ปลายปี 2020 ต่อด้วยต้นปี 2021 สิ่งที่เกิดขึ้นกับวงการแฟชั่นราวกับนัดกันมานั่นคือ การออกคอลเล็กชันรักษ์โลก

อุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมไม่น้อย ทั้งการปล่อยก๊าซคาร์บอน การใช้น้ำปริมาณมหาศาล การปล่อยน้ำเสีย ซึ่งในอนาคตก็อาจส่งผลต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำ เป็นต้น

แต่ความน่าสนใจของวงการแฟชั่นในปี 2021 อยู่ตรงที่แบรนด์แฟชั่นชั้นนำอย่างไนกี้ (Nike) และอาดิดาส (Adidas) ต่างออกคอลเล็กชันรักษ์โลกมาพร้อมกันราวกับนัดกันมา

เสื้อแข่งของเปแอสเชก็รักษ์โลก
เสื้อแข่งของเปแอสเชก็รักษ์โลก

ฟากฝั่งไนกี้ นำร่องออกคอลเล็กชันที่ใช้วัสดุซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ครอบคลุมครบทุกหมวดหมู่ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อยืด กางเกงตั้งแต่แนวไลฟ์สไตล์ วิ่ง ฟุตบอล ไปจนถึงบาสเกตบอล

ขณะที่ อาดิดาส เปิดปี 2021 ด้วยการผลักดันคอลเล็กชันเสื้อยืด ฮู้ดดี้ Stan Smith ที่มาพร้อมกับการใช้วัสดุรีไซเคิล และผ้าฝ้ายออร์แกนิก

เทคโนโลยีพร้อม ทุกแบรนด์พร้อม

...

ปิ๊น-อนุพงศ์ คุตติกุล
ปิ๊น-อนุพงศ์ คุตติกุล

“แม้ว่าเราจะเห็นคอลเล็กชันรักษ์โลกอย่างมากในปี 2021 แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความพยายามของวงการแฟชั่นที่จะออกคอลเล็กชันรักษ์โลกมีมานานหลายปีแล้ว โดยจะเห็นได้จากความร่วมมือระหว่างอาดิดาสและพาร์เลย์ (Parley) ในการผลิตเป็นรองเท้า adidas Ultraboost x Parley” ปิ๊น-อนุพงศ์ คุตติกุล ผู้ก่อตั้งแบรนด์คาร์นิวาล ให้ความเห็น

ขยายความอีกสักนิดหนึ่ง เกี่ยวกับโครงการอาดิดาสและพาร์เลย์ ซึ่งโครงการนี้พาร์เลย์จะนำขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งตามสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะชายหาด มาผ่านกระบวนการต่างๆ จนกลายเป็นวัตถุดิบสำหรับทำรองเท้า ก่อนที่ความร่วมมือระหว่างพาร์เลย์และอาดิดาสจะต่อยอดไปเรื่อยๆ กลายเป็นเสื้อเจอร์ซีย์ฟุตบอลของทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, เรอัล มาดริด, บาเยิร์น มิวนิก และยูเวนตุส เป็นต้น

เมื่อหันมาดูว่า ปีนี้แบรนด์อย่างอาดิดาสและไนกี้ เริ่มตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ปัจจัยหลักอยู่ที่ความพร้อมของเทคโนโลยีที่ดำเนินมาถึงพอดี

เสื้อยืด Stan Smith จากอาดิดาส เวอร์ชันรักษ์โลก
เสื้อยืด Stan Smith จากอาดิดาส เวอร์ชันรักษ์โลก

“เราใกล้มาถึงจุดที่เราสามารถโยนเสื้อผ้าที่ไม่ใส่แล้ว เปลี่ยนเป็นเสื้อผ้าตัวใหม่ โดยที่เราไม่ต้องเสียเงินซื้อใหม่เลย” ปิ๊น กล่าวต่อไป “โดยเราสามารถเอาของที่ไม่ใช้แล้ว มาผ่านกระบวนการให้กลายเป็นเสื้อตัวใหม่ ที่มาพร้อมกับเรื่องราวและความเป็นมา”

ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีของการนำผ้ารีไซเคิล ผ้าที่เหลือใช้เหล่านี้ มาผลิตเป็นเสื้อผ้า มันเดินทางมาถึงประเทศไทยพอดี

“ในส่วนคาร์นิวาลคิดถึงเรื่องการนำผ้ารีไซเคิลเหล่านี้มาผลิตเป็นเสื้อผ้าแฟชั่นเมื่อราว 10 เดือนก่อน ซึ่งเราพบว่า โรงงานในไทยพร้อมแล้ว เราจึงลงมือทำ โดยเริ่มจากการดูว่าวัสดุที่จะมาผลิตเป็นเสื้อคืออะไร มาจากอะไร ซึ่งคอนเซปต์ที่คาร์นิวาลวางเอาไว้ เป็นวัสดุรีไซเคิล เพื่อนำมาผลิตเป็นเสื้อผ้าสตรีทแฟชั่น”

ทางด้านขั้นตอนในการผลิตเสื้อรีไซเคิล ปิ๊น เล่าให้ฟังคร่าวๆ ว่า ทางโรงงานจะนำเสื้อผ้าเก่ามาคัดแยก จัดหมวดหมู่ของกลุ่มผ้า แล้วเอาผ้าไปปั่นให้เป็นไฟเบอร์ จากนั้นเข้าสู่กระบวนการปั่นเป็นด้าย ก่อนที่จะนำไปทอผ้าต่อไป

“เมื่อได้ผ้าเรียบร้อยแล้ว ก็เข้าสู่ขั้นตอนการออกแบบ ขึ้นตัวอย่าง นำไปผลิต ถ่าย Lookbook นำไปโปรโมต และส่งถึงมือลูกค้า”

...

Puma x Central Saint Martins ในโปรเจกต์ Day Zero
Puma x Central Saint Martins ในโปรเจกต์ Day Zero

ว่าไปแล้วคอนเซปต์ข้างต้นของคาร์นิวาล มีความคล้ายคลึงกับโปรเจกต์ Day Zero ของพูมา (Puma) และสถาบันแฟชั่น เซ็นทรัล เซนต์ มาร์ตินส์ (Central Saint Martins) โดยให้นักศึกษาของสถาบันดังกล่าว คิดคอนเซปต์ขึ้นมา ซึ่งทางนักศึกษาของเซ็นทรัล เซนต์ มาร์ตินส์ มองว่า โลกในอนาคตมนุษยชาติจะถูกจำกัดการใช้ทรัพยากร จึงออกแบบงานแฟชั่นที่จำกัดการใช้ปริมาณน้ำออกมา

ทั้งนี้ตัวงานที่ออกมาของพูมาและเซ็นทรัล เซนต์ มาร์ตินส์ ออกมาในรูปลักษณ์ของการใช้วัตถุดิบที่ไม่ย้อมสีจับคู่กับผ้าที่ย้อมด้วยกระบวนการฉีดสีเข้าเส้นด้าย ทำให้เกิดด้ายสีโดยไม่ต้องผ่านการย้อม ซึ่งกระบวนการนี้ทำให้ลดการใช้น้ำ ลดการใช้คาร์บอนไปในตัว

ผู้ก่อตั้งแบรนด์คาร์นิวาล ยอมรับว่า อุตสาหกรรมทอผ้า อุตสาหกรรมแฟชั่น มีการใช้น้ำ มีการปล่อยของเสียไปยังสิ่งแวดล้อมต่างๆ จำนวนมหาศาล

“ถ้าเป็นไปได้อะไรที่จะช่วยลดการใช้พลังงาน ช่วยสิ่งแวดล้อม ไม่ทำให้เกิดน้ำเสีย มันจึงเป็นที่มาของแนวคิดเสื้อผ้า Sustainable”

ปรับความเข้าใจใหม่ เสื้อรีไซเคิลไม่ใช่ของถูก

เมื่อถามถึงความน่าสนใจของเสื้อผ้ารักษ์โลก ที่มีแนวคิดมาจากเพื่อความยั่งยืน (Sustainable) มุมมองของคนแฟชั่นอย่างปิ๊น เชื่อว่า การใส่เสื้อผ้ารักษ์โลก ในด้านหนึ่งมันเป็นการประกาศตัวว่า เราเห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อม และอีกด้านหนึ่งมันก็เป็นการใส่เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์แฟชั่นของคนคนนั้น

อย่างไรก็ตาม การผลิตเสื้อผ้าแฟชั่นรีไซเคิล มันมีความท้าทายอย่างมาก โดยเฉพาะมุมมองในแง่ลบที่มีต่อเสื้อผ้ารีไซเคิล

ปิ๊น กล่าวถึงเรื่องนี้อย่างน่าสนใจว่า อยากให้คนทั่วไปยอมรับและทำความเข้าใจใหม่ว่าวัสดุรีไซเคิลเหล่านี้ ไม่ใช่ของเก่า ไม่ใช่ของด้อย และไม่ใช่ของที่มีราคาถูก

“ในทางตรงกันข้ามครับ ของที่ทำมาจากของรีไซเคิล มันเป็นของมีราคา จริงอยู่ว่ามันเป็นของเหลือใช้ แต่ก็ต้องเข้าใจเช่นกันว่า มันมีเรื่องของค่าแรง และที่สำคัญกระบวนการผลิตมันผลิตยากกว่าของใหม่เป็นอย่างมากครับ”

...

ปิ๊น เน้นย้ำว่า แม้จะเป็นเสื้อรีไซเคิล การออกแบบ ต้องคำนึงถึงความสวยงาม

“การจะทำของแนว Sustainable แล้วออกมาไม่สวย แต่จะมาบังคับให้คนต้องชอบ มันทำแบบนั้นไม่ได้ ความท้าทายของเราคือทำยังไงให้เหมือนกับสินค้าปกติมากที่สุด โดยที่ทุกคนมีส่วนช่วยเหลือโลกเท่านั้นเอง”.

ผู้เขียน: Wiwat Rungsaensuksakul
กราฟิก: Supassara Traiyansuwan