อุตสาหกรรมแฟชั่นชั้นสูง และงานช่างฝีมือชั้นสูง ที่ต้องใช้เวลาหลายร้อยชั่วโมงในการสร้างสรรค์ด้วยความละเอียดอ่อนพิถีพิถัน ยังคงได้รับการต่อลมหายใจไปอีกเฮือกใหญ่ โดยมีเหล่าแบรนด์เนมผู้ทรงอิทธิพลของโลก ช่วยกันทุ่มเทเงินทองปลุกปั้น แคตวอล์กปารีส โอต์ กูตูร์ ให้เป็นมรดกงานศิลป์ล้ำค่าของโลกแฟชั่น ที่ไม่มีวันเสื่อมความนิยมไปตามกาลเวลา

“ชาร์ลส์ เฟรเดริก เวิร์ธ” คือผู้บัญญัติคำว่า “แฟชั่นชั้นสูง” เมื่อทศวรรษ 1870 เพื่อสื่อถึงผลงานสร้างสรรค์ทุกแขนงที่ต้องอาศัยศิลปะการตัดเย็บของช่างฝีมือชั้นสูง, ความซับซ้อนละเอียดอ่อน, การใช้เวลาหลายร้อยชั่วโมงในการปักเย็บ, การใช้วัสดุผ้าที่แปลกใหม่ และการประดับตกแต่งรายละเอียดด้วยวัสดุหรูหรา เช่น มุก, หิน, ลูกปัดโบราณ, อัญมณี, คริสตัล, เลื่อม และขนนก
ในยุคแรกเริ่ม ห้องเสื้อระดับตำนานของฝรั่งเศสคือ คริสเตียน ดิออร์ และอีฟส์ แซงต์ โลรองต์ ครองความเป็นเจ้าวงการโอต์ กูตูร์ กระนั้น เมื่อหัวหอกสำคัญ “YSL” โบกมือลาแคตวอล์กปารีส โอต์ กูตูร์ ในปี 2002 เพราะแบกรับภาวะขาดทุนไม่ไหว ความศักดิ์สิทธิ์ของรันเวย์แฟชั่นชั้นสูงจึงคลายมนต์ลง ยิ่งผสมโรงเข้ากับสภาพเศรษฐกิจที่ตกสะเก็ดทั่วโลก อุตสาหกรรมแฟชั่นชั้นสูงยิ่งถูกตีตราว่าเป็นสัญลักษณ์ของความหรูหราฟุ้งเฟ้อหลงยุค ไม่สอดรับกับความเป็นจริงในสังคมโลกยุคปัจจุบัน

...

อย่างไรก็ดี ห้องเสื้อแบรนด์เนมระดับโลก ซึ่งร่ำรวยทั้งเงินทุนและอิทธิพลในมือ กลับมองเห็นโอกาสในวิกฤติที่จะสร้างภาพลักษณ์เลิศหรูทิ้งห่างคู่แข่งแบบไม่เห็นฝุ่น จึงพร้อมกระโดดเข้ามาในอุตสาหกรรมแฟชั่นชั้นสูงแบบไม่กลัวเจ็บ เพราะสายป่านยาวเฟื้อย ผลลัพธ์ที่ได้คือการโปรโมตแบรนด์ที่คุ้มค่าทุกเม็ดเงิน โดยจัดแค่ปีละ 2 ซีซั่น ก็มีมหาเศรษฐีอาหรับและเอเชียรออุดหนุนกันอย่างคึกคักอยู่แล้ว จนตัดเย็บแทบไม่ทัน

สำหรับซีซั่นล่าสุด “ปารีส โอต์ กูตูร์ สปริง/ซัมเมอร์ 2015” เหล่าดีไซเนอร์แถวหน้าของโลก พร้อมใจกันลดดีกรีความเลิศหรูอลังการลง แล้วหันมาเชิดชูความคลาสสิกโก้หรูเหนือกาลเวลา ทว่า ไม่ทิ้งรายละเอียดของงานช่างฝีมือชั้นสูง ที่เป็นเสน่ห์เฉพาะตัวของ โอต์ กูตูร์ หลายห้องเสื้อเลือกหยิบของเก่าขึ้นหิ้งมาปัดฝุ่นใหม่ให้ร่วมสมัยและสวมใส่สนุกขึ้น เพื่อร่ายมนต์สะกดนักช็อปกระเป๋าหนักให้อยู่หมัด

...

นำขบวนดูดเงินจากกระเป๋าแฟชั่นนิสต้าสวย-รวย-เลิศ โดยสองดีไซเนอร์รุ่นเดอะขวัญใจพรมแดงฮอลลีวูด “คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์” เจ้าพ่อผู้ทรงอิทธิพลแห่ง CHANEL และ “จิออร์จิโอ อาร์มานี” แห่ง Armani Prive ทั้งคู่พิสูจน์ให้เห็นถึงความเก๋าและวิสัยทัศน์เหนือชั้น ในฐานะผู้สร้างนิยามใหม่ให้แฟชั่น โอต์ กูตูร์ ที่ไม่เน้นความฟู่ฟ่าอลังการให้ขาดทุน แต่นำเสนองานช่างฝีมือชั้นสูงที่เต็มไปด้วยความพิถีพิถันให้ตกตะลึง และเติมความสดใหม่อ่อนเยาว์ เพื่อดึงดูดเศรษฐีใหม่เอเชีย ซึ่งเป็นกำลังซื้อตัวจริงของยุคนี้ โดย CHANEL พาท่องไปในโลกแห่งความฝัน ที่บานสะพรั่งไปด้วยสวนดอกไม้กระดาษ ซึ่งสรรค์สร้างขึ้นจากศิลปะการตัดกระดาษของโลกตะวันออก ขณะที่ Armani Prive ฉลอง 10 ปี การก้าวสู่โลกแฟชั่นชั้นสูง ด้วยการนำเสนอผลงานชิ้นมาสเตอร์พีซระดับตำนานสร้างชื่อตลอดทศวรรษที่ผ่านมา

...

...

สำหรับห้องเสื้อเจ้าตำรับโอต์ กูตูร์ Christian Dior ภายใต้บังเหียนของ “ราฟ ไซมอนส์” ครีเอทีฟไดเรกเตอร์มากพรสวรรค์แห่งแบรนด์ “จิล แซนเดอร์” โลกของแฟชั่นชั้นสูงถูกนำมาตีความใหม่ให้ดูล้ำจินตนาการ จนไม่สามารถให้คำจำกัดความได้ว่ามาจากยุคสมัยไหน เพราะเป็นการผสมผสานกันทั้งเรื่องของสไตล์, ลายพรินต์ และวัสดุ แต่ยังคงแฝงความโรแมนติกและกลิ่นอาย
ไซไฟแบบโลกอนาคต ถือเป็นการสร้างนิยามใหม่ให้โลกแฟชั่นชั้นสูงที่หาใครเทียบได้ยากยิ่ง

สองคู่หูดีไซเนอร์ใหม่ VALENTINO “มาเรีย กราเซีย กีอูรี” กับ “ปิแอร์ เปาโล ปิชชิ-โอลี” ถ่ายทอดจิตวิญญาณความหรูหราสง่างามตามแบบฉบับวาเลนติโน ด้วยอินสไปเรชั่นจากบทกวีของ “วิลเลี่ยม เชคสเปียร์” ที่เต็มไปด้วยความโรแมนติกและอ่อนไหวเปราะบาง ผสมผสานกับภาพเขียนทรงพลังที่เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ของ “มาร์ก ชากาล” จิตรกรชาวฝรั่งเศสเชื้อสายเบลารุส และนวนิยายขึ้นหิ้งแห่งศตวรรษที่ 14 “Dante’s Inferno” ซึ่งได้รับการยกย่องว่า สามารถบรรยายลักษณะของนรกได้แนบเนียนเหนือชั้นราวกับลงไปท่องนรกมาแล้ว

ฟากดีไซเนอร์แบดบอยของฝรั่งเศส “ฌอง ปอล โกลติเยร์” หวนคืนสู่แคตวอล์กแฟชั่นชั้นสูงอีกครั้ง หลังจำใจเลิกธุรกิจแฟชั่นเสื้อผ้าสำเร็จรูป เพราะแบกตัวเลขขาดทุนไม่ไหว โดยซีซั่นล่าสุด อุทิศให้กับเจ้าสาวยุคอนาคต ที่เต็มไปด้วยความดราม่า และจินตนาการเหลือล้ำ พร้อมเซอร์ไพรส์แฟนๆด้วยการจีบซุปเปอร์โมเดลผิวสีรุ่นเดอะที่ร้างลาวงการไปนาน “นาโอมิ แคมป์เบลล์” มาเจิมเวทีเพื่อเรียกเสียงฮือฮา...ต้องยกให้เป็นดีไซเนอร์ใจเด็ด ล้มกี่ครั้งก็ยังลุกขึ้นมายืนได้ ไม่เคยถอดใจ!!

ทีมข่าวหน้าสตรี