กษิติธร อาจโยธา โชว์แนวคิด sketchbook chair

Reco โครงการน้องใหม่ที่น่าจับตามอง ได้นำเสนอแนวคิดการลดใช้ (Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) การนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) และ ECO การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการเปิดเวทีให้หนุ่มสาวนักออกแบบหน้าใหม่จากทุกสารทิศที่เดินตามฝันแสวงหาประสบการณ์ ความท้าทายใหม่ในชีวิต ได้ส่งแบบร่างผลงานออกแบบแฟชั่นและเฟอร์นิเจอร์ เข้าเป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขัน RECO Young Designer Competition 2011 ซึ่งจัดโดยบริษัท อินโดรามาเวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) ร่วมกับสถาบันออกแบบนานาชาติชณาพัฒน์ หรือ CIDI เพื่อเตรียมนำเสนอในงาน BOI FAIR ปีหน้า

ผลงานการออกแบบที่ผ่านการคัดเลือก 30 ทีม ประกอบด้วย นิชดา นาเมืองรักษ์ (บิว) นักศึกษาปี 2 คณะเทคโนโลยี สาขาออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (โปรดักท์) มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ได้ส่งชิ้นงานออกแบบแฟชั่นชุด Ohio ที่ได้แรงบันดาลใจจากการพับกระดาษโอริกามิของญี่ปุ่น ได้กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ เคยเข้าประกวดรีไซเคิลมาบ้างแล้ว แต่ครั้งนี้การได้ ทำเวิร์กช็อป ทำให้สามารถขยายฐานความรู้กว้างไกลออกไปอีก

...

กษิติธร อาจโยธา (วัต) นักศึกษาปี 3 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาออกแบบอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น เจ้าของผลงานออกแบบเก้าอี้ Sketchbook chair ที่ได้แนวคิดจากรูปทรงหนังสือเวลากางออกอ่าน สามารถปรับนั่งได้ 3 องศาหลัก กล่าวว่า ได้ทดลองผลิตงานด้วยวัสดุที่แตกต่างจากปกติที่มักจะเป็นไม้และเหล็ก จึงต้องตีโจทย์ให้แตกว่า จะออกแบบเฟอร์นิเจอร์ด้วยวัสดุ PET นี้ได้อย่างไร ให้ทันสมัย สวยงาม และสามารถผลิตได้จริงในเชิงพาณิชย์

อภินันท์ อ่อนละมุล นักศึกษาปี 4 คณะเทคโนโลยี สาขาวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ส่งชิ้นงาน Rollchair ที่นั่งพักผ่อนเพื่อความสนุกสบายเข้าประกวด โดยได้แรงบันดาลใจจากลูกข่าง คิดว่าคนนั่งน่าจะสบายจากความนุ่มของยางในรถยนต์ที่ใช้เป็นโครงงาน และยังสนุกที่พลิกกลับด้านนั่งได้ทั้งสองฝั่ง โดยกลับเอาด้านจุดที่เป็นหัวลูกข่างขึ้นมา ก็นั่งได้ 2 ถึง 3 คน หรือเอาหัวลูกข่างลงก็นั่งคนเดียวได้

พร้อมกันนี้ อ.ราชพฤกษ์ สิงห์พรหม หนึ่งในคณะกรรมการตัดสินการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ กล่าวว่า อยากผลักดันให้งานออกแบบครั้งนี้สามารถผลิตได้จริง และทำการตลาดได้ เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค ซึ่งส่วนใหญ่แล้วรูปแบบงานที่เรียบง่าย ขนย้ายสะดวก สามารถจัดวางเข้ากับมุมต่างๆ ของบ้านได้ มักได้รับความสนใจเลือกซื้อมากกว่าชิ้นงานหรูหรา น้ำหนักมาก

ขณะที่ อ.ณัฐวัฒน์ สีวะรา หนึ่งในคณะกรรมการด้านแฟชั่น กล่าวว่า อยากเห็นงานออกแบบที่สามารถใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน ผู้ออกแบบมีความละเอียดรอบคอบ คำนึงถึงการใช้งานจริง ทำให้คนใส่ภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมรักษ์ โลก และทำให้ผู้พบเห็นต้องทึ่งว่านี่คือชิ้นงานที่เกิดจากของเหลือใช้หลังการบริโภคประเภท PET และโพลีเอสเตอร์.