เสน่ห์กฎเหล็ก ยิ่งยาก “โอตะ” ยิ่งรัก ส่ง BNK48 แรงไม่หยุด ปีนี้ลงทุนจัดเต็มวาไรตี้เกมโชว์ลงช่องเวิร์คพอยท์ หนัง แอปฯเกม โอตะทั้งหลายฟินกันเต็มที่
นับตั้งแต่เปิดตัวรุ่นแรกอย่างเป็นทางการเมื่อเดือน มิ.ย.ปีที่แล้ว 30 คน พร้อมซิงเกิลแรก “อยากจะได้พบเธอ” ช่วงนี้แม้จะอยู่ในช่วงรับสมัครรุ่นที่สอง แต่ต้นสังกัดของ BNK48 ก็ไม่รอ พร้อมลุยลงทุนเต็มที่หลายโปรเจกต์ เพื่อต่อยอดส่งความสดใสน่ารักเป็นธรรมชาติของน้องๆ BNK48 ให้บรรดาโอตะทั้งหลายได้ฟินกันเต็มที่
จากรุ่นแรกเลือกมา 30 คน แต่ช่วงปลายปี 2560 เหลือ 28 คน เพราะ 2 คนเรียนจบ โดย 28 คนนี้ เป็นสมาชิกที่ขึ้นแสดงแต่ละเพลง หรือเซ็นบัตสึ 16 คน อีก 12 คนเป็น อันเดอร์เกิร์ล ไว้สลับสับเปลี่ยนขึ้นเวที รุ่นสองที่คัดเลือกอยู่ก็จะมี 30 คนเช่นกัน ที่ขณะนี้ นายจิรัฐ บวรวัฒนะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีเอ็นเค โฟร์ตี้เอท ออฟฟิศ จำกัด เปิดเผยว่า ตั้งแต่เปิดรับสมัครมาประมาณ 1 เดือน ตั้งแต่วันแรกเมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2560 จนถึง 25 ม.ค.2561 มีผู้สมัครแล้ว 4,500 คน และยังจะมีเพิ่มอีกแน่นอน เพราะปิดรับสมัครวันที่ 1 ก.พ.นี้ ยอดนี้ถือว่ามากกว่าจำนวนคนสมัครรุ่นแรกที่มี 1,357 คน
หลังปิดรับสมัครรุ่นสองก็จะมีการเทรนน้องๆ ประมาณ 5 เดือน ส่วนจะเปิดตัวเมื่อไหร่ยังไม่บอก เพราะต้องการให้เซอร์ไพรส์ แต่ที่เน้นย้ำคือการคัดเลือกยังคงเหมือนเดิมคือสวยไม่ศัลยกรรม เพื่อเน้นจุดเด่นความน่ารักสดใสแบบเป็นตัวของตัวเองเหมือนรุ่นแรก ที่สำคัญคือมีความฝัน มีความมุ่งมั่น มีความพยายามเพื่อบรรลุความฝัน
...
แผนปีนี้ บริษัทตั้งเป้ารายได้จาก BNK48 เติบโต 100% จากแผนการลงทุน 3 หัวใจหลักคือ การมีพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อให้มีผลงานผ่านช่องทางต่างๆ ช่องทางแรกคือ ช่องทีวีดิจิทัลร่วมกับเวิร์คพอยท์ทีวี ผลิตรายการวาไรตี้กับเกมโชว์ ออนแอร์ในช่วงไตรมาส 2 ช่องทางที่สองคือหนัง ที่จะมีเต๋อ นวพล เป็นผู้กำกับ ร่วมผลิตกับแซลมอน เฮ้าส์ ในช่วงไตรมาส 2 เช่นกัน และช่องทางที่สาม โมบายล์ เกม แอปพลิเคชัน
นอกจากนี้ยังมีซิงเกิลที่ปีนี้ตั้งเป้าไว้ 4 ซิงเกิลใหม่ ออกทุกไตรมาส มีเธียเตอร์ ที่เดอะมอลล์ บางกะปิ ที่จะเปิดในเดือนหน้า พื้นที่ 1,000 ตารางเมตร รองรับได้ 350 คน ส่วนตู้ปลา เอ็มควอเทียร์ ไลฟ์ ดิจิตอล ก็ยังคงมีอยู่ รวมถึงการจัดอีเวนต์จับมือทั่วประเทศ
หัวใจสำคัญที่สุดในความสำเร็จของ BNK48 คือ บรรดาโอตะ ที่ผู้บริหาร BNK48 เปิดเผยว่ามีวิธีดูแลความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ที่โอตะทั้งหลายสามารถบอกความต้องการผ่านผู้จัดการวงได้ โดยปัจจุบันมีโอตะกลุ่มอายุ 13-23 ปี 30% อายุ 18-24 ปี มี 50% และมากกว่า 25 ปี 20% และมีแนวโน้มว่าโอตะอายุต่ำกว่า 13 ปีมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และถ้าแบ่งเป็นเพศ มีผู้ชายประมาณ 60% ผู้หญิง 40%
เมื่อดังขนาดนี้ จึงมั่นใจว่ามีรายได้มาจาก 3 ส่วนอย่างละประมาณ 30% คือ 1.มาจากสินค้าของที่ระลึก และซีดี ที่มีคูปองจับมือในกล่องซีดีด้วย จนมียอดขายซิงเกิลแรก คือ “อยากจะได้พบเธอ” ขายได้ 13,500 แผ่น ซิงเกิลที่ 2 “Fortune Cookie คุกกี้เสี่ยงทาย” ขายได้ 30,000 แผ่น โดยเฉลี่ยโอตะคนหนึ่งจะซื้อประมาณ 2-3 แผ่น 2.งานอีเวนต์ คอนเสิร์ต โรงละคร ตั๋วหนัง และ 3.งานโชว์ตัว พรีเซ็นเตอร์ ที่ปีนี้ทั้งวงรับงานพรีเซ็นเตอร์สินค้าแล้ว 6 แบรนด์
บทสรุปความสำเร็จของ BNK48 จากปีแรก และกำลังจะขึ้นปีที่สองนี้ นายจิรัฐ กล่าวว่า เพราะผู้บริโภคชอบความแปลกใหม่จากเดิม เช่น น้องๆ กลุ่มนี้มีความน่ารักสดใสในแบบของตัวเอง ไม่ใช่สวยในแบบเดียวกันมา และการย้ำภาพลักษณ์ที่ดี เช่น เรื่องการมีแฟน ที่แม้ไม่ได้ระบุในสัญญาเป็นข้อห้าม แต่เป็นข้อตกลงกันเพื่อดูแลภาพลักษณ์ที่ดี
ที่สำคัญมีความเป็นไอดอลแนวใหม่ ทำให้มีความโดดเด่น ตรงที่เน้นความมุ่งมั่น และพยายามทำตามฝัน จากเดิมอาจเห็นเน็ตไอดอลที่เป็นแนวเซ็กซี่มาเป็นส่วนใหญ่ และสุดท้ายคือใช้ออนไลน์ในการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายอย่างมีกลยุทธ์
นอกจากนี้การสร้างกฎเกณฑ์บางอย่างในการเข้าถึงน้องๆ ของโอตะ เช่น การเข้าถึงตัว การขายบัตรจับมือ 8 วินาที ยังเป็นความแปลกใหม่ของวงการบันเทิงไทยที่ไม่เคยทำมาก่อน ทำให้เสน่ห์ของ BNK48 ไปได้ไกลมากขึ้น
ในการเปิดตัว BNK48 เมื่อกลางปีที่แล้ว ภายใต้บริษัท บีเอ็นเค โฟร์ตี้เอท ออฟฟิศ จำกัด มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ บริษัท โรส อาร์ทิสท์ แมเนจเม้นท์ ของกลุ่มโรสมีเดีย เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ บริษัทที่เติบโตจากการเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์การ์ตูนต่างประเทศหลายเรื่อง โดยเฉพาะจากญี่ปุ่น ร่วมกับบริษัท เอเคเอส จำกัด ผู้บริหารไอดอลกรุ๊ปของญี่ปุ่น AKB48 โมเดลธุรกิจนี้ บีเอ็นเค โฟร์ตี้เอท ออฟฟิศ จ่ายค่าลิขสิทธิ์เป็นค่าแฟรนไชส์ให้เอเคเอส ส่วนการลงทุนได้เตรียมเงินก้อนแรกสำหรับปี 2560-2561 ไว้ 200 ล้านบาท คาดว่าคืนทุนภายใน 3 ปี ซึ่งทุกอย่างขณะนี้เป็นไปตามแผนแบบไม่ต้องเสี่ยงทาย.