• ไม่ใช่เรื่องผิดแปลก ถ้าใครจะคิดว่า ‘ดนตรี’ เป็นเพียงสื่อศิลปะที่ควรใช้สำหรับ ‘เยียวยา’ หรือ ‘ปลอบโยน’ จิตใจของผู้ฟัง แต่โปรดอย่าลืมว่า มันยังเป็น ‘อะไร’ ได้อีกหลายๆ อย่าง

  • ดนตรีเป็นการเรียกร้องสิทธิของคนผิวดำ, เป็นการตีแผ่ความเหลื่อมล้ำในสังคม, เป็นการแสดงออกในเรื่องเพศ, เป็นการต่อต้านความรุนแรงและสนับสนุนเสรีภาพทางความคิดเห็น หรือแม้แต่เป็น ‘อาวุธทำลายผู้คน’ ได้ทั้งสิ้น

  • ดังนี้แล้ว ‘ดนตรี’ จึงไม่ได้เป็นเพียง ‘เครื่องมือปลอบประโลมใจอันแสนมักง่าย’ ที่เราใช้หลอกตัวเองและคนอื่นให้มองเห็นแต่ด้านที่สวยงามแค่ชั่วครู่ชั่วยาม จนลืมเหลียวแล ‘ความจริงอันโหดร้าย’ ในแง่มุมอื่นๆ บนโลกที่เราทุกคนยังคงต้องตระหนักและช่วยกันคิดหาทางแก้ไข


ไม่ใช่เรื่องผิดแปลก ถ้าใครจะคิดว่า ‘ดนตรี’ เป็นเพียงสื่อศิลปะที่ควรใช้สำหรับ ‘เยียวยา’ หรือ ‘ปลอบโยน’ จิตใจของผู้ฟัง เพราะตามที่คนทั่วไปรับรู้รับทราบ ดนตรีคือหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของการจัดเทศกาลและงานรื่นเริงทั้งหลายบนโลก

แต่โปรดอย่าลืมว่า ดนตรีไม่ได้มีหน้าที่เพียงเท่านั้น หากมันยังเป็น ‘อะไร’ ได้อีกหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะกับการเป็นได้ตั้งแต่ ‘กระบอกเสียง’ เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมจากสังคม หรือแม้กระทั่ง ‘อาวุธ’ ที่ใช้ทำร้ายทำลายฝั่งตรงข้าม โดยที่ศิลปินคนนั้นอาจรู้หรือไม่รู้ตัว

เหล่านี้คือเศษเสี้ยวเล็กจ้อยของตัวอย่างที่ช่วยบอกว่า ‘ดนตรี’ ยังสามารถเป็นอะไรได้อีกบ้าง

...

ดนตรีเป็น ‘การเรียกร้องสิทธิของคนผิวดำ’

ในช่วงยุค 60 ที่สังคมอเมริกันเต็มไปด้วยการแบ่งแยกด้วย ‘สีผิว’ คนผิวดำที่มีเชื้อสายแอฟริกันจึงถูก ‘เลือกปฏิบัติ’ อย่างกว้างขวาง ทั้งการแบ่งโซนที่อยู่อาศัยหรือการทำกิจกรรมในที่สาธารณะ, การเข้าถึงสิทธิพื้นฐานทางสังคม เช่น โอกาสในการได้รับการศึกษา ไปจนถึงการทำร้ายร่างกาย หรือแม้แต่คร่าชีวิตคนผิวดำ จนไม่ต่างอะไรกับการบี้บด ‘แมลงวัน’ ไร้ค่าสักตัว ดนตรีจึงถูกใช้เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการ ‘ปลอบขวัญ’ อย่างหดหู่ และ ‘ต่อสู้เรียกร้อง’ อย่างแข็งกร้าวไปพร้อมๆ กัน

ตัวอย่าง : นีนา ซีโมน ศิลปินหญิงผิวดำแนวบลูส์/แจ๊ซ เคยแต่งเพลงหลายเพลงเพื่อ ‘ประท้วง’ คนผิวขาวที่แบ่งแยกคนผิวดำในช่วงยุค 60 หลังจากต้องทนพบเจอกับโศกนาฏกรรมการกดขี่ด้านสีผิว-จนถึงขั้นมีผู้คนล้มตาย-มาตั้งแต่เด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นเพลง Mississippi Goddam (1964) ที่มีเนื้อหาสบถด่าให้คนขาวหยุดความรุนแรงต่อพวกเธอ; Ain’t Got No, I Got Life (1968) ที่ปลุกปลอบให้เพื่อนคนผิวดำจงภูมิใจในเนื้อตัวร่างกายของตน แม้ต้องถูกปฏิบัติราวกับ ‘ไร้ตัวตน’ หรือ Why? (The King of Love Is Dead) (1968) ที่อุทิศให้เพื่อนร่วมอุดมการณ์ผู้ล่วงลับอย่าง มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ที่ถูกลอบสังหารด้วยความโหดเหี้ยม

โดยหลังจากที่เธอแต่งเพลงเหล่านี้โดยไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมากนัก อีกไม่กี่ปีถัดมา เธอจึงขอลาขาดจากการอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาและโบยบินไปใช้ชีวิตยังประเทศอื่นที่ ‘เห็นเธอเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียม’ แทน

ดนตรีเป็น ‘การตีแผ่ความเหลื่อมล้ำในสังคม’

มีเพลงหลายแนวที่ถือกำเนิดขึ้นมาจากความทุกข์ทนของผู้คนบนโลก เพลงแร็ปและฮิปฮอปก็ถือเป็นหนึ่งในแนวทางเหล่านั้น โดยศิลปินผิวดำจำนวนมากใช้แนวเพลงเหล่านี้พูดถึง ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ในชีวิตประจำวันที่ตัวเองและครอบครัวได้ประสบด้วยน้ำเสียงที่โศกเศร้า ผิดหวัง หรือกระทั่งโกรธเกรี้ยว ทั้งความยากจนข้นแค้น, การโดนดูถูกเหยียดหยาม, การถูกละเลยจากภาครัฐ และการต้องต่อสู้ดิ้นรนที่จะใช้ชีวิตต่อไป แม้ต้องเลือกทางเดินที่หม่นมืดอย่างการค้ายาหรือทำอาชีพผิดกฎหมายอื่นๆ โดยปราศจากหนทางหรือความหวัง เหมือนคนจากชนชั้น ‘สูงกว่า’ ที่รัฐคอยโอบอุ้ม

ตัวอย่าง : วงแร็ป/ฮิปฮอปสัญชาติอเมริกัน เดอะ รูตส์ (The Roots) ออก ‘คอนเซปต์ อัลบั้ม’ (อัลบั้มที่มีเรื่องราวหรือแนวคิดผูกโยงกันทั้งชุด) ที่ชื่อ Undun ในปี 2011 เพื่อเล่าเรื่องราวของตัวละครสมมติอย่าง เรดฟอร์ด สตีเวนส์ หนุ่มผิวดำอายุน้อยที่มีวัฏจักรชีวิตพัวพันอยู่กับความเหลื่อมล้ำ ซึ่งบีบบังคับให้เขาต้องถีบตัวเองออกจากความยากจนด้วยการก้าวสู่ธุรกิจค้ายา โดยแต่ละเพลงของอัลบั้มที่ถูกเรียกเรียงขึ้นอย่างต่อเนื่องและทรงพลังนั้น จะเล่าถึงชีวิตของเขาจากตอนที่ ‘ถูกฆ่าตาย’ เพราะธุรกิจนี้ ย้อนเวลากลับไปจนถึงช่วงวัยเด็กที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวดและเดียวดาย จากการถูกสังคมทำร้ายด้วยความคาดหวังต่างๆ นานา

หันกลับมามองในบ้านเรา ก็มีกลุ่มศิลปินที่ใช้เพลงแร็ป/ฮิปฮอปฉายภาพความเหลื่อมล้ำของผู้คนเช่นกัน ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ ‘ประเทศกูมี’ (พ.ศ.2561) ของกลุ่ม Rap Against Dictatorship ที่พูดถึงภาพอีกมุมหนึ่งของประเทศไทยที่ไม่ได้สวยงาม และยังคงเต็มไปด้วยปัญหาที่รอการแก้ไขจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะรัฐบาลที่ผู้แต่งมองว่าละเลยการฟังเสียงของประชาชน และไม่เคยลงมือหาทางออกให้บ้านเมืองอย่างจริงจังเสียที

...

ดนตรีเป็น ‘การแสดงออกในเรื่องเพศ’

เซ็กซ์ เพศสภาพ และรสนิยมทางเพศที่ต่างออกไป เป็นเรื่องที่มนุษย์หลายคนถูก ‘ตัดสิน’ และ ‘กดทับ’ มาแต่ไหนแต่ไร เราจึงเห็นศิลปินจากต่างยุคต่างสมัยจำนวนไม่น้อย ที่ใช้ ‘ดนตรี’ เป็นเครื่องมือในการปลดปล่อยและเรียกร้อง ‘สิทธิทางเพศ’ ของตัวเองกับคนในสังคม ซึ่งหลายครั้งก็บอกเล่าผ่านเนื้อหาเพลงที่ร้อนแรง การแต่งกายที่อวดโชว์เรือนร่าง ไปจนถึงมิวสิกวิดีโอที่ยั่วเย้าเอาล่อเอาเถิดกับ ‘ความเชื่อทางเพศแบบเดิมๆ’ ของผู้คน

ตัวอย่าง : ในปี 1992 ศิลปินเพลงป๊อปชื่อดังอย่าง มาดอนนา เคยออกอัลบั้ม Erotica ที่มีเนื้อหาและท่าทีที่เต็มไปด้วย ‘การแสดงออกทางเพศ’ อย่างหมิ่นเหม่ทางศีลธรรมและโจ๋งครึ่ม แถมเธอยัง ‘เปลือยกาย’ ถ่ายหนังสือนู้ดส่วนตัวที่ชื่อ Sex ออกมาพร้อมกับอัลบั้มด้วย ซึ่งก็ทำให้สื่อมวลชนและแฟนเพลงในยุคนั้นออกมาวิพากษ์วิจารณ์เธออย่างหนักและถึงขนาดที่คริสตศาสนิกชนออกมาบอยคอต เพราะรู้สึกว่าเธออาจ ‘ถลำลึก’ และ ‘หมกมุ่น’ กับเซ็กซ์เกินไป และนั่นก็สร้างความขับข้องใจให้มาดอนนาเป็นอย่างมาก

กระทั่งในปี 1995 เธอจึงตัดสินใจปล่อยซิงเกิลเพลง Human Nature จากอัลบั้มใหม่อย่าง Bedtime Stories (1994) ที่บอกเล่าถึงทัศนคติที่เธอมีต่อเรื่อง ‘เซ็กซ์’ ในสังคม ‘ปากว่าตาขยิบ’ ว่า หลายคนอาจอับอายที่จะพูดเรื่องนี้ แต่เธอไม่เคยสนใจ และคิดว่าเราควรพูดเรื่องนี้กันได้อย่างตรงไปตรงมา เพราะเซ็กซ์เป็น ‘เรื่องธรรมชาติ’ สำหรับมนุษย์ โดยในมิวสิกวิดีโอเพลงนี้ มาดอนนายังคงแสดงออกด้วยท่าทียั่วยวนเริงร่า และคอสตูมชุดหนังเงาวับที่ขับเน้นเรือนร่างโค้งเว้าแบบไม่แคร์ขี้ปากใครเช่นเคย

...

หรือจะเป็น จอร์จ ไมเคิล ที่เคยแต่งเพลงและปล่อยมิวสิกวิดีโอที่ชื่อ Outside ออกมาในปี 1998 เพื่อยั่วล้อกับคดีความช่วงต้นปีของตัวเอง เมื่อเขาถูกตำรวจจับหลังจาก ‘กระทำอนาจารในห้องน้ำสาธารณะกับผู้ชายอีกคน’ จนต้องเปิดตัวว่า ‘เป็นเกย์’ กับสื่อ พร้อมแสดงทัศนคติส่วนตัวผ่านเพลงนี้ด้วยว่า รสนิยมทางเพศ-ไม่ว่าจะแบบไหน-ไม่ใช่เรื่อง ‘ผิด’ หากเรายินยอมพร้อมใจ และไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร

ดนตรีเป็น ‘การต่อต้านความรุนแรงและสนับสนุนเสรีภาพทางความคิดเห็น’

ความเกลียดชังหรือความรุนแรงที่ก่อเกิดมาจาก ‘ความคิดเห็นที่แตกต่าง’ นั้น เป็นเรื่องคลาสสิกที่ปรากฏให้เห็นเรื่อยมาในหน้าประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ และเป็นชนวนสำคัญของ ‘สงคราม’ ที่สร้างความสูญเสียน้อยใหญ่เรื่อยมา และถึงแม้ว่าในปัจจุบัน หลายชาติจะยังมีความขัดแย้งที่ใหญ่โตจนพัฒนากลายเป็นสงครามอยู่บ้าง แต่ในประเทศที่ไม่ได้เกิดสงครามขึ้นโดยตรง การปะทะกันของความคิดเห็นที่แตกต่างก็ยังคงเดือดดาลและสร้างความเจ็บปวดให้ผู้คนได้เช่นกัน จนมีศิลปินบางรายเลือกใช้ ‘ดนตรี’ มาแสดงออกถึงประเด็นเปราะบางเหล่านี้ เพื่อยืนยันว่าเราทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิด โดยปราศจากการใช้ความรุนแรงต่อกัน

ตัวอย่าง : เดอะ ชิกส์ (The Chicks) วงดนตรีหญิงล้วนแนวคันทรีที่ก่อนหน้านี้ใช้ชื่อว่า ดิกซี ชิกส์ (Dixie Chicks) เคยแสดงความคิดเห็นทางการเมืองบนเวทีคอนเสิร์ตปี 2003 เพื่อต่อต้านการส่งทหารบุกอิรักของ จอร์จ ดับเบิลยู บุช ผู้เป็นประธานาธิบดีในสมัยนั้น ซึ่งขัดแย้งกับแนวคิดของชาวอเมริกันส่วนใหญ่ที่กำลังเดือดดาลกับผู้ก่อร้าย ‘ชาวมุสลิม’ จากเหตุการณ์ 9/11 จนทำให้แฟนๆ ที่โกรธแค้นออกมายืนเผาซีดีหน้าบ้าน และสถานีวิทยุฝั่งอนุรักษนิยมประกาศแบนผลงานของพวกเธอ

...

สามปีต่อมา พวกเธอจึงแต่งเพลง Not Ready to Make Nice (2006) เพื่อตอบโต้กับความกราดเกรี้ยวจากผู้คนที่พวกเธอเคยได้รับ โดยเนื้อหาเพลงเป็นการยืนยันในจุดยืนเดิมที่จะไม่สนับสนุนความรุนแรงและการทำสงครามระหว่างเชื้อชาติใดๆ เช่นเดียวกับการต่อต้านความไร้ตรรกะของแฟนๆ คลั่งชาติที่ ‘สอนให้ลูกหลานเกลียดชังคนแปลกหน้า (อย่างพวกเธอ) ที่เห็นต่างจากพวกเขา’ โดยไม่ได้พยายามแลกเปลี่ยนหรือทำความเข้าใจอะไรเลย

เหตุการณ์ทั้งหมดนี้กลายมาเป็นหนังสารคดี Shut Up and Sing ในปีเดียวกัน (ชื่อเรื่องมาจากท่อนหนึ่งของเนื้อเพลงที่เล่าว่า มีแฟนคลับสั่งให้พวกเธอ “หุบปาก เลิกแสดงความคิดเห็น และร้องเพลงไปเฉยๆ ก็พอ”) และพวกเธอก็ยังสามารถคว้ารางวัลแกรมมี่มาได้ 3 ตัวจากเพลงดังกล่าวอีกด้วย

และ, ใช่, ดนตรีเป็น ‘อาวุธทำลายผู้คน’

อย่าคิดว่าดนตรีไม่เคยเป็น ‘อาวุธ’ เพราะอันที่จริง มัน ‘เคย’ ถูกใช้เป็นอาวุธทำร้ายทำลายผู้คนมาแล้ว ซึ่งหากไม่นับการ ‘โจมตีกัน’ ผ่านทัศนคติหรือความเชื่อบางอย่างของเพลงบางเพลง เราก็คงเคยได้ยินข่าวกันมาบ้างว่า ดนตรีเคยถูกใช้เป็นอาวุธอย่างเป็น ‘รูปธรรม’ มาแล้วจริงๆ

ตัวอย่าง : เพลงแสนน่ารักน่าชังที่เอาไว้ร้องเล่นตอนเข้าค่ายอย่าง Baby Shark ที่โด่งดังขึ้นมาในโลกโซเชียลฯ จากการนำมาทำใหม่ในสไตล์แดนซ์ของบริษัทเพื่อการเรียนรู้เด็กจากเกาหลีใต้ Pinkfong เมื่อปี 2016 เคยถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือ ‘ทรมาน’ คนฟังมาแล้ว ทั้งในปี 2019 ที่เจ้าหน้าที่รัฐในฟลอริดาที่เปิดเพลงนี้เสียงดังวนเวียนตลอดทั้งคืนเพื่อกลั่นแกล้งคนไร้บ้านแถวนั้นไม่ให้ได้นอนอย่างสงบสุขบนพื้นที่ของรัฐ หรือในปี 2020 ที่เจ้าหน้าที่เรือนจำโอคลาโฮมาใช้เพลงนี้เปิดวนไปมาด้วยเสียงที่ดังมากเป็นเวลานานเพื่อแกล้งทรมานนักโทษ จนพวกเขาถูกดำเนินคดีเนื่องจากเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

ดังนี้แล้ว ‘ดนตรี’ จึงไม่ได้เป็นเพียง ‘เครื่องมือปลอบประโลมใจอันแสนมักง่าย’ ที่เราใช้หลอกตัวเองและคนอื่นให้มองเห็นแต่ด้านที่สวยงามแค่ชั่วครู่ชั่วยาม จนลืมเหลียวแล ‘ความจริงอันโหดร้าย’ ในแง่มุมอื่นๆ บนโลกที่เราทุกคนยังคงต้องตระหนักและช่วยกันคิดหาทางแก้ไข

และดนตรีก็ยังสามารถกลายเป็น ‘อาวุธ’ ที่ทำให้ศิลปินและผู้ฟังเองต้อง ‘ดับดิ้น’ ใน ‘ความเป็นมนุษย์’ ได้ด้วยเช่นกัน หากเรายังไม่ตระหนักถึง ‘อานุภาพ’ ทั้งด้านดีและร้ายของสื่อศิลปะชนิดดังกล่าวให้รอบด้านกว่านี้


อ้างอิง: Film Club, Wikipedia (1, 2, 3, 4, 5)