“หลวงพ่อโสธร” หรือ “หลวงพ่อพุทธโสธร” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองจังหวัดฉะเชิงเทรา ประดิษฐานอยู่ที่ “วัดโสธรวรารามวรวิหาร” อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา
พลิกแฟ้มประวัติพระพุทธรูปองค์นี้เกี่ยวข้องกับเรื่องเล่าที่สืบทอดกันมาเกี่ยวกับพระพุทธรูป 5 องค์ที่ลอยน้ำมาจากอยุธยาในช่วงเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ชาวบ้านได้ปั้นปูนพอกพระพุทธรูปเพื่อปกป้องจากข้าศึก พระพุทธรูปเหล่านี้จึงลอยน้ำเพื่อความปลอดภัย ก่อนที่องค์หนึ่งจะมาประดิษฐานที่วัดแห่งนี้
และ...ได้รับการเรียกขานว่า “หลวงพ่อโสธร”
องค์หลวงพ่อโสธรมีลักษณะเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดเล็ก ประทับนั่งขัดสมาธิปางสมาธิ มีตำนานเล่าว่าผู้คนพยายามอัญเชิญขึ้นจากน้ำด้วยพิธีกรรมต่างๆ ซึ่งเกิดอภินิหารมากมายจนสำเร็จ ชาวบ้านจึงเคารพศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง โดยองค์หลวงพ่อนั้นได้รับการบูรณะซ่อมแซมอยู่หลายครั้งด้วยกัน
ปัจจุบันมีการจัดสร้างพระอุโบสถใหม่ครอบพระอุโบสถเดิม เพื่ออนุรักษ์องค์พระพุทธรูปไว้อย่างสมบูรณ์ หากจะกล่าวถึงความศักดิ์สิทธิ์... หลวงพ่อโสธรมีชื่อเสียงด้านการดลบันดาลโชคลาภ ความสำเร็จในการค้าขายและการปกป้องคุ้มครองจากโรคภัยไข้เจ็บ อีกทั้งผู้ศรัทธายังนิยมเดินทางมาอธิษฐานขอพรในเรื่องต่างๆ
...
ซึ่งมีการแก้บนด้วยละครชาตรี ไข่ต้ม พวงมาลัย หรือการแสดงรำถวายตามคำขอพรที่สำเร็จ
ศรัทธา ความเชื่อ ...การแก้บน “หลวงพ่อโสธร” ด้วยความเชื่อว่าองค์หลวงพ่อสามารถช่วยปัดเป่าเคราะห์กรรมและดลบันดาลความสมหวังได้ เมื่อพรที่ขอสำเร็จผู้คนมักแก้บนด้วยวิธีที่สะท้อนถึงศรัทธาและความขอบคุณ การแก้บนหลวงพ่อโสธรจึงเป็นการเชื่อมโยงระหว่างความเชื่อดั้งเดิมกับการดำรงชีวิตในปัจจุบัน
ผู้คนไม่น้อยศรัทธาหลวงพ่อ โดยเฉพาะในด้านการช่วยให้ชีวิตพ้นจากปัญหา อุปสรรค
การบนบานหลวงพ่อโสธร จึงมักเกี่ยวข้องกับการขอความช่วยเหลือในเรื่องสำคัญ เช่น สุขภาพ การงาน การเงิน หรือ ครอบครัว ผู้ศรัทธามักตั้งจิตอธิษฐานขอพรและให้คำสัญญาว่าจะกระทำบางสิ่ง หากพรนั้น สำเร็จ เช่น การถวายสิ่งของหรือการทำบุญ
โดยทั่วไปแล้วหลังจากคำขอบรรลุผล การแก้บนเป็นการแสดงความกตัญญูต่อหลวงพ่อโสธร มีหลายรูปแบบ ได้แก่ ถวายไข่ต้ม เป็นสิ่งที่นิยมแก้บน เนื่องจากง่ายต่อการจัดหาและเชื่อว่าเป็นของที่หลวงพ่อโปรด ส่วนจำนวนที่นำมาถวายมักเป็นเลขมงคล เช่น 99 หรือ 999 ฟอง
ถัดมา...ถวายพวงมาลัยและดอกไม้ นิยมใช้ดอกดาวเรืองหรือดอกไม้สดที่สื่อถึงความเจริญรุ่งเรือง และการว่าจ้างละครชาตรี เป็นประเพณีที่มีมาแต่โบราณ
เชื่อว่า...ช่วยเสริมสิริมงคลและแสดงความเคารพสูงสุด
นอกจากนี้ยังมีการทำบุญถวายสังฆทานและปฏิบัติธรรมเป็นอีกวิธีที่ผู้ศรัทธานิยม เพื่อเสริมบุญกุศลต่อเนื่อง, การปล่อยสัตว์ เช่น ปล่อยปลา หรือปล่อยนก เพื่อเสริมชีวิตที่เป็นอิสระ คลายเคราะห์กรรม
ขั้นตอนการแก้บนคร่าวๆ...จุดธูป 9 ดอก แล้วกล่าวบอกหลวงพ่อโสธรถึงเจตนาในการแก้บน ถวายของแก้บนโดยวางสิ่งของที่บนไว้ เช่น ไข่ต้ม หรือพวงมาลัย พร้อมตั้งจิตอธิษฐาน สวดมนต์บูชา บทสวดที่นิยม เช่น บทพุทธคุณ หรือบทเฉพาะสำหรับหลวงพ่อโสธร
...แสดงความกตัญญูด้วยการทำความดี เช่น การแบ่งปันหรือทำบุญเพื่อสังคม
...
ให้รู้เอาไว้อีกว่า “การแก้บน” เป็นเรื่องสำคัญไม่ใช่เรื่องงมงาย การแก้บนไม่ได้เป็นเพียงการแสดงความเคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่ยังช่วยสร้างความสงบสุขในจิตใจ เป็นการรักษาสัจจะและเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับสิ่งที่ตนศรัทธา
พึงระวังไว้ว่า...คำบนบานควรตั้งอยู่บนเหตุผล ควรเป็นสิ่งที่สามารถทำได้จริง และไม่ก่อผลเสียต่อผู้อื่น...อีกทั้งการปฏิบัติที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงการแก้บนที่เกินความจำเป็นหรือถูกหลอกลวงจากกลุ่มที่ใช้ความเชื่อในทางที่ผิด
การแก้บนหลวงพ่อโสธรสะท้อนถึงวัฒนธรรม ความเชื่อที่หยั่งรากลึกในสังคมไทย แม้จะเป็นพิธีกรรมที่ดูเหมือนมีมิติทางจิตวิญญาณ แต่แท้จริงแล้วคือการสร้างกำลังใจ แสดงความเคารพต่อคำมั่นสัญญา
การแก้บนที่ประกอบด้วย “ศรัทธา”... “ความดีงาม” ยังคงเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมคุณค่าของชีวิตในแบบที่เรียบง่ายแต่ลึกซึ้ง
คาถาบูชา “หลวงพ่อโสธร” อันนี้เป็นความเชื่อส่วนบุคคลที่ว่ากันว่าสามารถสวดอยู่ที่บ้านก็ได้ เพียงแต่ขอให้สวดเป็นประจำ เพื่อความแคล้วคลาดปลอดภัยอยู่ร่มเย็นเป็นสุข มีเมตตา มหานิยม ซื้อง่ายขายคล่อง
...
ท่องนะโม 3 จบ...นะ ทรงฟ้า โม ทรงดิน พุทธ ทรงสินธุ์ ธา ทรงสมุทร ยะ ทรงอากาศ พุทธังแคล้วคลาด ธัมมังแคล้วคลาด สังฆังแคล้วคลาด ศัตรูภัยพาลวินาศสันติ นะกาโร กุกกุสันโธ สิโรมัชเฌ โมกาโร
โกนาคะมะโน นานาจิตเต พุทธกาโร กัสสะโป พุทโธ จะ ทะเวเนเต ธา กาโร ศรีศากกะยะมุนี โคตะโม ยะกันเน ยะกาโร อะริยะ เมตตรัยโย ชิวหาทีเต ปัญจะพุทธา นะมามิหัง พุทธะบูชา มะหาเตชะวันโต ธัมมะบูชา มะหาปัญโญ สังฆะบูชา มะหาโภคะวะโห อะระหังพุทโธ อิติปิโสภะคะวา นะมามิหัง
“ศรัทธา”...นำมาซึ่งปาฏิหาริย์? เชื่อไม่เชื่อโปรดอย่าได้...“ลบหลู่”.
รัก-ยม
คลิกอ่านคอลัมน์ “เหนือฟ้าใต้บาดาล” เพิ่มเติม