สารทจีน 2566 วันไหว้สารทจีน ตรงกับวันพุธที่ 30 สิงหาคม ส่วนวันจ่ายสารทจีนตรงกับวันอังคารที่ 29 สิงหาคม แต่ถ้าใครสะดวกจ่ายซื้อของเตรียมไว้ก่อนก็ไม่ถือว่าเป็นเรื่องเสียหาย วันสารทจีนถือเป็นวันสำคัญของชาวไทยเชื้อสายจีนในประเทศไทย เป็นการไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว คนจีนไหว้พระใหญ่ 8 ครั้ง วันสารทจีนถือเป็นครั้งที่ 5
ประวัติวันสารทจีน “วันประตูผีเปิด”
ที่มาของวันสารทจีนมีความเชื่อเกี่ยวกับการทำบุญอุทิศอาหารเซ่นไหว้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ตามปฏิทินจีนวันสารทจีนจะตรงกับวันที่ 15 ของเดือน 7 พิธีการเซ่นไหว้นี้จะจัดเป็น 3 ชุด ให้กับบรรพบุรุษ, เจ้าที่ และสัมภเวสี
คนจีนที่อพยพมาจากทางตอนใต้ของประเทศจีน เมื่อมาอยู่ในประเทศไทยก็นำประเพณีการไหว้เจ้ามาด้วย การไหว้สารทจีน และมีงานบุญเทกระจาด เพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับญาติที่ล่วงลับไปแล้ว รวมถึงสัมภเวสี เป็นแนวคิดของลัทธิเต๋า ลัทธิขงจื่อ ผสมผสานกับพระพุทธศาสนานิกายมหายาน อันจะพบเห็นศาลเจ้าจีนตามแหล่งชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนในจังหวัดต่างๆ
วันไหว้สารทจีน ภาษาจีนเรียกว่าเป็นประเพณีเดือนเจ็ด พิธีกรรมมีทั้งการไหว้บรรพบุรุษ และทำทานเทกระจาด จัดงานแห่เทพเจ้า ชาวจีนโบราณเชื่อว่าเดือนเจ็ดเป็นเดือนแห่งความโชคดี เริ่มต้นเทศกาลเก็บเกี่ยว เซ่นไหว้บรรพบุรุษเพื่อบอกกล่าวว่าตัวเองได้เริ่มเก็บพืชผล และเชื่อว่าประตูนรกเปิดให้ผีทั้งหลายออกมารับส่วนบุญส่วนกุศล สอดคล้องกับความเชื่อเรื่องนรก สวรรค์ ในตำนานของพระโมคคัลลานะลงไปเยี่ยมมารดาในนรกภูมิ
ตำนานของสารทจีนมีที่มาหลายตำนาน มีตำนานที่รู้จักกันมากที่สุด คือตำนานของ “มู่เหลียน” ที่บางตำราว่าคือพระโมคคัลลานะ เล่าว่าชายผู้นี้มีมารดาที่ไม่เชื่อเรื่องนรกสวรรค์ เมื่อถึงเทศกาลกินเจ แม่ของมู่เหลียนเชิญผู้ถือศีลมารับประทานอาหารที่บ้าน แต่แกล้งใส่น้ำมันหมูในอาหาร ทำให้การกระทำครั้งนี้เป็นกรรมที่ทำให้นางต้องตกนรกได้รับความทุกข์ทรมาน
มู่เหลียนต้องการรับโทษแทนมารดา แต่พระพุทธเจ้าโปรดว่า “กรรมใดใครก่อ ย่อมเป็นของผู้นั้น” และมอบคัมภีร์เรียกเซียนทั่วทุกสารทิศมาช่วยให้มารดาพ้นทุกข์ มู่เหลียนจึงต้องถวายอาหารแด่เหล่าเซียนทุกปี เพื่อตอบแทนที่มาช่วยเหลือ
บางตำนานเล่าว่า พระโมคคัลลานะเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสว่าต้องอาศัยหมู่พระสงฆ์บริสุทธิ์ที่รักษาศีลมาตลอด 1 พรรษา เป็นตัวช่วย จึงมีพระดำรัสว่า ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 ให้จัดสังฆทานลงในกระจาด ถวายแก่พระสงฆ์ จึงถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันต่อมาในหมู่ชาวจีนที่เชื่อเรื่องนรกสวรรค์
ชาวจีนเชื่อว่าเดือนเจ็ดเป็นเดือนที่ประตูนรกเปิดให้ผีออกมารับส่วนบุญส่วนกุศล จึงมีประเพณีที่เรียกว่า “ทิ้งกระจาด” ตามสมาคมและมูลนิธิต่างๆ จะเซ่นไหว้ญาติและบรรพบุรุษของตนเอง และเผื่อแผ่ไปยังผีไร้ญาติด้วย
แต่อีกนัยหนึ่ง คาดว่าสารทจีนเป็นเทศกาลที่เป็นกุศโลบายของชาวจีนสมัยโบราณที่ต้องการให้ลูกหลานแสดงความกตัญญู และมีความสามัคคีกันในเครือญาติ ด้วยการร่วมกันประกอบอาหารเพื่อเลี้ยงเซ่นวิญญาณบรรพบุรุษ เซ่นไหว้เทวดา และสัมภเวสี ตลอดจนสิ้นสุดการไหว้ด้วยการอุทิศข้าวของเครื่องใช้ เงิน ทอง ด้วยการเผากระดาษที่สร้างขึ้นมาเป็นตัวแทนของข้าวของเหล่านี้ เพื่อให้วิญญาณได้นำไปใช้ในยมโลก
ชาวจีนเรียกพิธีวันสารทจีนว่า “ชิกเหงวะปั่ว” เมื่อเข้าสู่ราชวงศ์ฮั่น มีอิทธิพลลัทธิเต๋าร่วมด้วย เรียกประเพณีนี้ว่า “ตงหง่วงโจ่ย” เมื่อพิธีกรรมทางศาสนาพุทธเข้ามามีอิทธพลในราชวงศ์ถัง เรียกพิธีนี้ว่า “อูหลั่งเซ้งหวย” ไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปกี่ยุคสมัย สิ่งที่ทำเหมือนกันคือการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ และวิญญาณผีไร้ญาติ
วันสารทจีน ไหว้อะไรบ้าง
อาหารและขนมที่ลูกหลานเลือกมาไหว้ในเทศกาลสารทจีนนี้ เลือกใช้วัตถุดิบที่ดีที่สุด อาหารคาวใช้สัตว์ที่ไหว้ได้ทั้งตัว เลือกตัวที่สมบูรณ์ที่สุด ผ่าเอาเครื่องในออก ความหมายของไหว้สารทจีน ได้แก่
1. ปลา หมายถึง ลูกหลานมีกินมีใช้
2. กุ้ง หมายถึง โชคลาภ
3. ไก่ หมายถึง ความก้าวหน้า
4. หมู หมายถึง มีกินมีใช้
5. เป็ด หมายถึง ความสมบูรณ์
วันสารทจีน ไหว้ภูเขาเงิน ภูเขาทองทำไม
ในวันสารทจีนจะเห็นคนจีนนำกระดาษไหว้เจ้ามาพับเป็นภูเขาเงิน ภูเขาทอง เคยสงสัยไหมว่าคนจีนไหว้ภูเขาเงินภูเขาทองในวันสารทจีนทำไม นั่นก็เพราะว่าเป็นความเชื่อเกี่ยวกับการไหว้บรรพบุรุษ เพื่อส่งให้ดวงวิญญาณบรรพบุรุษไปสู่แดนสุขาวดี
กระดาษทองจะพับเป็นรูปกลีบบัวทรงกรวยสูง ด้านบนเป็นรูปดอกบัวตูม กระดาษสีเหลืองพับเป็นกลีบบัว เป็นใบเบิกทาง มีการพิมพ์ตัวอักษรเพื่อเป็นบทสวดมนต์ให้วิญญาณไปสู่สุคติ ลูกหลานจะซื้อชุดทำบุญกับศาลเจ้าต่างๆ แล้วลงชื่อว่าใครเป็นผู้อุทิศ และอุทิศให้ใคร เงินทำบุญเหล่านี้ก็จะเป็นเงินบริจาคให้แก่ศาลเจ้าเพื่อไปใช้ประโยชน์ต่อไป เงินบริจาคร่วมซื้อภูเขาเงินภูเงินทองให้แก่วิญญาณไร้ญาติ ทางศาลเจ้าจะเผารวมกัน อุทิศให้วิญญาณเหล่านั้นด้วย
ช่วงวันสารทจีน ศาลเจ้าใหญ่ๆ ก็จะมีพิธีแห่ อัญเชิญเจ้าพ่อหลักเมืองและสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาให้ชาวบ้านสักการะ พิธีเทกระจาดบางจังหวัดก็จัดขึ้นหลายวัน มีพิธีสมโภช เป็นการแสดงถวายแก่เทพเจ้า
วันสารทจีน ทําอะไรบ้าง และมีข้อห้ามอะไรบ้าง
ขั้นตอนการไหว้สารทจีนนั้น ลูกหลานจะซื้ออาหาร ขนม และนัดหมายวันไหว้กันในวันที่อยู่กันพร้อมหน้า โดยช่วงเช้าจะจัดอาหารเป็น 3 ชุด ได้แก่ อาหารไหว้เจ้าที่, อาหารไหว้บรรพบุรุษและอาหารชุดไหว้สัมภเวสี ไหว้ตามลำดับ
ก่อนวันสารทจีน เรียกว่าวันจ่าย ลูกหลานก็จะแบ่งกันไปซื้ออาหารและของไหว้ที่ต้องใช้กับการไหว้บรรพบุรุษ เจ้าที่ และวิญญาณไร้ญาติ
ช่วงเช้า ตั้งโต๊ะอาหารไหว้เจ้าที่ และลูกสาวที่แต่งงานออกไปแล้วต้องกลับไปไหว้ที่บ้านเดิมของตน
ช่วงบ่าย เซ่นไหว้ผีไม่มีญาติ หรือที่เรียกว่า ไป๊ฮ้อเฮียตี๋ โดยจะวางอาหารไว้นอกบ้าน วางกระดาษเงินกระดาษทอง และจัดอาหารพิเศษที่เรียกว่า คอปึ่ง
โดยทั้งสองช่วงนั้นจัดไหว้พร้อมกันได้
ข้อห้ามที่ไม่ควรปฏิบัติในวันสารทจีน ได้แก่ ไม่ควรแต่งงานในเดือนนี้, ห้ามเดินทาง, ห้ามอยู่นอกบ้านในช่วงเวลากลางคืน, ห้ามซื้อขาย หรือย้ายบ้านในเดือนนี้, ห้ามเริ่มต้นงานก่อสร้าง, ไม่ควรดำเนินธุรกิจ เป็นต้น
ภาพ : เอกลักษณ์ ไม่น้อย
ที่มา :
1. ประเพณีทิ้งกระจาด : ความเชื่อของชาวไทยเชื้อสายจีน ในจังหวัดบุรีรัมย์ (วิภาดา ทองธรรมสิริ, ธนากร ทองธรรมสิริ.), วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 2563.,file:///Users/user/Downloads/lajournal,+%7B$userGroup%7D,+5.+%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B8%B2_final.pdf
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง