วันสารทจีน หนึ่งในวันสำคัญของชาวจีน และชาวไทยเชื้อสายจีน เป็นประเพณีเก่าแก่ที่สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษจนมาถึงคนรุ่นอาม่า อากง อาเตี่ย และอาม๊า  เชื่อว่าคนไทยเชื้อสายจีน อาจจะเคยร่วมประเพณีของวันสารทจีนนี้มากันแล้ว แต่ทราบหรือไม่ว่าวันสารทจีนมีกุศโลบาย หรือเขากราบไหว้อะไรกัน แล้วแตกต่างกับวันตรุษจีนอย่างไรในเมื่อมีวิธีการไหว้ที่คล้ายกัน

ประเทศไทย มีวันสำคัญตามประเพณีของจีนอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นวันตรุษจีน วันสารทจีน วันไหว้พระจันทร์ วันเทศกาลไหว้บ๊ะจ่าง หรือแม้แต่วันเช็งเม้ง อันเนื่องมาจากในประเทศไทยมีคนไทยเชื้อสายจีนที่เข้ามาอาศัยอยู่อย่างมากมาย ทำให้ประเพณีเหล่านี้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในประเทศไทยอย่างยาวนาน

วันสารทจีนมาจากคนจีนที่อพยพมาอยู่ในประเทศไทย และนำประเพณีนี้เข้ามาด้วย โดยการไหว้สารทจีน เป็นการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับญาติ และบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว รวมถึงสัมภเวสี ซึ่งเป็นหลักแนวคิดของพระพุทธศาสนา ลัทธิเต๋า และลัทธิขงจื่อ ผสมผสานกับพระพุทธศาสนานิกายมหายาน

วันสารทจีน 2566 ปีนี้ ตรงกับวันพุธที่ 30 สิงหาคม 2566 และมีวันจ่ายตรงกับวันอังคารที่ 29 สิงหาคม 2566 โดยของไหว้ที่คนส่วนใหญ่นิยมเป็น เนื้อหมู เนื้อเป็ด เนื้อไก่ กุ้ง ปลา ผลไม้ ขนม และกระดาษไหว้เจ้า 

วันสารทจีน กับวันตรุษจีน ต่างกันอย่างไร

หลายคนอาจจะยังสงสัยว่าการไหว้เจ้าในวันสารทจีน และวันตรุษจีนแตกต่างกันอย่างไร ในเมื่อมีพิธีการไหว้ และของไหว้ มีลักษณะใกล้เคียงกัน ซึ่งคำตอบ คือ วันสาร์ทจีน และวันตรุษจีนทั้ง 2 ประเพณีนี้ มีความหมาย จุดประสงค์ และพิธีกรรมที่ต่างกัน

‘วันตรุษจีน’ เป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวจีน ที่มีการรวมตัวของครอบครัวเพื่อเฉลิมฉลอง มีกิจกรรมการไหว้เจ้า ซึ่งเป็นการสักการะบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเทพเจ้าของชาวจีน เพื่อขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทพเทวดา และผู้คุ้มครองบ้านเรือน ที่มาปกปักดูแลให้เจ้าบ้านอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข โดยอาหารไหว้เจ้านั้นจะเน้นเป็นอาหารมงคล และอาหารเจ เป็นหลัก ซึ่งจะมีลำดับพิธีการ และของไหว้ที่เยอะกว่า เพราะเป็นวันเฉลิมฉลอง มีลำดับการไหว้ดังนี้

...

  • ช่วงเช้า : ไหว้เจ้าที่ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในบ้าน
  • ช่วงสาย : ไหว้บรรพบุรุษในครอบครัว 
  • ช่วงบ่าย : ไหว้ทำทานแก่สัมภเวสี 
  • ช่วงค่ำ : ไหว้เทพเจ้าขอโชคลาภ ‘เทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ย’

‘วันสารทจีน’ เป็นการไหว้ผีบรรพบุรุษในตระกูล ที่เน้นไปในการระลึก นึกถึง คุณงามความดี และขอพร ขอโชค ถึงแม้จะมีพิธีการที่ใกล้เคียงกันตามหลักประเพณี โดยจะตัดพิธีการบางช่วงออก และพิธีการที่เรียบง่ายมากกว่า ส่วนอาหารไหว้นั้นจะเน้นเป็นอาหารที่บรรพบุรุษชื่นชอบเสียส่วนใหญ่ มีการเผากระดาษเงิน กระดาษทอง และชุดไหว้บรรพบุรุษ ที่เชื่อว่าสามารถส่งไปให้ถึงบรรพบุรุษได้ โดยจะมีลำดับการไหว้ดังนี้

  • ช่วงเช้า : ไหว้เจ้าที่ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในบ้าน
  • ช่วงสาย : ไหว้บรรพบุรุษ 
  • ช่วงบ่าย : ไหว้สัมภเวสี

ของไหว้ วันสารทจีน 2566

  • เนื้อสัตว์ : เนื้อสัตว์ที่นิยมให้ส่วนใหญ่จะเรียกว่า ซาแซ คือ เนื้อสัตว์ 3 อย่าง หรือจะเป็น โหงวแซ เนื้อสัตว์ 5 อย่าง ก็ได้เช่นกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความชอบของบรรพบุรุษ และความสะดวกของผู้ไหว้ อาหารส่วนใหญ่จะเป็นเช่น : ไก่ต้ม เป็ดพะโล้ ปลานึ่ง หมูสามชั้น อาหารทะเล และเมนูไข่ต่างๆ เป็นต้น
  • ผลไม้ : ผลไม้ที่ใช้จะนิยมเป็นผลไม้มงคล สามารถเลือกไหว้ได้ทั้ง  3  ชนิด หรือ 5 ชนิด ส่วนใหญ่จะเป็น ส้ม แอปเปิล กล้วย ลูกแก้วมังกร ชมพู่  องุ่น เป็นต้น
  • ขนม : ขนมส่วนใหญ่ที่นิยมไหว้ในวันสารทจีนจะใช้ ขนมเข่ง เป็นหลัก สามารถเติมขนมอื่นๆ เพิ่มได้ เช่น ขนมเทียน ขนมเปี๊ยะ ซาลาเปา ขนมกุยช่าย เป็นต้น

ของที่ขาดไม่ได้เลยจะเป็น กระดาษเงิน กระดาษทอง และชุดไหว้บรรพบุรุษ หรือที่เรียกว่า ภูเขาเงิน ภูเขาทอง ที่เป็นความเชื่อเกี่ยวกับการไหว้บรรพบุรุษ เพื่อส่งให้ดวงวิญญาณบรรพบุรุษไปสู่แดนสุขาวดี มีส่วนเพิ่มเติมที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติ และเสริมสิริมงคล คือ การส่งข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ให้แก่บรรพบุรุษเพื่ออำนวยความสะดวกสบายไปมากเท่าใด เราจะได้อานิสงส์นั้นกลับมาแก่ตัวเราด้วยเช่นกัน อีกทั้งยังเป็นการกระจายบุญกุศลต่างๆ นี้ ไปยังเหล่าสัมภเวสี วิญญาณไร้ญาติ ได้รับการอุทิศส่วนบุญนี้ไปด้วย