ผีน่ารักที่ใครๆ อยากอยู่ใกล้ ด้วยเป็นผีวัฒนธรรมจับต้องได้ชื่อ “ผีตาโขน” เดิมเรียก “ผีตามคน” ของชาวอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย สันนิษฐานว่าเกิดในพุทธตำนานบุญพระเวสสันดรชาดก เมื่อครั้งออกจากป่าสู่เมืองมีเหล่าสรรพสัตว์และภูตผีปีศาจแปลงเป็นชาวบ้านแห่ส่งเสด็จ

ต่อมา...ชาวบ้านถือเป็นแบบอย่างเล่นกันสนุกสนาน จัดขึ้นช่วงเดือน 8 โดยนำหวดข้าวเหนียวมาตกแต่งหน้ากากดุจหน้าผีให้ดูน่าเกลียดกลัว แต่เวลาสวมปิดหน้ากลับดูน่ารัก แล้วพากันแห่ด้วยลีลาท่าทางเริงร่าคล้ายกำลังส่งเสด็จ โดยอัญเชิญพระอุปคุตร่วมขบวนแห่ด้วย

หลังจากนั้นจะถือโอกาสทำบุญตักบาตร อุทิศส่วนบุญให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ

ประวัติความเป็นมาของผีตาโขน มีบุคคลสำคัญควรแก่การกล่าวถึงได้แก่ “เจ้าพ่อกวน” กับ “เจ้าแม่นางเทียม” ผู้ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำด้านจิตวิญญาณชาวด่านซ้าย ที่ขบวนแห่เหล่าผีทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นผีตาโขนใหญ่และผีตาโขนเล็กต้องแวะไปสักการะเจ้าพ่อและเจ้าแม่ที่บ้านเดิ่น หมู่ 3 ต.ด่านซ้าย โดยมีดอกไม้ ธูป เทียน หมาก พลู และสีเสียดใส่ขัน มอบให้คนทั้งสองพร้อมพระเสื้อเมืองโบราณ

...

เพื่อรับไปบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ณ หิ้งบูชา ก่อนเดินนำขบวนผีเหล่านั้นไปยังลานวัดโพนชัยแล้วแยกย้ายกันแห่ต่อไปตามละแวกชุมชนมุมคุ้มบ้านต่างๆ

“บ้านเดิ่น” อันเป็นที่พำนักเจ้าพ่อกวน มีสิ่งสำคัญประดิษฐานอยู่คือ “หิ้งเจ้าเมืองวัง” บนเรือนทางหัวนอน โดยหิ้งนั้นมีเครื่องบูชารูปช้างและม้า ทำด้วยไหเหล้า 1 ไห กับพานดอกไม้ 1 พาน ใต้หิ้งมีตาแหลว สานด้วยไม้ไผ่ 1 อัน ด้านข้างมีอาวุธโบราณได้แก่ หอก ดาบ ง้าว ฆ้อง กังสดาล อีกทั้งเครื่องทรงโบราณกับพระเสื้อเมืองสิงสถิตอยู่บนนั้น และในบ้านเจ้าแม่นางเทียมซึ่งพำนักอยู่บริเวณใกล้เคียงพระธาตุศรีสองรักก็เช่นกัน จะมี “หิ้งเจ้าเมืองกลาง” ตั้งเครื่องบูชาอยู่บนบ้านหนองข้อง หมู่ 2 ตำบลด่านซ้าย

พลิกประวัติปูมหลังกำเนิดเจ้าพ่อกวน เจ้าแม่นางเทียม ตำนานเล่าว่า...มีมานานกว่า 400 ปีแล้วขณะก่อสร้างพระ ธาตุศรีสองรัก ที่ชายหญิงคู่หนึ่งเข้าไปภายในองค์พระธาตุ แล้วถูกนายช่างโบกปิดประตูทางเข้า

โดยหารู้ไม่ว่า...คนทั้งสองติดอยู่ภายในและต้องตายกลายเป็นเจ้าพ่อกวน และเจ้าแม่ นางเทียมในโลกต่างมิติ คอยดูแลพระธาตุนับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

เล่ากันอีกว่า...เจ้าพ่อและเจ้าแม่เปรียบเสมือนผู้ทรงอิทธิฤทธิ์ในฐานะพระเสื้อเมือง ทำหน้าที่คัดเลือกเจ้าพ่อกวนคนใหม่ที่มีลมหายใจเป็นผู้สืบแทน ด้วยวิธีนำชายแทนวิญญาณร่างทรงพระเสื้อเมือง มารับหน้าที่แต่งตั้งเจ้าพ่อกวนคนใหม่ของราษฎรด่านซ้าย

โดยไม่สามารถระบุได้ชัดว่ากำเนิดขึ้นเมื่อใด? บอกแต่เพียงคนแรกคือ “เจ้าพ่อกวนขุนไกร” ต่อมาเป็น “เจ้าพ่อกวนไชยสมุทร” “เจ้าพ่อกวนบุญมี” “เจ้าพ่อกวนสีจัน”

ถัดมาปี 2445-2485 “เจ้าพ่อกวนเฮียง” ปี 2499-2531 “เจ้าพ่อกวนแถว” ปี 2531 ถึงปัจจุบันคือ เจ้าพ่อกวน ดร.ถาวร เชื้อบุญมี ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ม.ราชภัฏเลย

ประเพณีปฏิบัติรับการสืบทอดทายาทในสกุล “เชื้อบุญมี” ผ่านวิญญาณเจ้านายคือพระเสื้อเมือง ได้ทำพิธีเมื่อวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 4 ปี 2531 อันเป็นวันเลี้ยงหิ้งเจ้าเมืองวัง

พบว่า...บุคคลดังกล่าวมีคุณสมบัติครบถ้วน ด้วยประพฤติตนอยู่ในกรอบประเพณีโบราณอย่างไม่บกพร่อง มีความเมตตาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ไปยังชาวบ้านและซื่อสัตย์เป็นสิ่งสำคัญสูงสุด จึงสมควรได้รับการพิจารณาเป็นเจ้าพ่อกวนคนที่ 7

...

ผู้นำด้านจิตวิญญาณในการประกอบพิธี กรรมทางศาสนา ทั้งงานบุญพระธาตุศรีสองรัก งานบุญใหญ่ในเทศกาลต่างๆ ตลอดจนเป็นที่พึ่งทางใจแก่เหล่าลูกบ้านทุกเพศวัยเสมอกัน

สัญลักษณ์ที่เจ้าพ่อกวนทุกองค์ยึดถือเคร่งครัด คือนุ่งโจงกระเบนแทนกางเกงตลอด ไว้ผมยาวเกล้ามวยท้ายทอยคล้ายพราหมณ์ คาดผ้าขาวบริเวณศีรษะ สวมเสื้อราชปะแตนแขนยาว

ส่วนเจ้าแม่นางเทียมก็ไม่ต่างอะไรกับวิธีการคัดเลือกข้างต้น ซึ่งปัจจุบันได้แก่ นางประกายมาศ เชื้อบุญมี วัย 61 ปี ผู้นำประกอบ พิธีกรรมและวัฒนธรรมท้องถิ่นทั้งหลายแหล่

...

ขณะเดียวกันทั้ง “เจ้าพ่อ” และ “เจ้าแม่” คือผู้สนับสนุนมูลนิธิพระธาตุศรีสองรัก โดยนำเงินที่ได้จากผู้บริจาค เป็นกองทุนเลี้ยงอาหารกลางวันแก่เด็กนักเรียนชั้น ป.4 โรงเรียนด่านซ้ายทุกปี

เจ้าพ่อกวน เล่าให้ฟังว่า ทั้งตนและเจ้าแม่นางเทียม ยังทำหน้าที่แทนร่างเจ้าเข้าทรง “เมื่อมีผู้อัญเชิญมาถามไถ่สารทุกข์สุกดิบชาวพารา...มีใครเจ็บไข้ได้ป่วยต้องเยียวยา หรือบนบานขอเจ้านายใหญ่คือพระเสื้อเมืองคุ้มครองความปลอดภัย แคล้วคลาดปราศจากสิ่งไม่ดีไม่งามทั้งสิ้น ขอให้เจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานและการประกอบการค้า เพื่อความรุ่งเรืองต่อไปในอนาคต”

“มีอยู่สิ่งหนึ่ง!” เจ้าพ่อกวนย้ำ “เจ้านายใหญ่จะแสดงอาการโกรธออกมาทันที ที่มีคนมาขอคำทำนายเลขเด็ดซื้อหวยซื้อเบอร์ เพื่อหวังรวยทางลัดโดยไม่ต้องทำงาน...จึงรู้ไว้ว่าอย่าทำ”

ความเชื่อข้างต้นทั้งหมดเหล่านี้เกิดจากพลังศรัทธาชาวด่านซ้ายมานาน โดยมั่นใจว่าทั้งเจ้าพ่อกวนและเจ้าแม่นางเทียม คือ “ผู้นำจิตวิญญาณ” ที่มีอุดมการณ์เป็นที่ตั้ง สัมผัสได้จากบัญชาเจ้านายใหญ่พระเสื้อเมือง ซึ่งเกินค่ากับคำว่า “อิทธิฤทธิ์” และ “ปาฏิหาริย์”

...

“ศรัทธา”...นำมาซึ่งปาฏิหาริย์? เชื่อไม่เชื่อโปรดอย่าได้...“ลบหลู่”.


รัก-ยม

คลิกอ่านคอลัมน์ “เหนือฟ้าใต้บาดาล” เพิ่มเติม