ทำดี...ได้ดี ทำชั่ว...ได้ชั่ว คือสุภาษิตสอนใจ “ทำบุญ”...อย่าหวังสิ่งตอบแทน ทำด้วยหัวใจที่บริสุทธิ์จะเป็นคุณกับตัวอย่างที่สุด

อานิสงส์ตามที่องค์สมเด็จพระชินสีห์เทศนาไว้ คนถวายและร่วมกฐิน ทาน ครั้งหนึ่งจะปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าก็ได้ จะปรารถนาเป็นพระอัครสาวกก็ได้ จะปรารถนาพระนิพพานซึ่งเป็นพระอรหันต์ก็ได้

และ...ยิ่งกว่านั้นไซร้ก่อนที่บรรดาผลทั้งหลายเหล่านั้นคือความเป็นพระพุทธเจ้าก็ดี ความเป็น อัครสาวกก็ดี หรือพระอรหันต์ก็ดี กว่าจะมาถึง... พระผู้มีพระภาคเจ้ากล่าวว่า ในขณะที่เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ มีบารมียังไม่สูงดี ยังไม่บรรลุ...มรรคผลได้

อานิสงส์กฐินทาน อันดับแรก...เมื่อตายจากความเป็นคนจะเกิดเป็นเทวดาและลงมาจุติเป็นเจ้าจักรพรรดิปกครองประเทศทั่วโลก มีมหาสมุทรทั้ง 4 เป็นขอบเขต 500 ชาติ

...เมื่อบุญแห่งความเป็นจักรพรรดิสิ้นไป บุญหย่อนลงมาจะเป็นพระมหากษัตริย์ 500 ชาติ...เมื่อบุญแห่งความเป็นพระมหากษัตริย์หมดไป ก็เกิดเป็นเศรษฐี 500 ชาติ

...เมื่อบุญแห่งความเป็นมหาเศรษฐีหมดไป ก็เกิดเป็นอนุเศรษฐี 500 ชาติ

...

เมื่อบุญแห่งความเป็นอนุเศรษฐีหมดไป ก็เกิดเป็นคหบดี 500 ชาติ...รวมแล้วคนที่ทอดกฐินทานได้สักครั้งหนึ่งแล้ว “บุญ”...“บารมี” ยังไม่ทันหมดก็เข้านิพพานก่อนได้

นอกจากนี้แล้วในงานบุญใหญ่ “ทอดกฐิน” ประจำปี ถ้าสังเกตจะเห็นว่าผู้คนจะแย่ง...ชิงถือ “ธงมัจฉา” กับ “ธงจระเข้” กันมาก บางแห่งถึงขั้นต้องจับจองกันเอาไว้ล่วงหน้าเลยทีเดียว เพราะหนึ่งงานจะมีอย่างละหนึ่งธงเท่านั้น ด้วยมีศรัทธาเชื่อกันว่า...หากใครที่ได้มาบูชานั้น เงินทองจะไหลมาเทมา

...โชคลาภจะไหลบ่าไม่ขาดสาย เปรียบ เทียบไม่ต่างกับกระแสแรงศรัทธาของผู้คนที่ต่างมุ่งหน้ามางาน “ทอดกฐิน” ที่จะมากันเป็นประจำทุกปี เอาข้าวของเครื่องใช้ต่างๆมาถวายวัด เอาเงินทองมาร่วมทำบุญ

บางวัดที่มีผู้ศรัทธามากอาจจะมีคิวจองเป็นเจ้าภาพทอดกฐินล่วงหน้านับเป็นปีหรือหลายๆปี แสดงให้เห็นถึงความศรัทธา ความร่วมแรงร่วมใจที่จะสืบสานประเพณีเก่าแก่อย่างเข้มแข็ง

@@@@@@

ธงกฐินทั้ง 4 ก็คือ ธงจระเข้ ธงนางมัจฉา ธงตะขาบ ธงเต่า เคลือบแฝงเอาไว้ด้วยปริศนาธรรมแต่โบร่ำโบราณนานมาแล้ว “จระเข้”...สะท้อนให้เห็นภาพ สัตว์ปากใหญ่ กินไม่อิ่ม หมายถึง ความโลภ

“ตะขาบ”...สัตว์มีพิษ เปรียบดั่งความโกรธที่อยู่ในหัวใจ คอยเผาจิตใจ วัดไหนปักธงนี้แสดงให้รู้กันว่ามีคนมาจองกฐินแล้ว ใครที่จะมาปวารณาทอดกฐินก็ให้ผ่านไปวัดอื่น ไม่ต้องมาไถ่ถามให้เสียเวลา

“นางมัจฉา”...สะท้อนถึงเสน่ห์แห่งความงาม ชวนให้หลงใหลเคลิบเคลิ้ม ตัวแทนหญิงสาวหมายถึงความหลง ตามความเชื่อระบุว่า อานิสงส์จากการถวายผ้าแก่พระภิกษุสงฆ์จะส่งผลบุญให้มีรูปงาม

“เต่า”...สัตว์ที่มีกระดองแข็งคอยคุ้มกันป้องกันภัย ความหมายเมื่อวัดปักธงเต่า เพื่อแสดงแจ้งให้รู้ว่าวัดนี้ทอดกฐินเรียบร้อยแล้ว โดยจะปลดลงในวันเพ็ญเดือน 12

“กฐิน”...เรื่องสำคัญที่ต้องทำให้ถูกต้อง... เจ้าภาพกฐินต้องเริ่มจากเจตนาของโยม พระจะไปเชิญชวนให้มาเป็นเจ้าภาพไม่ได้...

อาจารย์ทองย้อย แสงสินชัย ให้ความรู้เอาไว้ว่า หนึ่ง...พุทธศาสนิกชน ผู้มีศรัทธา ที่ต้องการเป็นเจ้าภาพกฐิน ต้องไปแสดงเจตนาของตนเอง โดยติดต่อเจ้าอาวาสวัดที่ท่านต้องการเป็นเจ้าภาพทอดกฐินในปีนั้น สอง...พระภิกษุจะไปเชิญชวนบุคคลให้มาเป็นเจ้าภาพกฐินไม่ได้ ผิดต่อพระบรมพุทธานุญาต

...

สาม...ในการขึ้นป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ จึงต้องใช้คำให้ถูกต้องเหมาะสม สอดคล้องกับหลักพระธรรมวินัย สี่...ทางวัดจะใช้ข้อความเชิญชวนมาเป็นเจ้าภาพกฐินไม่ได้

ห้า...ใช้ข้อความเชิญชวนในการร่วมอนุ โมทนาบุญกุศลในพิธีทอดกฐินแบบนี้ทำได้ หากมีเจ้าภาพกฐินเรียบร้อยแล้ว หก...ทางวัดจะไปกำหนดวันทอดกฐินไม่ได้ แต่ให้เจ้าภาพเสนอวันที่สะดวก แล้วปรึกษาหารือ ให้เจ้าภาพเข้าใจและยอมรับได้

“ร่วมกันรณรงค์ทำสิ่งที่ถูกต้อง เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องในพระพุทธศาสนา ญาติโยมสงสัยต้องสอบถามปรึกษาให้ดี เมื่อเข้าใจดี ทำได้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย ย่อมเกิดเป็นบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่อย่างแท้จริง”

ข้อมูลความรู้ข้างต้นทั้งหมดนี้อาจารย์ทองย้อย ออกตัวไว้ว่า ไม่ได้มีเจตนามาต่อว่าตำหนิผู้ใด แต่มาเริ่มต้นให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง...ถ้าผิดแล้ว แก้ไข ความดีงามก็จะตามมา กราบขอบพระคุณทุกท่าน

@@@@@@

“การทอดผ้าป่า” นั้นทอดได้ทั้งปี ไม่มีกำหนดเวลาข้อจำกัดและไม่มีพิธีมากมายเหมือน “การทอดกฐิน”

...

อาจจะกล่าวได้ว่า “กฐิน” เป็นสื่อสะท้อนอันหมายถึงการทำบุญ ถวายผ้ากฐินแก่พระภิกษุสงฆ์ที่ได้จำพรรษาอยู่ในวัดครบเป็นเวลา 3 เดือน จะได้นำผ้าเอาไว้ใช้ทดแทนผ้าผืนเก่าที่อาจจะชำรุด ขาด เก่าแล้วจักได้ห่มใช้ผ้าใหม่ๆ การทอดกฐิน...วางผ้าแล้วกล่าวคำถวายท่ามกลางสงฆ์เรียกว่า “กาลทาน”

วัตถุประสงค์สำคัญ คือสร้างความสามัคคีในหมู่คณะสงฆ์ อนุเคราะห์ ภิกษุผู้ทรงคุณที่มีจีวรชำรุด การได้มาของผ้าไตรจีวรพระพุทธองค์ไม่ทรงห้ามการรับผ้าจากผู้ศรัทธา เพื่อนำมากรานกฐินจึงทำให้เกิด...“ทาน”

ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่เป็นจังหวะและโอกาสที่มีน้อย จึงกระทำได้ยาก เพราะหากถวายก่อนหน้าหรือหลังจากช่วงเวลาที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ก็จะไม่ถือว่าเป็น...การทอดกฐิน

...

ประเพณีการทอดกฐินของพุทธศาสนิกชนไทยมีมาช้านานแล้ว ซึ่งมีทั้ง “พิธีหลวง” และ “พิธีราษฎร์”...การถวายผ้าพระกฐินของพระมหากษัตริย์จัดเป็นพระราชพิธีที่สำคัญประจำปี

“ศรัทธา”...นำมาซึ่งปาฏิหาริย์? เชื่อไม่เชื่อโปรดอย่าได้...“ลบหลู่”.

รัก-ยม

คลิกอ่านคอลัมน์ "เหนือฟ้าใต้บาดาล" เพิมเติม