บนเครื่องบิน เมื่อเร็วๆ นี้… ผู้โดยสารของ Japan Airlines ไม่ได้ยินคำประกาศที่ขึ้นต้นว่า “Ladies and Gentlemen” อีกต่อไป แต่ได้ยินคำว่า “Attention all passengers” แทน และพนักงานจะเรียกผู้โดยสารว่า “everyone”

การเปลี่ยนแปลงนี้มีผลเมื่อต้นเดือนตุลาคม ซึ่งฝ่ายบริหารออกมาบอกว่า “เพื่อสนับสนุนความเป็นกลางทางเพศ”

ก่อนหน้านี้… มีสองสายการบินที่ใช้แนวทางทำนองเดียวกันนี้ไปแล้ว นั่นคือ Air Canada และ EasyJet (สายการบินโลว์คอสต์ของอังกฤษ)

เหมือนจะดูดี…ที่สายการบินแห่งชาติอายุเกือบ 70 ปีแห่งญี่ปุ่น ให้ความสำคัญกับการใช้ภาษา แต่ในความเป็นจริง รายงานข่าวระบุว่า แทบจะไม่มีผลอะไรกับ “ความรู้สึก” ของผู้โดยสารเลย โดยเฉพาะผู้โดยสารชาวญี่ปุ่น

ในภาษาญี่ปุ่น การประกาศของ Japan Airlines ก่อนเปลี่ยนแปลง ก็ไม่ได้ใช้คำ Ladies and Gentlemen อยู่แล้ว และในความเป็นจริง ผู้โดยสารชาวญี่ปุ่นก็ไม่ได้สนใจประกาศที่เป็นภาษาอังกฤษ

ความรู้สึกที่ว่า สายการบินแห่งนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี น่าจะเกิดกับผู้โดยสารต่างชาติที่สนับสนุนประเด็น “ความเท่าเทียม” และยินดีกับสถานการณ์ใดๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลง และอาจส่งผลไปสู่การลดทอนการเลือกปฏิบัติ

อย่างที่ทราบกันอยู่… ในสังคมญี่ปุ่น การเลือกปฏิบัติระหว่างเพศเป็นเรื่องฝังรากลึก ผู้หญิงที่แต่งงานไป ต้องเลิกอาชีพของตน เป็นแม่บ้าน ดูแลครอบครัว สังคมเก่าแก่แห่งนี้มีผู้ชายเป็นผู้กุมอำนาจทางเศรษฐกิจ และก็ยังไม่มีทีท่าที่จะลดทอนบทบาท และหันมาสนับสนุนความเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง

การประกาศของ Japan Airlines มีเป้าหมายเพื่อ “แจ้งให้ทราบ” ว่า องค์กรแห่งนี้สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศที่ไม่ระบุความเป็นหญิง หรือความเป็นชายในการใช้ภาษาอีกต่อไป

...

นี่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่เปิดทางให้ความเท่าเทียมเกิดขึ้น

แต่ประเด็นใหญ่ของประเทศนี้ก็คือ รัฐบาลยังไม่มีทีท่าชัดเจนที่จะปรับปรุงกฎหมายเพื่อเปิดทางให้คู่รักเพศเดียวกันจดทะเบียนแต่งงานกันได้ จนเป็นเหตุให้มีการรวมตัวกันของคู่รักเพศเดียวกันนับสิบคู่ พวกเขาต้องการยื่นฟ้องต่อศาลในหลายๆ พื้นที่พร้อมๆ กันเมื่อปีที่แล้ว ด้วยหวังว่าการออกมาเรียกร้องผ่านกระบวนการศาลจะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการตื่นตัว และเกิดการเปลี่ยนแปลง

เพราะไม่มีกฎหมายมารองรับ คู่รักเพศเดียวกันที่จดทะเบียนในต่างประเทศ ไม่สามารถได้รับสิทธิ์และไม่ได้รับการยอมรับการเป็นคู่สมรสตีทะเบียนถ้ามาใช้ชีวิตในญี่ปุ่น เขาก็มีฐานะแค่ “เพื่อนกัน”

เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากอีกด้วยว่า ขบวนการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของที่นี่ ที่ผ่านมามีการรวมตัวและทำงานมานานแล้ว แต่กระนั้น การขยับไปอีกก้าว ก็ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมเพราะโครงสร้างอนุรักษ์นิยมของญี่ปุ่นนั้นไม่ธรรมดา

ในประเทศที่มีวัฒนธรรม ภาษา และธรรมเนียมปฏิบัติยาวนานเป็นรากเหง้าของการแต่งสร้างอัตลักษณ์อันยิ่งใหญ่ พวกเขากลับมองไม่เห็นความงามของความเท่าเทียมที่จะเกิดขึ้น

แม้ญี่ปุ่นจะก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี แต่ความคิดของคนยังติดอยู่กับกับดักของอดีต เราจึงเห็น “งานพูด” เราจะไม่เห็น “งานทำ” ที่ส่งผลเปลี่ยนแปลง และสามารถจับต้องได้ เราจึงเห็น “เรื่องรอง” มากกว่าเห็น “เรื่องหลัก” และไม่มี “wow effect”

รอลุ้นกันสุดๆ อย่างระทึกก็คือ รัฐบาลยังไม่ประกาศใช้กฎหมายใหม่ที่ป้องกันการเลือกปฏิบัติ เป็นกฎหมายชิ้นสำคัญที่บรรดานักเคลื่อนไหวทางการเมืองกำลังเรียกร้องกันอยู่ แรงกดดันอีกฟากฝั่งที่น่าจะส่งผลก็คือ การรับเป็นเจ้าภาพจัดงานโอลิมปิกของญี่ปุ่นที่เลื่อนออกไปเพราะโควิด และคณะกรรมการโอลิมปิกก็เน้นย้ำถึงนโยบายการไม่เลือกปฏิบัติ ผู้กุมอำนาจในญี่ปุ่นจึงต้องคิดหนัก

เรื่องนี้ จะต้องจับตามองต่อไปว่า นายกฯคนใหม่ของญี่ปุ่นจะเอาด้วยมั้ย?

ถ้าการเปลี่ยนแปลงด้านบริการครั้งนี้ของ Japan Airlines เปรียบเป็นผู้เข้าประกวดความงาม คะแนนที่ได้ ก็น่าจะอยู่ที่ 7 เต็ม 10 คือ สวย ฉลาด แต่ยังไม่มี Impact

@@@@@@@@@

...

เกี่ยวกับผู้เขียน : วิทยา แสงอรุณ เป็นคอลัมนิสต์ และอาจารย์มหาวิทยาลัยด้าน Media and Communications และเจ้าของเพจ เฟซบุ๊ก : Media Man NYC