมาก ทำไมต้องมีเทคนิคนี้ เราต้องตอบให้ได้ การเรียนรู้นี่ไม่มีวันหมด เรียนรู้ไปได้เรื่อยๆ เรียนรู้ให้จริง ไม่ต้องรีบค่ะ”


การประทานสัมภาษณ์ครั้งนี้ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรี นารีรัตน์ ทรงให้แง่คิดดีๆ ต่างๆ มากมาย และอย่างที่พระองค์หญิงทรงย้ำว่าความรู้ไม่มีวันเรียนหมด เราจึงได้เห็นผลงานอันหลากหลายของพระองค์ท่าน ซึ่งพระองค์ท่านทำแล้วประสบความสำเร็จมาโดยตลอด สมกับเป็นเจ้าหญิงยุคใหม่ที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกๆ คนด้วยพระจริยวัตรอันงดงาม