เทศกาล “ดิวาลี” หรือ “ดีปาวลี” ตามศาสนาฮินดูในอินเดีย ซึ่งปัจจุบันมีประชากรมากเป็นที่สองรองจากจีนคือ 1,411 ล้านคน เพิ่งจะฉลองกันไปเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา พร้อมฮินดูไทยในบ้านเราซึ่งมีอยู่พอประมาณ

เขาว่า...ในอินเดียใครอยู่ห่างบ้านที่ไหนก็ตาม ต้องกลับคืนถิ่นเพื่อทำพิธีและรื่นเริงร่วมกับคนในครอบครัว เวลานั้นรถไฟอินเดียจึงแน่นขนัดไม่ต่างจากมหาสงกรานต์บ้านเรา

ปีนี้...รัฐบาลไทยใจดีแจก “ฟรีวีซ่า” ปลอดการตรวจลงตรา งดการเก็บค่าธรรมเนียมคนอินเดีย เริ่มตั้งแต่พฤศจิกายนถึงพฤษภาคมปีหน้า ตามนโยบายส่งเสริมท่องเที่ยวกระตุ้นเศรษฐกิจ คนที่นั่นเลยแหวกประเพณีมาเที่ยวบ้านเราแทนร่วมฉลองเทศกาลประจำปี

กัลยกร เด็ดขาด เอ็มดี.โคโคนัท ทราเวลฯ พัทยา ผู้ขายทัวร์อินเดียเที่ยวไทย เล่าว่า...พฤติกรรมเช่นนี้ใช่ว่าเพิ่งจะเกิดช่วง “ฟรีวีซ่า” เท่านั้น หากแต่เกิดมานานร่วมทศวรรษแล้วที่คนแดนนี้นิยมมาแต่งงานตามศาสนาฮินดู แล้วจัดเลี้ยงฉลองและฮันนีมูนเบ็ดเสร็จในไทย

...

“เพราะที่นี่มีศาสนสถานฮินดูให้ประกอบพิธีหลายแห่ง มีห้องจัดเลี้ยงกับห้องพักในโรงแรมมากมาย และมีโลเกชันริมทะเลให้คู่บ่าวสาวเลือกฮันนีมูนด้วยค่าครองชีพที่ต่ำมาก”

เหนืออื่นใด...คือรัฐบาลอินเดียเก็บภาษียุบยับกับการจัดงาน เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีบริการ ภาษีบำรุงการศึกษาแก่เด็กๆ สู้จ่ายค่าเครื่องบินมาไทยแล้วจ่ายค่าที่พักจัดเลี้ยงบวกท่องเที่ยว ยังถูกเสียกว่าอินเดีย...นี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไมคนอินเดียถึงนิยมมาแต่งงานเมืองไทย

เทศกาล “ดิวาลี” บ้างก็เรียก “ดีปาวลี” ในภาษาฮินดีหมายถึง “แนวสว่างแห่งแสงไฟ” ท่ามกลางความมืด แล้วยังเหมารวมถึงวันเริ่มปีใหม่ตามปฏิทินฮินดู กัลยกร อธิบายว่า...“นี่เป็นตำนานโบราณซึ่งหลากหลายทางวัฒนธรรม จึงให้คำจำกัดความ ตามถิ่นแตกต่างกันไป”

ตัวอย่าง อินเดียตอนใต้บ่งบอกถึงดิวาลีคือชัยชนะของพระรามผู้อวตารจากพระนารายณ์ ที่มีต่ออสูรนรกาสูรหรือนนทกผู้อวตารจากทศกัณฐ์ ส่วนอินเดียตะวันออกด้านเบงกอลตะวันตกจะชูบูชาพระแม่กาลีเรียก “ทุรคาบูชา” ที่ชาวโลกต่างรู้จักเป็นอย่างดี

O O O O

สำหรับเทศกาล “ดิวาลี” บนเส้นทางวัฒนธรรมอินเดียตอนเหนือ ซึ่งมีอิทธิพลด้านวัฒนธรรมเหนือกว่าแคว้นใด ถือเป็นความสำเร็จของพระรามคราเสด็จนิวัติกลับอโยธยา พร้อมนางสีดา หรือเทวีพระลักษมี กับ “หนุมาน” คู่ใจหลังพเนจรพิชิตราวนะ ตัวละครหลักฝ่ายร้ายคือ “ทศกัณฐ์” ราชาอสูรนานถึง 14 ปี

“แล้วยังเชื่อว่า... เป็นการฉลองเพื่อรำลึกถึงองค์สีดาในอวตารพระแม่ลักษมี ครั้งวิวาห์กับพระนารายณ์หรือพระวิษณุคือพระรามนั่นเอง และยังควบถึงวันเกิดพระแม่ลักษมีเทวีอีกด้วย”

ดิวาลีปีนี้จัดขึ้นเมื่อ 12-16 พฤศจิกายนรวม 5 วันนั้น ได้กำหนดวันแรม 13 ค่ำ แห่งเดือน จันทรคติฮินดู เริ่มต้นวันแรกด้วย “วันธันเตรัส” ที่แต่ละครอบครัวพร้อมใจกันทำความสะอาดบ้านเรือน พร้อมกันนั้นซื้อทองชิ้นขนาดจิ๋วเตรียมบูชาพระแม่ลักษมี

ถัดมาเรียก “วันนรกจาตุรทศี” หรือ “โฉฏีดีปาวลี” อันเป็นวันปาวลีเล็กๆ ที่ชาวฮินดูจะรำลึกถึงการทำลายล้างนรกาสูร ปิดท้ายด้วยการสวดมนต์บูชาบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ

...

ถึงวันที่ 3 อันสำคัญสุดของเทศกาลเรียกว่า “วันบูชาพระแม่ลักษมี” ในคืนแรม 13 ค่ำ ครอบครัวฮินดูจะรอขอพรจากพระแม่ผู้กำเนิดในมหาสมุทร ขณะเทวดากวนเกษียรสมุทรทำน้ำอมฤต ซึ่งจะเป็นผู้ประทานโชคลาภเจริญรุ่งเรือง เป็นแบบอย่างที่ดีแก่หญิงฮินดูที่ซื่อสัตย์ต่อสามีเช่นพระแม่

และ...ต้นแบบกุลสตรีที่รักสวยรักงามเปี่ยมด้วยเมตตาต่อมนุษย์โลก

นอกจากนี้ ยังช่วยสร้างบรรยากาศยามค่ำคืนที่มืดมิดให้สว่างไสวด้วยประทีปแสงเทียนที่ถูกวางเป็นแถวแนวหน้าประตูบ้าน อุปมาดั่งแสงรัศมีนั้นคือคุณความดีที่ขยับมาขับไล่ความมืด แสดงถึงความชั่วและเลวร้ายให้หมดไปปานนั้น...เหล่านี้คือปริศนาธรรมที่บรรจุอยู่ในเทศกาลดิวาลี หรือดีปาวลี ประจำปีชาวฮินดูนั่นเอง

ส่วนวันที่ 4 เป็น “วันโควรรธันปูชา” บ้างเรียก “วันพลิประติปทา” หรือ “อันนะกูฏ” เพื่อบูชาชัยชนะที่พระกฤษณะมีต่อพระอินทร์ราชาแห่งทวยเทพเทวดา โดยชาวฮินดูจะยึดมั่นวันดังกล่าวเป็นวันเริ่มต้นศักราชใหม่ สำหรับการใช้ชีวิตใหม่ที่สดใสเปรียบประดุจแสงประทีปที่ส่องสว่างเช่นคืนวานที่ผ่านมา

...

“วันนี้ชาวฮินดู... เชื่อว่าเหมาะที่สุดสำหรับ การทำพิธีบุญทางศาสนา แล้วถือโอกาสเปิดสมุดบันทึกบัญชีในธุรกรรมงานใหม่ รวมทั้งบัญชีการเงินใหม่เพื่อเป็นมงคลแก่ชีวิต”

O O O O

เทศกาล “ดิวาลี” วันสุดท้ายวันที่ 5 เป็น “วันภาย วูช” หรือ “ภาย ฏีกา” บ้างก็เรียก “ภาย บีช” ซึ่งคำว่า “ภาย” ในที่นี้หมายถึงคนเป็นพี่ชายน้องชายก็แล้วแต่ จะร่วมฉลองเทศกาลกับพี่สาวหรือน้องสาว เพื่อกระชับความสัมพันธ์ฉันพี่น้องก็ย่อมได้

โดยฝ่ายพี่สาวน้องสาวจะเป็นผู้ไหว้ขอพรให้พี่ชายน้องชายประสบพบแต่ความสุข เจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงานและธุรกิจการค้ายิ่งๆขึ้นไป...โอม!

“ทั้งหมดคือศรัทธาที่เกิดจากความเชื่อแล้วสืบสานขยายความต่อเนื่องโดยส่งต่อกันเป็นทอดๆ ระหว่างรุ่นสู่รุ่น กลายเป็นประเพณีทางศาสนาที่ไม่มีวันตายตราบนิรันดร์”

...

กัลยกรสรุป แต่ละปี...ชาวฮินดูจะพร้อมใจกันตกแต่งบ้านเรือนให้มีบรรยากาศสดใสสวยงาม ซึ่งตามธรรมเนียมเก่าจะนิยมประดับด้วยเมล็ดข้าวหลากสี แล้วใช้เม็ดทรายและกลีบดอกไม้ประดับเป็นลวดลายต่างๆบนพื้นไปถึงลานบ้าน กระทั่งบานประตูหน้าต่าง ตามแต่ว่าบ้านไหนจะสร้างสรรค์งานศิลปะออกมาแบบใด

“กิจกรรมนี้คล้ายกับจะเปิดทางต้อนรับพระแม่ลักษมีเดินทางมาเยือน พร้อมมอบพรมงคลในการดำเนินชีวิตแก่ครอบครัว หรือเตรียมรับเครือญาติกับเพื่อนๆมาร่วมอวยพร โดยเจ้าของบ้านจะจัดสำรับขนมหวานเลี้ยงแขกเหรื่อที่มาร่วมสมาคมตลอดช่วงเวลา 5 วัน”

“ศรัทธา”...นำมาซึ่งปาฏิหาริย์? เชื่อไม่เชื่อโปรดอย่าได้...“ลบหลู่”.

รัก–ยม

คลิกอ่านคอลัมน์ “เหนือฟ้าใต้บาดาล” เพิ่มเติม