“ชุดยูนิฟอร์ม” ถือเป็นซอฟต์เพาเวอร์ทรงพลังที่สุดในการส่งเสริมภาพลักษณ์ขององค์กรยุคใหม่ หลายๆบริษัทลุกขึ้นมาเปลี่ยนยูนิฟอร์มแบบยกเครื่อง พร้อมกับการรีแบรนดิ้งสร้างอิมเมจใหม่ให้องค์กร ขณะที่บางบริษัทใช้ชุดยูนิฟอร์มอย่างชาญฉลาดเหลือล้ำ เพื่อเป็นสัญลักษณ์อันแยบยลของความทันสมัย, การลดความเหลื่อมล้ำทางเพศ, สร้างความเท่าเทียมกันในองค์กร และส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ก่อนที่จะเกิดวิกฤติโควิด-19 อุตสาหกรรมการผลิตชุดยูนิฟอร์มกำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาทต่อปี โดยอนาคตที่สดใสของอุตสาหกรรมยูนิฟอร์ม ได้รับการยืนยันจากสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทยว่า นอกจากชุดกีฬาที่เป็นสินค้าเสื้อผ้าส่งออกหลักของไทย 50-55% ตามมาด้วยชุดชั้นในสตรี 10%, แคชวลแวร์ 10% และเสื้อผ้าเด็กอ่อน 7% อัตราการเติบโตของชุดยูนิฟอร์มก็มาแรงมากทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ถึงขนาดถูกวางตัวให้เป็นโปรดักส์แชมเปี้ยนตัวใหม่ ที่จะมาช่วยดันยอดส่งออกการ์เมนต์ของไทยให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต ชดเชยหมวดแฟชั่นและแคชวลที่ชะลอตัวลงต่อเนื่อง
...

ในขณะที่โรงงานรับจ้างผลิตชุดยูนิฟอร์มขยายกำลังผลิตกันมากขึ้น แฟชั่นดีไซเนอร์ระดับท็อปของเมืองไทย รวมถึง “หมู-พลพัฒน์
อัศวะประภา” ผู้ก่อตั้ง “Asava Group” และ “ASAVA uniform” ก็กระโดดเข้าชิงส่วนแบ่งตลาดชุดยูนิฟอร์มอย่างคึกคัก โดยวางเป้าเดินหน้ารุกตลาดยูนิฟอร์ม เพื่อเพิ่มสัดส่วนรายได้จากการออกแบบชุดยูนิฟอร์มเป็นเท่าตัว


“จุดแข็งของเราคือบริษัทแฟชั่น แทบไม่มีบริษัทแฟชั่นที่จับตลาดยูนิฟอร์มโดยตรง แบรนด์ “ASAVA uniform” ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2010 สมัยแรกๆคนไม่ได้ให้ความสำคัญกับชุดยูนิฟอร์ม เป็นสิ่งสุดท้ายที่คนจะให้บัดเจ็ตและกรอบการทำงาน แต่ตอนนี้องค์กรใหญ่ๆ รู้แล้วว่าชุดยูนิฟอร์มบอกเมสเสจความเป็นองค์กรได้มากที่สุด และเป็นโฆษณาที่เข้าถึงคอนซูเมอร์มากที่สุด สุดท้ายของที่คนมองข้ามกลับกลายเป็นภาพลักษณ์ขององค์กรอย่างแท้จริง เป็นซอฟต์เพาเวอร์ที่แท้จริง การดึงดีไซเนอร์เข้าไปออกแบบเป็นแม่เหล็กอย่างหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์องค์กรด้วย ผมเชื่อว่าชุดยูนิฟอร์มที่ได้รับการออกแบบอย่างดีมีสไตล์ สามารถสะท้อนถึงวิชั่นและเอกลักษณ์ขององค์กรได้ แถมยังช่วยเสริมสร้างบุคลิกภาพความน่าเชื่อถือ และเพิ่มความมั่นใจให้บุคลากรในองค์กร จากจุดเริ่มต้นในวันนั้นตลาดชุดยูนิฟอร์มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีสัดส่วนเกือบ 50% ของธุรกิจทั้งเครืออาซาว่า เห็นได้ชัดว่าองค์กรต่างๆให้ความสำคัญกับชุดยูนิฟอร์มมากขึ้น และมองว่าเป็นเครื่องมือที่จะช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์อันแข็งแกร่งให้กับองค์กรมากขึ้น”...ดีไซเนอร์คนดังบอกเล่าถึงที่มา
...

อะไรคือความท้าทายใหญ่สุดในการแก้โจทย์ชุดยูนิฟอร์ม
การถ่ายทอดวิชั่นและภาพลักษณ์ขององค์กรเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก แต่ละครั้งที่รับงานมาลูกค้าจะให้โจทย์ว่าปรัชญาของแบรนด์ และไดเรกชั่นของแบรนด์จะไปทิศทางไหน บางองค์กรจะเน้นความน่าเชื่อถือสูง บางองค์กรเน้นความทันสมัยอินแฟชั่น ขณะที่บางองค์กรต้องการนำเสนอภาพลักษณ์แบบแคชวลสบายๆ เข้าถึงได้ง่าย นอกจากจะต้องตีโจทย์ให้แตกว่าลูกค้าต้องการสื่อสารภาพลักษณ์องค์กรอย่างไร การสร้างมาตรฐานไซส์เสื้อผ้าให้เหมาะกับแต่ละองค์กรก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก ปัจจุบัน “อาซาว่า ยูนิฟอร์ม” เฉพาะท่อนบนมีให้เลือกถึง 250 ไซส์ วัดละเอียดยิบตั้งแต่ไหล่, อก, เอว, สะโพก, แขน และความยาว แต่ละองค์กรมีคนหลากหลายวัย ตั้งแต่เพิ่งเรียนจบไปจนถึงใกล้เกษียณ เราฟิตติ้งบนตัวคนจริง หุ่นสเกลที่ทำแพทเทิร์นคือสเกลคนจริง แล้วค่อยใช้โปรแกรมเกรดไซส์หาค่าเฉลี่ยที่มีประสิทธิภาพคุ้มกับต้นทุนมากที่สุด เราทำเป็นเว็บไซต์มีแค็ตตาล็อกให้วัดตัวและสั่งตัดชุดผ่านเว็บไซต์ได้เลย ลูกค้าแต่ละองค์กรมีตั้งแต่หลักพันไปถึงหลักหมื่น ยูนิฟอร์มเป็นอะไรที่โหดมาก ใช้เวลากับการทำโปรดักชั่นเยอะ บางเดือนต้องผลิตทีเดียวเป็นแสนๆตัว ราคามีตั้งแต่ 3,000 บาท ไปจนถึงหลักหมื่น แต่ละแบรนด์จะใช้ยูนิฟอร์มแบบหนึ่งไม่เกิน 3 ปี เทรนด์ทั่วโลกเปลี่ยนเร็วขึ้นไม่เกิน 5 ปี โดยแนวโน้มยูนิฟอร์มทั่วโลกออกไปทางแคชวลสบายๆมากขึ้น
...

ชุดยูนิฟอร์มที่ดีควรมีคุณสมบัติอย่างไร
สำคัญที่สุดคือต้องถ่ายทอดวิชั่นขององค์กรให้ได้ ขณะเดียวกันก็ส่งมอบความสุขให้แก่ผู้สวมใส่และคนที่ได้พบเห็น นอกจากการตอบโจทย์เรื่องประโยชน์ใช้สอย, ความคล่องตัว และความสะดวกสบายในการสวมใส่ ชุดยูนิฟอร์มที่ดียังต้องมีเอกลักษณ์โดดเด่นเพื่อเพิ่มความสง่างาม และสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้สวมใส่ โดยไม่ลืมที่จะคำนึงถึงวัฒนธรรมและเป้าหมายขององค์กรนั้นๆ โดยเน้นคุณภาพและดีเทล ซึ่งเป็นดีเอ็นเอสร้างชื่อของแบรนด์อาซาว่า

...
อะไรคือจุดเด่นของ “ASAVA uniform” ที่ชนะใจองค์กรยุคใหม่
เราเป็นบริษัทแฟชั่นมานาน มีความพร้อมในเรื่องของระบบการผลิต ที่สามารถตอบสนองทุกความต้องการของลูกค้าองค์กร และยังมีความเชี่ยวชาญในเสื้อผ้าสไตล์เทเลอร์ ที่เน้นการตัดเย็บอย่างประณีตพิถีพิถันเพื่อให้ชุดยูนิฟอร์มสะท้อนถึงเอกลักษณ์ขององค์กรนั้นๆได้อย่างแท้จริง

ลูกค้าของ “ASAVA uniform” เบอร์ใหญ่ไฟกะพริบขนาดไหน
เราได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าองค์กรชั้นนำมากมาย ไล่ตั้งแต่สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส,แสนสิริ, เมืองไทยประกันชีวิต, โรงแรม So Sofitel Huahin, โรงแรมสินธร เคมปินสกี้, ดีแทค, เซ็นทรัลเอ็มบาสซี, ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารไทยพาณิชย์, BDMS, เครือไมเนอร์ กรุ๊ป รวมถึงที่จะเปิดตัวเร็วๆนี้กับ Singha และ Andaz Pattaya

ตั้งแต่ออกแบบชุดยูนิฟอร์มมา รู้สึกภูมิใจกับผลงานชิ้นไหนที่สุด
ภูมิใจกับทุกผลงานการออกแบบ แต่ถ้าถามว่าผลงานไหนเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ทำให้อาซาว่ามีชื่อเสียงด้านชุดยูนิฟอร์ม ต้องยกเครดิตให้ยูนิฟอร์มของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส เมื่อปี 2012 ได้รับการยกย่องจากนิตยสารท่องเที่ยวชื่อดังระดับโลก “Condé Nast Traveler” ในบทความชื่อ “7 Flight Attendant Uniforms That Make Fashion Statements” ให้ติด 1 ใน 7 ชุดพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินที่มีความสวยงามและโดดเด่นมากที่สุดในโลก จากการจัดอันดับชุดยูนิฟอร์มของสายการบินตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันกว่า 440 แห่งทั่วโลก เคียงข้างกับผลงานจากแบรนด์ดังระดับโลกอย่าง อีฟส์ แซงต์ โลรองต์ และคริสเตียน ลาครัวซ์

อะไรคือเสน่ห์ทำให้ชุดยูนิฟอร์ม “บางกอกแอร์เวย์ส” ดังไกลระดับโลก
เราตั้งใจออกแบบยูนิฟอร์มให้บางกอกแอร์เวย์ส เพื่อสะท้อนเอกลักษณ์ความเป็นเอเชียบูธีคแอร์ไลน์ ที่เต็มไปด้วยความสดใส, ทันสมัย และคล่องตัว โดยเลือกใช้ผ้าลายริ้วสีฟ้าคล้ายเกลียวคลื่นและท้องฟ้า ได้แรงบันดาลใจจากลวดลายบนเครื่องบิน และนำมาปรับให้ดูร่วมสมัยขึ้น เพื่อให้ได้คุณสมบัติบางเบา, ใส่สบาย และยับยาก จึงเลือกใช้ผ้าไหมผสม ส่วนสีที่เลือกใช้เป็นสีน้ำเงินกับฟ้าเทอร์ควอยส์ที่ดูแล้วสบายตา นอกจากนี้ยังเน้นความคล่องตัวเหมาะสำหรับการปฏิบัติงาน จึงเป็นครั้งแรกที่ชุดพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินดีไซน์เป็นกระเปง (กระโปรง+กางเกง)

ตอน “ดีแทค” ปรับภาพลักษณ์ครั้งใหญ่ ก็ไว้วางใจ “อาซาว่า ยูนิฟอร์ม”?
เรามีโอกาสเข้าไปปรับเปลี่ยนชุดยูนิฟอร์มใหม่ให้ดีแทค เมื่อปี 2019 ภายใต้คอนเซปต์หลัก “Simple and Human” คือเน้นความจริงใจ, ตรงไปตรงมา และเข้าใจง่าย ขณะเดียวกันต้องสื่อถึงความเป็นองค์กรไฮบริด ที่ผสมผสานโลกดิจิทัลเข้ากับไลฟ์สไตล์สมัยใหม่ได้อย่างลงตัว อีกโจทย์สำคัญคือ ดีไซน์ของเราต้อง “Playful” มีความสดใส, สนุกสนาน และเสื้อผ้าทุกชิ้นสามารถใส่สลับสับเปลี่ยนกันได้หมด ผมเป็นลูกค้าดีแทคตั้งแต่อายุ 18 ปี ฝันอยากทำยูนิฟอร์มให้ดีแทคมานานมาก เฝ้ารอเวลาว่าเมื่อไหร่ดีแทคจะติดต่อมา เพราะเชื่อเสมอว่าทุกอย่างในชีวิตเราเริ่มต้นจากความอยาก แล้วผลลัพธ์ที่ออกมาต้องสนุกและดีแน่

คร่ำหวอดในวงการมาข้ามทศวรรษ ยังมีเป้าหมายอะไรที่อยากพุ่งชนไหม
เป็นความฝันมากเลย อยากมีโอกาสได้ทำยูนิฟอร์มชุดข้าราชการ อยากให้ข้าราชการไทยได้แต่งตัวสวยๆ อีกอย่างที่อยากทำมากคือชุดนักกีฬาทีมชาติไทย และชุดเวิลด์เอ็กซ์โป.
ทีมข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ