Rolex Explorer ถูกยกให้เป็นหนึ่งในนาฬิกาสำหรับมืออาชีพเรือนแรกของ Rolex ด้วยแรงบันดาลใจของเหตุการณ์สำคัญในอดีตและการพัฒนานวัตกรรมที่ไม่หยุดนิ่ง จึงทำให้ Rolex Explorer เต็มไปด้วยฟังก์ชันที่ตอบโจทย์การเป็นผู้ช่วยของเหล่านักสำรวจทั่วโลก ตัวเรือนที่ถูกออกแบบให้ง่ายต่อการอ่านค่าเวลา สมรรถนะที่มีความเที่ยงตรง และมีความทนทานสูง พร้อมผจญภัยร่วมเดินทางไปทุกสถานการณ์แบบไร้ขีดจำกัด เรียกได้ว่า ไม่ว่าจะผ่านมากี่สิบปีก็ยังเป็นไอเทมคู่ใจของคนที่รักการผจญภัยแบบไม่ตกอันดับ! และในบทความนี้เราจะพาทุกคนไปย้อนรอยประวัติของนาฬิกา Rolex Explorer มีแรงบันดาลใจมาจากไหน ทำไมถึงเป็นนาฬิกามืออาชีพของนักสำรวจ พร้อมกับฟังก์ชัน กลไกการทำงานหลักของตัวเรือนมีอะไรบ้าง ตามไปดูกันได้เลย!
ด้วยแรงบันดาลใจจากการพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ จุดสูงสุดของโลกครั้งแรก
“การฝึกฝนและความมุ่งมั่นของคุณจะผลักดันตัวเองให้ไปข้างหน้าได้ในแบบที่แม้แต่ตัวคุณเองก็ไม่เชื่อว่าเป็นไปได้” - Sir Edmund Hillary
หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับเหตุการณ์ในประวัติศาตร์ครั้งสำคัญกับการพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก โดย Sir Edmund Hillary และ Tenzing Norgay ในวันที่ 29 พฤษภาคม ปี 1953 การเดินทางสำรวจจุดสูงสุดของโลกในครั้งนั้น ไม่เพียงแต่พิสูจน์ความสามารถของมนุษย์ว่าสามารถเอาชนะความยากลำบากและสภาพอากาศที่เลวร้าย ณ ระดับความสูง 8,848 เมตร (29,029 ฟุต) ได้เท่านั้น แต่คณะสำรวจในครั้งนี้ ได้นำโครโนมิเตอร์ของ Oyster Perpetual Rolex ร่วมเดินทางไปด้วย ซึ่งสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แสดงเวลาได้อย่างเที่ยงตรง แม้ต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่โหดร้าย อยู่ท่ามกลางอากาศอันหนาวเหน็บ พายุหิมะรุนแรง และภายหลังจากนั้นในปีเดียวกัน Rolex ก็ได้เปิดตัวนาฬิกา Rolex Explorer นาฬิกาสำหรับมืออาชีพเรือนแรก ที่ออกแบบมาเพื่อการสำรวจและการผจญภัยขึ้นมานั่นเอง
Rolex Explorer นาฬิกาข้อมือที่เต็มไปด้วยเทคนิคขั้นสูง
อย่างที่เราบอกไปว่า Rolex Explorer ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเหล่านักสำรวจและนักปีนเขาเอเวอเรสต์ในปี 1953 พร้อมกับการรวมเอาเทคนิคชั้นสูงต่างๆ ที่พัฒนาโดย Rolex จากประสบการณ์ที่ได้รับจากการลงพื้นที่จริง ไม่ว่าจะเป็นการทดสอบท่ามกลางอากาศหนาวเย็น อุณหภูมิติดลบ สภาพอากาศแปรปรวน Rolex จึงสามารถพัฒนา Rolex Explorer ออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ ตอบโจทย์ทุกความต้องการของนักสำรวจ โดยฟังก์ชันและกลไกหลักของ Rolex Explorer มีดังนี้
ตัวเรือนเป็น Oyster Case
ตัวเรือนของ Rolex Explorer เป็น Oyster เทคโนโลยีที่ได้รับการจดสิทธิบัตรจากทาง Rolex เปิดตัวในปี 1926 โดยตัวเรือน Oyster นี้จะมีชิ้นส่วนสำคัญ 3 อย่าง คือ ตัวเรือนตรงกลาง ด้านหลังตัวเรือน และกรอบ ตัวเรือนตรงกลางจะทำมาจาก Oystersteel ที่แข็งแรง ทนทานต่อการกัดกร่อน ผสานกับตัวเรือนขัดเงาผิวเรียบเนียน และฝาหลังของตัวเรือนปิดสนิทเข้ากับตัวเรือนตรงกลาง ทำให้มีคุณสมบัติทนทาน กันได้ทั้งน้ำ ฝุ่นละออง และการกระแทก ในส่วนของตัวกรอบจะเป็นวงแหวนที่มีคริสตัลล้อมรอบ ออกแบบขันสกรูและติดตั้งซีลเพื่อป้องกันน้ำเข้า ทำให้นาฬิกา Rolex Explorer เป็นนาฬิกาข้อมือ ที่มีตัวเรือนกันน้ำเรือนแรกของโลก และสามารถกันน้ำได้ที่ระดับความลึกถึง 100 เมตร
เม็ดมะยม Twinlock กันน้ำได้ถึงสองชั้น
Rolex Explorer มีฟังก์ชันเม็ดมะยมไขลานแบบ Twinlock ซึ่งเป็นระบบกันน้ำถึงสองชั้น โดยเม็ดมะยมไขลานแบบ Twinlock นี้จะถูกยึดด้วยสกรูเข้ากับตัวเรือน Oyster อย่างแน่นหนา และจะมีการระบุรายละเอียดของระบบ Twinlock โดยการใช้จุด หนึ่งจุด สองจุด หรือเป็นเส้นขีดบนหน้าเม็ดมะยมไขลานที่ขึ้นอยู่กับวัสดุแต่ละประเภทที่ใช้ แถมมีชิ้นส่วนประกอบกว่า 10 ชิ้น ทำมาจากวัสดุพรีเมียม คงทนสูง เช่น สารโพลิเมอร์ที่ใช้ในการผลิตซีลกันน้ำแบบ Oystersteel และทองคำ 18 กะรัต เป็นต้น
หน้าปัดโครมาไลต์ แสดงตัวเลข 3, 6, 9
Rolex Explorer ดีไซน์ตัวหน้าปัดให้อ่านเวลาได้อย่างแม่นยำและชัดเจนมากที่สุด สีสันของหน้าปัดจะเป็นโครมาไลต์ ที่เคลือบสารเรืองแสง สามารถมองเห็นได้ชัดเจนแม้จะอยู่ที่มืด และมีแสงน้อย สลักตัวเลขบอกเวลาไว้ขนาดพอดี ณ ตำแหน่ง 3, 6, 9 ซึ่งหน้าปัดแบบโครมาไลต์นี้เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2008 ก่อนในปี 2021 ที่ผ่านมา Rolex ได้พัฒนาเพิ่มสารชนิดใหม่ที่สามารถเปล่งแสงสีฟ้าได้ดีมากขึ้นในที่มืด รวมถึงแสดงแสงสีขาวชัดเจนแม้อยู่ในช่วงกลางวัน
คาลิเบอร์ 3230
คาลิเบอร์ 3230 เป็นส่วนประกอบที่ทำงานร่วมกับแฮร์สปริง Parachrom และประกอบเข้ากับกลไก Chronergy ที่ได้รับการจดสิทธิบัตรจากทาง Rolex เสริมให้ Rolex Explorer มีความทนทานต่อแรงกระแทกและสนามแม่เหล็กสูง ใช้งานได้อย่างเสถียรแม้อยู่ท่ามกลางสภาวะอากาศแปรปรวนนอกจากนี้ยังมีการเสริมความเที่ยงตรงและแม่นยำด้วยไขควงนอตปรับเวลาจากทองคำที่ยึดเข้ากับตัวดูดซับแรงกระแทก Paraflex จนทำให้กลไกคาลิเบอร์ 3230 เป็นกลไลการทำงานที่ประสิทธิภาพและมีสมรรถนะสูง ที่ความเที่ยงตรงมีอัตราผันผวนเพียง -2/+2 วินาทีต่อวันเท่านั้น
จาก Rolex Explorer สู่ Rolex Explorer II
เมื่อ Rolex Explorer ถูกวางจำหน่ายตั้งแต่ในปี 1953 ก็ได้รับกระแสตอบรับอย่างท่วมท้นจากเหล่านักสำรวจทั่วโลก และในปี 1971 ทาง Rolex ได้สร้างนาฬิกา Rolex Explorer II ขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์สำหรับนักเดินทางหรือนักสำรวจขั้วโลก หรือนักสำรวจถ้ำที่ต้องเผชิญกับสภาวะแวดล้อมที่มืดมิดและพื้นที่แสงน้อย เพื่อให้ครอบคลุมกับสถานการณ์การสำรวจทุกรูปแบบ โดยเพิ่มฟังก์ชันบนช่อง 3 นาฬิกา ให้ตัวเลขแสดงวันที่เพิ่มเข้ามาด้วย และเข็มพิเศษที่จะแสดงเวลาได้แบบ 24 ชม. ให้มองเวลาได้ชัดหลายด้านนั่นเอง โดยปัจจุบัน Rolex Explorer วางจำหน่ายทั้งหมด 2 ขนาด ได้แก่ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 36 มม. ซึ่งเป็นขนาดเดียวกับรุ่นดั้งเดิม และขนาด 40 มม. ขยายหน้าปัดใหญ่ขึ้น สามารถอ่านค่าเวลาได้ชัดเจนมากขึ้น
ไม่ว่าเวลาจะผ่านมากี่ทศวรรษ เริ่มต้นตั้งแต่การพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ จุดสูงสุดของโลกครั้งแรกในปี 1953 มาจนถึงปัจจุบันนาฬิกา Rolex Explorer ก็ยังคงทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยมืออาชีพของเหล่านักสำรวจทั่วโลกได้อย่างดีเยี่ยม ด้วยคุณสมบัติสำคัญสำหรับนักสำรวจที่ต้องเดินทางสู่สภาพแวดล้อมที่คาดเดาไม่ได้ มีความแปรปรวนสูง ไม่ว่าจะเป็นตัวเรือน Oyster Case เม็ดมะยม Twinlock หน้าปัดโครมาไลต์ เรืองแสงสีฟ้า หรือคาลิเบอร์ 3230 ที่ได้รับการจดสิทธิบัตรเฉพาะของ Rolex จึงไม่แปลกใจเลย ที่ไม่ว่านักสำรวจหรือคนรักการผจญภัยคนไหนจะอยากมี Rolex Explorer ติดข้อมือไว้เป็นผู้ช่วยสำรวจทุกพื้นที่ ที่ NGG TIMEPIECE ตัวแทนจำหน่าย ROLEX อย่างเป็นทางการในประเทศไทย เรามีคอลเลกชันนาฬิกา Rolex Explorer และ Rolex Explorer II ให้เลือกหลากหลายรุ่น สามารถเลือกชมเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ หรือทดลองมาสัมผัสความหรูหราเหนือกาลเวลาของ Rolex ได้ที่เอ็นจีจี ไทม์พีซ โรเล็กซ์บูติก ทุกสาขา เราพร้อมให้บริการและอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าทุกคนได้เป็นเจ้าของเรือนเวลาสุดแสนพิเศษ และร่วมเดินทางไปกับทุกคนในทุกช่วงเวลา