เจอใครก็บอกว่า วันเดือนปีผ่านไปไวมาก แป๊บๆก็จะหมดเดือนแรกของปีใหม่แล้ว รวมทั้ง สนามพระวิภาวดี วันนี้ ก็เป็นอาทิตย์สุดท้ายของเดือน

ตอนนี้คนไทยเชื้อสายจีน ก็เริ่มจ่าย ๒๗ ม.ค. เตรียมไหว้ ๒๘ ม.ค. ซึ่งบ้านที่เคร่งประเพณีจะเริ่มจากไหว้เจ้าที่เจ้าทาง ตี่จู้เอี๊ยะ ไหว้บรรพบุรุษ ไหว้ผีไร้ญาติ และไหว้เทพเจ้าโชคลาภ ไฉ่ซิงเอี๊ย และ ๒๙ ม.ค. เป็นวันเที่ยว คือวันตรุษจีน

ก่อนไหว้เจ้าก็ไหว้พระกันก่อน องค์แรกคือ พระสมเด็จ พิมพ์ฐานแซม วัดระฆังฯ กรุงเทพฯ องค์นี้เป็นพระแท้ระดับ “องค์ครู” ดูง่ายทั้งฟอร์มทรง เอกลักษณ์ของพิมพ์ บนกว้าง ล่างแคบ พิมพ์พระที่ติดชัดลึกทั่วองค์ เนื้อเข้มข้น “จัด” ด้วยมวลสารครบสูตร เนื้อเคลือบรัก บอกอายุความเก่าถึงยุค มีภาพคู่วงการมานาน ส่วนองค์จริงอยู่ใน “รังใหญ่” ของ “โป๊ยเสี่ย” ไชยทัศน์ เตชะไพบูลย์ ซึ่งยังหวงไม่ยอมให้ธุดงค์ไปปักหมุดที่ไหนเลย

พระสมเด็จ พิมพ์ฐานแซม สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆังฯ ของนายไชยทัศน์ เตชะไพบูลย์.
พระสมเด็จ พิมพ์ฐานแซม สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆังฯ ของนายไชยทัศน์ เตชะไพบูลย์.

...

องค์ที่สองเป็น พระกริ่งสวนเต่า ทรงสังข์สะดุ้งกลับ พระเครื่องชั้นสูง ซึ่ง ร.๕ ทรงเทหล่อ สร้างขึ้นในพระบรมมหาราชวัง บริเวณสวนเต่า ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ครั้งเสด็จฯกลับจากประพาสยุโรป หลังปี พ.ศ.๒๔๕๑ เพื่อพระราชทานพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชบริพาร

โดย สมเด็จพระสังฆราช (แพ) ครั้งดำรงสมณศักดิ์ พระธรรมโกษาจารย์ เป็นเจ้าพิธี ลงแผ่นโลหะ ๑๐๘ นะ ป ถ มัง ๑๔ หลอมรวมเป็นเนื้อ เทหล่อเป็นองค์พระนั่ง พระหัตถ์อุ้มบริขาร ที่มีพิมพ์แยกเป็นทรงสังข์ จักร ดอกบัว บาตรน้ำมนต์ ฯลฯ ไม่เหมือนกัน ซึ่งบอกได้ว่า ช่างปั้นหุ่นทีละองค์ๆ พอหล่อเป็นองค์พระช่างก็แต่งทีละองค์ ฝีมือต่างๆกัน--อย่างองค์นี้ ของ เสี่ยเบียร์ นครปฐม สร้างพิเศษ พบน้อย สภาพงามเนี้ยบสมบูรณ์เดิมๆ พิมพ์ชัด เนื้อจัดแบบนี้ราคาอยู่ที่ความพอใจเจ้าของ

 พระกริ่งสวนเต่า ทรงสังข์สะดุ้งกลับ ร.๕ ของเบียร์ นครปฐม.
พระกริ่งสวนเต่า ทรงสังข์สะดุ้งกลับ ร.๕ ของเบียร์ นครปฐม.

สำหรับ สวนเต่า สถานที่ตำนานการสร้าง พระกริ่งสวนเต่า เดิมอยู่หลังพระที่นั่งศิวาลัย หรือสวนศิวาลัย ในพระบรมมหาราชวัง ให้ชาววังไปนั่งพักผ่อน ในสระมีปลา เต่า ตะพาบน้ำ ชาววังเรียกว่า บ่อเต่า ในบริเวณสวนเต่ามีพลับพลาเล็กที่ประทับ ร.๕ ไปพักผ่อน ดูฝ่ายใน เจ้าจอม เล่นน้ำ พายเรือ และเป็นที่ที่ หล่อพระชัยองค์เล็ก ในบริเวณสวนเต่า เพื่อพระราชทานพระเจ้าลูกเธอที่จะเสด็จไปเรียนต่างประเทศ

ต่อมา เจ้านายฝ่ายในย้ายออกไปประทับที่สวนดุสิต และสวนสุนันทา ที่กว้างขวางกว่า ทำให้ สวนเต่า เป็นสวนร้าง และภายหลังถูกถมดิน กลายเป็นสวนในพระที่นั่งบรมพิมาน

ต่อไปเป็น เหรียญรุ่นแรก พ.ศ. ๒๔๖๐ พิมพ์แหวกม่าน หลังตัวหนังสือ เนื้อเงิน หลวงพ่อวัด (บ้านแหลม) เพชรสมุทรวรวิหาร อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม ๑ ใน พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง ที่มีตำนานว่า เป็นพระพุทธรูปลอยน้ำมาตามลำน้ำแม่กลอง มาวนอยู่หน้าท่าน้ำวัด (ศรีจำปา) เพชรสมุทรวรวิหาร เจ้าอาวาสกับชาวบ้านจึงทำพิธีอัญเชิญนำขึ้นประดิษฐานเป็นองค์พระประธาน ชาวบ้านนิยมเรียก “หลวงพ่อวัดบ้านแหลม”

เหรียญรุ่นแรก พ.ศ.๒๔๖๐ หลวงพ่อวัดบ้านแหลม ของอิทธิ ชวลิตธำรง.
เหรียญรุ่นแรก พ.ศ.๒๔๖๐ หลวงพ่อวัดบ้านแหลม ของอิทธิ ชวลิตธำรง.

...

เลื่องลือกันว่ามีอานุภาพความศักดิ์สิทธิ์บันดาลให้ได้ทุกสิ่งสมปรารถนา จึงมีการจัดสร้างวัตถุมงคลเหรียญรูปเหมือน ในวาระสำคัญหลายรุ่น ที่นิยมสูงสุดเป็น เหรียญปั๊มรุ่นแรก แบบเหรียญนี้ ของ เสี่ยอิทธิ ชวลิตธำรง ที่มีสร้างเนื้อโลหะ ๓ ชนิด เนื้อเงิน เนื้อสัมฤทธิ์ เนื้อทองฝาบาตร มี ๓ พิมพ์ คือ ๑.พิมพ์แหวกม่าน ทรงกลมรูปไข่ หลังตัวหนังสือ ๒.พิมพ์รูปไข่ หลังยันต์ ๓.พิมพ์ใบเสมา หลังตัวหนังสือ--เป็น ๑ ในเบญจภาคี เหรียญพระพุทธ หายากสุดๆ โดยเฉพาะสภาพงามสมบูรณ์เดิม แชมป์เหนือแชมป์ แบบนี้หลายล้านแน่

อีกสำนักเป็น เหรียญรุ่นแรก พระครูภาวนาภิมณฑ์ (หลวงปู่สุข ธมฺมโชโต) วัดโพธิ์ทรายทอง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ พระเกจิฯผู้มีชื่อเสียงเป็น “พระแท้” วิชาพุทธาคมเข้มขลัง ได้รับยกย่องเป็น “อริยสงฆ์แห่งอีสานใต้”

ท่านเกิดที่บ้านละหานทราย บุรีรัมย์ บวชเณรเมื่ออายุ ๑๗ ที่วัดโพธิ์ทรายทอง เรียนหนังสือขอม อายุ ๒๑ ปี อุปสมบท ได้รับนามฉายา “ธมฺมโชโต” เรียนพระธรรมวินัยภาษาขอมต่อจนแตกฉาน จึงออกธุดงค์จากอีสานข้ามไปฝั่งเขมร ปลีกวิเวกฝึกสมาธิ หาอาจารย์เรียนวิชาวิปัสสนากรรมฐาน ได้เป็นศิษย์พระอาจารย์อินทร์ ชาวเขมรผู้สร้างวัดสำโรง และพระอาจารย์หมั่น วัดชุมพร ใน พ.ศ.๒๔๘๒ ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ทรายทอง และมรณภาพเมื่ออายุ ๙๕ ปี

เหรียญรูปเหมือนนี้สร้างเป็นรุ่นแรกเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๖ เป็นเหรียญปั๊มเนื้อทองแดง ด้านหน้าเป็นองค์จำลองนั่งสมาธิเต็มองค์ มีอักขระ นะ มะ อะ อุ ล้อม ด้านล่างมีอักษรบอกนาม ด้านหลังเป็นรูปยันต์ ๓ ใบพัด วัดโพธิ์ทรายทอง--ในภาพเป็น เนื้อทองแดง ของ เสี่ยกาย ละหานทราย สภาพแบบนี้ ปัจจุบันราคาหลักแสน

เหรียญรุ่นแรก พ.ศ.๒๕๐๖ หลวงปู่สุข วัดโพธิ์ทรายทอง ของกาย ละหานทราย.
เหรียญรุ่นแรก พ.ศ.๒๕๐๖ หลวงปู่สุข วัดโพธิ์ทรายทอง ของกาย ละหานทราย.

...

อีกรายการก็ถิ่นเดียวกัน เป็น หนุมานหล่อโบราณ พิมพ์หน้าหนังสือนูน พ.ศ.๒๕๑๗ เนื้อสัมฤทธิ์ หลวงปู่เม้า วัดสี่เหลี่ยม บุรีรัมย์ อีกหนึ่งพระเกจิฯที่ชาวบุรีรัมย์นับถือมาก

ท่านสร้างพระเครื่อง ของขลัง ได้มีอานุภาพความศักดิ์สิทธิ์เป็นประสบการณ์ ทั้งแคล้วคลาด คงกระพัน เมตตา มหาลาภ เด่นสุดเป็น รูปเหมือนหนุมาน สร้างหล่อลอยองค์แบบโบราณ รุ่นแรก ปี ๒๕๑๗ ด้วยเนื้อสัมฤทธิ์ก้นถ้วย อย่างองค์นี้ ของ เสี่ยคงศักดิ์ ทองมา ได้ชื่อเป็นเครื่องรางยอดนิยมแดนอีสาน ราคาว่ากันหลักแสน ถึงล้าน

อีกสำนักเครื่องรางคือ ปลัดขิก งาแกะ (จิ๋ว) อ.เฮง  ไพรวัลย์ จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ยกย่องเป็น “ฆราวาสจอมขมังเวท”

ปลัดขิก งาแกะ อ.เฮง ไพรวัลย์ ของอิทธิ ชวลิตธำรง.
ปลัดขิก งาแกะ อ.เฮง ไพรวัลย์ ของอิทธิ ชวลิตธำรง.

ท่านเกิดในครอบครัวเศรษฐีของเมืองกรุงศรีอยุธยา ไปเรียนที่ปีนัง แต่ไม่สำเร็จ เพราะใจชอบวิชาอาคม จึงเรียนกับอาจารย์อาคมทางใต้ พอกลับเมืองกรุงเก่าก็ไปเรียนวิชาคัมภีร์รัตนมาลา ตำรับวัดประดู่โรงธรรม และบวชเรียนวิชาอยู่กับ หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติ พอสึกก็เป็นอาจารย์ฆราวาส สักเสกเลขยันต์ มีชื่อเสียงมาก

...

ยุคกบฏบวรเดช มีศิษย์มากมาย ที่เป็นเพื่อนเรียนระดับเจ้าเมืองก็หลายคน ท่านสร้างวัตถุมงคลเครื่องรางของขลังมากมาย ที่มีชื่อเสียงมากเป็น เหรียญปั๊มพระพรหม ยกหน้าเนื้อทองคำ ตอกตาไก่ยึดติดแผ่นหลัง มีลายมือจารอักขระรอบ กับสัญลักษณ์ “นะทรงธรณี”

มีทั้งรูปทรงสี่เหลี่ยม ทรงกลม รูปไข่ สิงห์งาแกะ และปลัดขิกงาแกะ ลายมือจารอักขระเลขยันต์หลายขนาด ชิ้นนี้ เป็นของ เดอะ เพชร–อิทธิ ชวลิตธำรง เป็น “ขิกจิ๋ว” เล็กสุดเท่าที่มีปรากฏ ที่สำคัญงามสมบูรณ์ด้วยรูปทรงเลขยันต์ครบสูตร เนื้องา มีแสงเงาบอกอายุความเก่าธรรมชาติ ดูดีมีเมตตา และขนาดน่ารัก แต่เข้มขลังด้วยอักขระเลขยันต์ แบบนี้มีหนึ่งเดียวในยุทธจักร

หนุมานหล่อโบราณ พ.ศ.๒๕๑๗ พิมพ์หน้าหนังสือนูน เนื้อสัมฤทธิ์ หลวงปู่เม้า วัดสี่เหลี่ยม ของคงศักดิ์ ทองมา.
หนุมานหล่อโบราณ พ.ศ.๒๕๑๗ พิมพ์หน้าหนังสือนูน เนื้อสัมฤทธิ์ หลวงปู่เม้า วัดสี่เหลี่ยม ของคงศักดิ์ ทองมา.

ลาไปรอรับอั่งเปา ด้วยเรื่องปิดท้ายของ เสี่ยรณกรณ์ ข้าราชการชั้นรองปลัด ซึ่งไปยินดีกับเพื่อน ที่ได้เลื่อนตำแหน่ง โดยห้อยพระเครื่อง พระปิลันทน์ปรกโพธิ์ พระวัดพลับ สมาธิเล็ก หลวงปู่ภู พิมพ์อุ้มบาตร ตั้งใจไปให้เพื่อนเลือกเป็นของขวัญ ๑ องค์

พอแขกคนอื่นกลับแกก็ถอดสร้อยพระจากคอส่งให้เพื่อน บอกให้เลือกเป็นของขวัญองค์นึง แต่เพื่อนซึ่งดูผ่านตาแว้บเดียวก็ส่งคืน บอกรับไม่ได้ เพราะแต่ละองค์เกิน ๓ พันแน่นอน

เสี่ยรณกรณ์ พยักหน้า ก็รู้อยู่แต่ไม่เป็นไร เอาว่าเราขายให้องค์ละ ๓ พัน ให้เมียนายเป็นพยานได้

เพื่อนยิ้มแป้น กำสร้อยพระแน่น หันไปบอกภรรยาเอาเงินมาจ่ายเลย ๓ องค์ ๙,๐๐๐ แต่ให้ไปเลย ๑๐,๐๐๐ ไม่ต้องทอน--เจ้าของพระเลยเหลือแต่สร้อยทองคำ เจ้าค่ะ อามิตตพุทธ.

สีกาอ่าง

คลิกอ่านคอลัมน์ "สนามพระ" เพิ่มเติม