วันมาฆบูชา 2567 นี้ ตรงกับวันเสาร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ หรือวันเพ็ญเดือน 3 ความสำคัญของวันมาฆบูชา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ “ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์” ซึ่งหลายพื้นที่ได้จัดกิจกรรมทำบุญ ตักบาตร และเวียนเทียน ให้พุทธศาสนิกชนได้มาร่วมกิจกรรมทางศาสนา
ประวัติวันมาฆบูชา และความสำคัญ
วันมาฆบูชา คือ วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 มักจะตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ในปฏิทินสากล นับเป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสแก่ศิษยานุศิษย์ว่า “ต่อไปนี้อีก 3 เดือน เราจักเสด็จดับขันธปรินิพพาน” หลังจากทรงสั่งสอนพระธรรมมาเป็นเวลา 45 ปี โดยพระพุทธเจ้าทรงปลงอายุสังขารแสดงธรรมโอวาทปาฏิโมกข์
ความหมายของคำว่า “มาฆบูชา” ย่อมาจากคำว่า “มาฆปุรณมีบูชา” แปลว่า การบูชาพระในวันเพ็ญเดือน 3 ซึ่งในวันนี้เองได้เกินเหตุการณ์สำคัญพร้อมกัน 4 เหตุการณ์ เรียกว่า “จาตุรงคสันนิบาต” มีความหมาย ดังนี้
- จาตุร แปลว่า 4
- องค์ แปลว่า ส่วน
- สันนิบาต แปลว่า ประชุม
...
"มาฆบูชา" เหตุการณ์สําคัญในวันจาตุรงคสันนิบาต
เหตุอัศจรรย์ที่เกิดขึ้น 4 เหตุการณ์สำคัญพร้อมกัน มีดังนี้
1. พระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป เดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ เวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ ซึ่งพระสงฆ์เหล่านี้ต่างแยกย้ายไปจาริกเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสถานที่ต่างๆ
2. พระสงฆ์จำนวน 1,250 รูปเหล่านี้ ล้วนเป็นพระอรหันต์ทุกรูปโดยได้รับการบวชจากพระพุทธเจ้าโดยตรง เรียกว่า "เอหิภิกขุอุปสัมปทา"
3. พระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป ต่างมาประชุมพร้อมเพรียงกันโดยมิได้มีการนัดหมาย
4. วันที่มาประชุม ตรงกับวันเพ็ญเดือนมาฆะ (วันเพ็ญกลางเดือน 3) เป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมเทศนา อันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา คือ โอวาทปาฏิโมกข์
บทสวดโอวาทปาฏิโมกข์คาถา สวดเสริมสิริมงคลในวันมาฆบูชา
(หันทะ มะยัง โอวาทะปาติโมกขะคาถาโย ภะณามะ เส)
สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง
- การไม่ทำบาปทั้งปวง
กุสะลัสสูปะสัมปะทา
- การทำกุศลให้ถึงพร้อม
สะจิตตะปะริโยทะปะนัง
- การชำระจิตของตนให้ขาวรอบ
เอตัง พุทธานะสาสะนัง
- ธรรม 3 อย่างนี้ เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา
- ขันติ คือความอดกลั้น, เป็นธรรมเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง
นิพพานัง ปะระมัง วะทันติ พุทธา
- ผู้รู้ทั้งหลายกล่าวพระนิพพานว่าเป็นธรรมอันยิ่ง
นะ หิ ปัพพะชิโต ปะรูปะฆาตี
- ผู้กำจัดสัตว์อื่นอยู่ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิตเลย
สะมะโณ โหติ ปะรัง วิเหฐะยันโต
- ผู้ทำสัตว์อื่นให้ลำบากอยู่ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย
อะนูปะวาโท อะนูปะฆาโต
- การไม่พูดร้าย การไม่ทำร้าย
ปาติโมกเข จะ สังวะโร
- การสำรวมในปาฏิโมกข์
มัตตัญญุตา จะ ภัตตัส๎มิง
- ความเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค
ปันตัญจะ สะยะนาสะนัง
- การนอน การนั่ง ในที่อันสงัด
อะธิจิตเต จะ อาโยโค
- ความหมั่นประกอบในการทำจิตให้ยิ่ง
เอตัง พุทธานะสาสะนัง
- ธรรม 6 อย่างนี้ เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
กิจกรรมวันมาฆบูชา เริ่มเมื่อใด มีอะไรบ้าง
ในหนังสือ "พระราชพิธีสิบสองเดือน" อันเป็นบทพระราชนิพนธ์ของ "พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" มีเรื่องราวเกี่ยวกับการประกอบราชกุศลมาฆบูชาไว้ว่า พิธีกรรมวันมาฆบูชา เริ่มต้นสมัยรัชกาลที่ 4 โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในช่วงเช้าจะมีพิธีพระราชกุศลนิมนต์พระสงฆ์วัดบวรนิเวศฯ และวัดราชประดิษฐฯ 30 รูป ฉันภัตตาหารในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เวลาค่ำเสด็จออกทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการแล้วพระสงฆ์สวดทำวัตรเย็น จึงได้สวดมนต์ต่อไป มีสวดคาถาโอวาทปาฏิโมกข์ด้วย สวดมนต์จบ ทรงจุดเทียนรายตามราวรอบพระอุโบสถ 1,250 เล่ม มีประโคมด้วยอีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงเทศนาโอวาทปาฏิโมกข์กัณฑ์ 1 เป็นเทศนาทั้งภาษาบาลี และภาษาไทย เมื่อเทศน์จบพระสงฆ์ซึ่งสวดมนต์รับสัพพีทั้ง 30 รูป
การทำบุญตักบาตรในช่วงเช้า ฟังเทศน์ รวมไปถึงการเวียนเทียน จึงกลายเป็นพิธีทางศาสนาในวันมาฆบูชาที่สืบทอดกันมาอย่างต่อเนื่องจวบจนปัจจุบัน
หลักธรรมวันมาฆบูชามีอะไรบ้าง
หลักธรรมสำคัญในวันมาฆบูชา คือ “โอวาทปาฏิโมกข์” เป็นหลักธรรมอันเป็นหลักหัวใจสำคัญในพระพุทธศาสนา ที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมให้แก่พระอรหันต์ทั้ง 1,250 รูปในวันนั้น ได้แก่ การทำความดี ละเว้นความชั่ว และทำจิตใจให้บริสุทธิ์
การเวียนเทียนวันมาฆบูชา
...
ในวันมาฆบูชาช่วงเย็นถึงค่ำจะมีการเวียนเทียนรอบพระอุโบสถ โดยเริ่มจาก พระสงฆ์ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ประชาชนทั่วไป เดินเวียนทางขวา 3 รอบ เรียกว่า เวียนแบบทักขิณาวัฏ
- รอบที่ 1 ให้รำลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า โดยภาวนาคาถา บทอิติปิโส ภควาฯ ไปจนจบ เพื่อให้จิตใจมีสมาธิ
- รอบที่ 2 ให้รำลึกถึงคุณพระธรรม โดยภาวนาคาถา บทสวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโมฯ ไปจนจบ
- รอบที่ 3 ให้รำลึกถึงคุณพระสงฆ์ โดยภาวนาคาถา บทสุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆฯ ไปจนจบ
วันมาฆบูชา เป็นหนึ่งในวันสำคัญทางศาสนาพุทธ พุทธศาสนิกชนสามารถเดินทางไปทำบุญ ตักบาตร ฟังเทศน์ เจริญสมาธิภาวนา เวียนเทียนรอบพระอุโบสถ เพื่อสั่งสมบุญบารมีกันได้ หรือหากไม่สะดวก ในปัจจุบันก็มีการร่วมทำบุญเวียนเทียนออนไลน์ได้ที่บ้านอีกด้วย.
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง :